อธิบาย นโยบายซื้อหนี้ ออกจากธนาคาร ผ่านเคสการยืมเงินเพื่อน

อธิบาย นโยบายซื้อหนี้ ออกจากธนาคาร ผ่านเคสการยืมเงินเพื่อน

21 มี.ค. 2025
ประเด็นร้อนทางเศรษฐกิจสัปดาห์นี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องที่อดีตนายกฯ คุณทักษิณ ชินวัตร พูดถึงแนวคิด ที่จะให้เอกชนรับซื้อหนี้ของประชาชนทั้งหมด ออกจากธนาคาร
แล้วให้ประชาชนค่อย ๆ ผ่อนหนี้ ไม่ต้องชำระหนี้เต็มจำนวนก็ได้ แล้วลบประวัติออกจากเครดิตบูโรทั้งหมด ให้ประชาชนเริ่มต้นชีวิตใหม่
หลายคนน่าจะมีคำถามตามมามากมายในหัวว่า การทำแบบนี้ เอกชนที่มารับซื้อหนี้ได้ประโยชน์อะไร ? แล้วนโยบายนี้จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้มากแค่ไหน ?
MONEY LAB จะขออธิบายนโยบายรับซื้อหนี้ ผ่านเคสการยืมเงินเพื่อน ให้ทุกคนเข้าใจง่าย ๆ กัน
เราจะเริ่มต้นกันที่เรื่องราวของคุณบิต ที่พ่อแม่ของเขาป่วยหนัก และต้องการยืมเงินจากเพื่อนของเขาที่ชื่อว่าคุณแบงค์ ประมาณ 500,000 บาท เพื่อมาใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล
เมื่อเวลาผ่านไป 3 ปี คุณแบงค์ได้พยายามติดตามทวงหนี้กับคุณบิตมาตลอด แต่คุณบิตก็หาวิธีการบ่ายเบี่ยง ไม่ยอมคืนเงินคุณแบงค์ได้ตลอด
ฝ่ายคุณแบงค์ ก็รู้สึกเหนื่อยล้ากับการทวงหนี้ แต่ก็ไม่อยากสูญเสียเงิน 500,000 บาทไป แบบไม่ได้อะไรกลับมาเลย
จึงมีความคิดที่จะขายหนี้ให้กับเพื่อนอีกคนที่ชื่อว่า คุณแอม แต่คุณแอม ก็จะต้องรับหน้าที่ไปทวงหนี้จากคุณบิต แทนคุณแบงค์
เพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่จะถูกผิดนัดชำระหนี้ คุณแอมจึงเจรจาขอซื้อหนี้ต่อจากคุณแบงค์ในราคา 50% ของมูลหนี้เดิม
เมื่อคุณแบงค์ตกลง คุณแอมเลยจ่ายเงินจำนวน 250,000 บาท ให้คุณแบงค์ เพื่อแลกกับหนี้ของคุณบิต
ซึ่งหากคุณแอม ไปทวงหนี้คุณบิตให้จ่ายเงินเต็มจำนวนทั้ง 500,000 บาท คุณบิตก็คงไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้ แล้วคุณแอมก็คงไม่สามารถเก็บหนี้ได้เหมือนกับคุณแบงค์
อย่างไรก็ตามคุณแอม มีต้นทุนสำหรับการซื้อหนี้ของคุณบิตอยู่ที่ 250,000 บาท
ดังนั้นคุณแอม จึงเข้าเจรจาลดหนี้กับคุณบิต โดยยอมลดหนี้ให้คุณบิตจ่ายเงินเพียงแค่ 300,000 บาท จากเดิม 500,000 บาท
แล้วยืดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ให้นานขึ้นแทน ทำให้ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินทั้งก้อนในครั้งเดียว
เมื่อคุณบิตเห็นว่าตัวเองทั้งได้จ่ายหนี้น้อยลง และมีเวลาผ่อนชำระหนี้สินได้ยาวนานขึ้น คุณบิตจึงตกลงทยอยชำระหนี้กับคุณแอมได้สำเร็จ
สรุปสุดท้ายแล้ว คุณแบงค์ผู้เป็นเจ้าหนี้รายแรกก็ได้ประโยชน์ จากการได้รับเงินสดกลับมา 250,000 บาท จากการตัดขายหนี้ต่อให้คุณแอม
จากเดิมที่เรียกเก็บหนี้ไม่ได้เลย และต้องไปเหนื่อยกับการทวงหนี้ แต่ตอนนี้ได้รับเงินสดกลับคืนมาแล้วครึ่งหนึ่ง 
คุณบิตผู้เป็นลูกหนี้ ก็ได้ประโยชน์เพราะจ่ายหนี้น้อยลง จากเดิมที่ต้องจ่าย 500,000 บาท ก็เหลือแค่ 300,000 บาท
ส่วนคุณแอมผู้ซื้อหนี้ต่อ ก็ได้ประโยชน์เพราะได้กำไรจากการทวงหนี้ เพราะถ้าคุณแอม สามารถทำให้คุณบิตจ่ายหนี้ได้ครบจำนวน 300,000 บาท ที่ตกลงกันไว้ 
จากต้นทุนของหนี้ที่ซื้อมาอยู่ที่ 250,000 บาท คุณแอมจะได้กำไรถึง 20% เลยทีเดียว
กลับมาที่นโยบายการซื้อหนี้ ที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันอยู่ตอนนี้
ประชาชนที่กำลังมีหนี้ครัวเรือนท่วมตัวอยู่ตอนนี้ ก็เปรียบเสมือนคุณบิต ที่ไปยืมเงินคุณแบงค์
