อธิบาย Family Trust เครื่องมือบริหารมรดกกงสี ที่เอาไว้ป้องกัน ลูกหลานทะเลาะกัน

อธิบาย Family Trust เครื่องมือบริหารมรดกกงสี ที่เอาไว้ป้องกัน ลูกหลานทะเลาะกัน

25 ก.ค. 2024
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีซีรีส์ยอดฮิตใน Netflix ชื่อ “สืบสันดาน” กำลังเป็นที่นิยมทั้งคนไทย และต่างประเทศ
ด้วยเรื่องราวของ เจ้าสัวธุรกิจเพชร ที่เสียชีวิตไปอย่างกะทันหัน ทำให้เหล่าทายาท รวมถึงคนนอกตระกูล ต่างหาวิธีชิงมรดกมาเป็นของตัวเอง
แต่ถ้าเจ้าสัวธุรกิจเพชรในเรื่อง “สืบสันดาน” ไม่อยากให้ลูกหลานต้องมาทะเลาะกัน ด้วยเรื่องการแบ่งมรดกไม่ลงตัว จะต้องทำอย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
คำว่า “Trust” แปลว่า ความไว้ใจ และเป็นสิ่งที่สมาชิกทุกคนในทุกครอบครัวควรจะมีด้วย
แต่คำคำนี้ ยังมีอีกความหมายในโลกของการเงิน ซึ่งหมายถึง กองทรัพย์สินที่เจ้าของทรัพย์สิน มอบให้อีกคนหนึ่งบริหารจัดการทรัพย์สินให้
ทว่ากอง Trust จะไม่ถูกจัดว่าเป็นกองทุนรวม แม้ตามนิยามแล้วดูจะไม่ต่างกัน 
เพราะเราสามารถใส่ทรัพย์สินอื่น ๆ นอกจากเงินสด หรือหุ้น เข้ามาอยู่ในกอง Trust ได้ เช่น ที่ดิน หรือของสะสม
นอกจากนี้ผู้บริหารกอง Trust ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้จัดการกองทุน ที่อยู่ในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) อีกด้วย 
แต่สามารถตั้งผู้เชี่ยวชาญในทรัพย์สินนั้น ๆ เข้ามาช่วยบริหารได้
ตัวอย่างกอง Trust ที่คนไทยน่าจะคุ้นเคยกันดีก็คือ Real Estate Investment Trust หรือที่คนไทยคุ้นหูกันในชื่อกอง REIT 
ซึ่งผู้บริหารกอง REIT ส่วนมากแล้วก็จะเป็นบริษัท ผู้เชี่ยวชาญในการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ที่กอง REIT นั้น ๆ ดูแลอยู่
ซึ่ง Family Trust ก็เป็นกอง Trust ในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีจุดประสงค์ในการรักษาความมั่งคั่งของตระกูลผู้ก่อตั้งกอง Trust เอง
โดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับ Family Trust จะมี 3 ฝ่าย คือ
1. ผู้ก่อตั้ง Trust (Grantor) เป็นเจ้าของทรัพย์สิน ที่อยากส่งต่อทรัพย์สินให้กับลูกหลาน
2. ผู้ดูแล Trust (Trustee) เป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สิน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ก่อตั้ง
3. ผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiaries) ส่วนมากจะเป็นทายาทของผู้ก่อตั้ง ที่มีสิทธิได้รับประโยชน์จากกอง Trust 
ผู้ก่อตั้ง Family Trust จะสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ ในการส่งมอบทรัพย์สินให้ทายาทได้อย่างอิสระ ยกตัวอย่างเช่น
หากเจ้าสัวในเรื่องสืบสันดาน ก่อนตายมีการจัดตั้ง Family Trust ไว้ เขาสามารถกำหนดได้เลยว่าลูกหลานของเขาแต่ละคน จะได้รับทรัพย์สินอะไรบ้าง 
นอกจากนี้ยังสามารถกำหนดเงื่อนไขพิเศษได้อีกด้วย เช่น สามารถกำหนดว่า ทายาทที่จะได้รับหุ้นบริษัทในสัดส่วนที่เยอะที่สุด ต้องผ่านเงื่อนไข หรือมีคุณสมบัติอะไรบ้าง เพื่อให้ได้ผู้สืบทอดกิจการที่เหมาะสมที่สุด
ซึ่งการนำทรัพย์สินเข้ากอง Trust ยังสามารถป้องกันไม่ให้ลูกหลานขายทรัพย์สินออกไปจนหมดได้
ด้วยการกำหนดว่า ทายาท มีสิทธิรับผลประโยชน์จากดอกผลจากทรัพย์สินในกอง Trust เช่น รายได้ค่าเช่า และเงินปันผล เท่านั้น
แต่ไม่มีสิทธิในการขายทรัพย์สินในกอง Trust และปล่อยให้ผู้ดูแลกอง Trust ดูแลทรัพย์สินนั้นต่อไปเรื่อย ๆ ก็ได้เช่นกัน
ความพิเศษของ Family Trust อีกอย่างก็คือ ทรัพย์สินทั้งหมดในกอง Trust นี้ จะถูกแยกออกมาจากทรัพย์สินส่วนตัวทันที
ทำให้ปลอดภัยจากการถูกเจ้าหนี้ตามมายึด หากธุรกิจครอบครัวเกิดปัญหาล้มละลายขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับการทำ Family Trust ดังนั้นเราก็ต้องไปทำ Family Trust ที่ต่างประเทศแทน
ซึ่งคนที่จะมาช่วยเราจัดตั้งกอง Trust ในต่างประเทศ ก็จะมีตั้งแต่สถาบันการเงินที่มีบริการ Wealth Management ไปจนถึงสำนักงานกฎหมาย
แต่การมี Family Trust เพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอต่อการส่งต่อมรดกให้ราบรื่น หรือหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในครอบครัวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
เพราะความขัดแย้ง เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากในสังคมมนุษย์ ไม่เว้นแม้แต่คนในครอบครัวด้วยกันเอง
สิ่งที่จำเป็นต้องทำอีกอย่าง คือ การให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวร่วมกันสร้าง “ธรรมนูญครอบครัว” ขึ้นมา
ธรรมนูญครอบครัว เป็นการสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว เพื่อกำหนดบทบาท หน้าที่ และสิทธิประโยชน์ ที่สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวจะได้รับจากธุรกิจของครอบครัว
ตัวอย่างในชีวิตจริง ก็เช่นตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่สร้างธรรมนูญครอบครัวมาตั้งแต่ปี 1997 และใช้เวลานานถึง 4 ปีกว่าจะเสร็จ
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็คงเห็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงแล้วว่า การส่งต่อมรดกให้ราบรื่น ไม่ให้เกิดปัญหาลูกหลานทะเลาะกันเพื่อแย่งมรดก ต้องทำอย่างไร
ซึ่งเครื่องมืออย่าง Family Trust หรือ ธรรมนูญครอบครัว เป็นเพียงเครื่องมือลดความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งในครอบครัวเท่านั้น
เครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัวจริง ๆ ก็คือ Trust ที่แปลว่า ความไว้ใจระหว่างกันในครอบครัว
ซึ่งหากใครดูซีรีส์เรื่องนี้จบแล้ว ก็น่าจะเดาได้ไม่ยากว่า ตระกูลในเรื่องนั้น นอกจากจะขาด Trust ที่หมายถึง เครื่องมือในการบริหารมรดกแล้ว 
ยังขาด Trust ที่หมายถึง ความไว้ใจ ซึ่งสมาชิกในครอบครัวควรจะมีให้แก่กันด้วย..
References
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.