ผู้ที่เปรียบได้เหมือนกับ ธนาคารพาณิชย์ที่ตอนนี้กำลังอมหนี้เสียอยู่ และตามทวงหนี้ไม่ได้
ส่วนคนที่มารับซื้อหนี้ต่อจากธนาคารพาณิชย์ ก็คือธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (AMC) ในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งเปรียบเสมือนคุณแอมที่มารับซื้อหนี้ต่อจากคุณแบงค์ ในเรื่องราวของเรานั่นเอง
โดยนโยบายนี้ เคยถูกนำมาใช้ในไทยมาแล้ว หลังเจอวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540
ในตอนนั้นรัฐบาลของคุณทักษิณ มีการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย หรือ บสท. เพื่อมารับซื้อหนี้ของธุรกิจเอกชน ที่ค้างเป็นหนี้เสียอยู่ในธนาคารพาณิชย์ของไทย
เป้าหมายของการทำนโยบายนี้ในสมัยนั้น ก็คือ การรักษาธุรกิจให้อยู่รอด ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ และเป็นการดึงหนี้เสียออกจากระบบธนาคารพาณิชย์
ซึ่งก็ต้องบอกว่า บสท. ทำภารกิจปรับโครงสร้างหนี้ได้สำเร็จ สะท้อนจากอัตราการรับชำระหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 48.9% ของมูลค่าหนี้ทั้งหมด มากกว่าต้นทุนที่ บสท. รับโอนหนี้จากธนาคารที่ 34.3% ของมูลค่าหนี้ทั้งหมด
ปัจจุบันบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ถูกยุบเลิกกิจการไปแล้ว แต่บริษัทที่ทำธุรกิจบริหารสินทรัพย์อื่น ๆ ก็ยังคงอยู่ในปัจจุบัน
อย่างในตลาดหุ้นไทยเอง ก็มีอยู่หลายบริษัท เช่น
- บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM
- บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT
- บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของธุรกิจ AMC ก็คือ การที่ไม่สามารถเก็บหนี้สินได้ตามที่คาดหวังไว้ ซึ่งจะส่งผลให้ขาดทุนได้ แม้ธุรกิจประเภทนี้มักจะรับซื้อหนี้ในราคาต่ำอยู่แล้วก็ตาม
อีกทั้งต้นทุนทางการเงิน ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ธุรกิจเหล่านี้ให้ความสำคัญ เพราะบริษัทเหล่านี้มักจะออกหุ้นกู้ เพื่อระดมทุนในการซื้อหนี้มาบริหาร
ทำให้ถ้าหากอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับสูง และสภาพเศรษฐกิจกำลังอ่อนแอ บริษัทเหล่านี้ก็อาจลังเลที่จะเข้ามารับซื้อหนี้ต่อจากธนาคาร
และการแก้ปัญหาด้วยนโยบายรับซื้อหนี้แบบนี้ ก็อาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะหากเรายอมปรับโครงสร้างหนี้ ให้ลูกหนี้จ่ายเงินต้นน้อยลง ก็อาจจะทำให้ลูกหนี้เสียวินัยทางการเงินได้
เรื่องนี้ก็คงไม่ต่างอะไรจากเหตุการณ์สมมติที่ยกตัวอย่างมาตอนแรก ว่าถ้าหากคุณบิตได้รับการผ่อนปรนให้จ่ายหนี้น้อยลงเรื่อย ๆ แถมประวัติการก่อหนี้เสียก็ถูกลบออกจากระบบ
คุณบิตผู้ไม่จำเป็นต้องกังวลอะไรแล้ว ก็สามารถยืมเงินมาจากคุณแบงค์ได้ตลอด และบ่ายเบี่ยงไม่จ่ายหนี้เหมือนเคย 
จากนั้นก็ปล่อยให้คุณแบงค์เลือกที่จะเจ็บแต่จบ ด้วยการยอมขายหนี้เสียในราคาขาดทุนไปเรื่อย ๆ
ส่วนคนที่จะได้รับประโยชน์จากเหตุการณ์วนลูปแบบนี้ ก็คงมีแต่ลูกหนี้อย่างคุณบิต ที่ได้ชดใช้หนี้น้อยลง 
และคุณแอม ที่ทำกำไรได้จากการรับซื้อหนี้ในราคาต่ำ ๆ มาจากคุณแบงค์ ผู้ปล่อยกู้ตัวจริง..
#เศรษฐกิจ
#เศรษฐศาสตร์
#ซื้อหนี้
References
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.
เราได้ปรับปรุงนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อปกป้องข้อมูลที่สำคัญของคุณ โปรดอ่านและทำความเข้าใจนโยบายความเป็นส่วนตัวของเราเพิ่มเติม หากท่านใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเรา