อธิบาย Sub-Area License กลยุทธ์ที่ทำให้ เราเห็นร้าน 7-Eleven อยู่ทั่วไทย

อธิบาย Sub-Area License กลยุทธ์ที่ทำให้ เราเห็นร้าน 7-Eleven อยู่ทั่วไทย

29 ก.ค. 2024
รู้ไหมว่าบริษัท CPALL ใช้เวลาเพียง 30 ปี ขยายสาขา 7-Eleven ไปทั่วประเทศ
โดยในปัจจุบันนี้ ร้าน 7-Eleven ทั่วไทย มีอยู่ถึง 14,000 สาขา ซึ่งถ้าคิดง่าย ๆ ก็แปลว่า CPALL เปิดร้าน 7-Eleven ปีละมากกว่า 400 สาขา  
ซึ่งกลยุทธ์ที่ CPALL นำมาใช้ขยายสาขา 7-Eleven ให้ได้รวดเร็วแบบนี้ เรียกว่า Sub-Area License
แล้วกลยุทธ์ Sub-Area License คืออะไร ? 
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า รูปแบบการขยายสาขาร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ของ CPALL สามารถแบ่งออกมาได้เป็น 3 รูปแบบ คือ
1. ร้านที่ CPALL เป็นเจ้าของและบริหารงานเองทั้งหมด มีจำนวน 7,336 สาขา
2. ร้านแบบ Store Business Partner (SBP)
ซึ่งเป็นร้านที่ CPALL เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทั่วไปที่สนใจ เข้ามาซื้อแฟรนไชส์ร้าน 7-Eleven ร้านรูปแบบนี้มีจำนวน 6,335 สาขา
หลายคนน่าจะคุ้นเคยรูปแบบร้าน 7-Eleven 2 รูปแบบแรกมากกว่า
แต่จริง ๆ แล้วยังมีร้าน 7-Eleven ในรูปแบบที่ 3 นั่นก็คือ Sub-Area License 
โดยร้านแบบ Sub-Area License เป็นร้านที่ CPALL ทำสัญญาอนุญาตและให้สิทธิขาดแก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นรายใดรายหนึ่ง ในการเปิดร้าน 7-Eleven ในพื้นที่ที่กำหนดแต่เพียงผู้เดียว 
ปัจจุบันร้านแบบนี้มีจำนวน 874 สาขา โดยส่วนมากแล้วจะมีการกำหนดพื้นที่เป็นรายจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ CPALL ไม่มีความชำนาญในเรื่องทำเล และพฤติกรรมผู้บริโภค
ผู้ที่ถือสิทธิ Sub-Area License จะสามารถขยายสาขา รวมถึงเปิดขายสิทธิแฟรนไชส์ให้ผู้ประกอบการรายย่อยอื่น ๆ อีกทีได้ด้วย
พูดง่าย ๆ ก็คือ Sub-Area License เปรียบเสมือนตั๋วทอง ที่ให้สิทธิผูกขาดการบริหารร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในระดับจังหวัดนั่นเอง
เบื้องหลังของกลยุทธ์การให้สิทธิแฟรนไชส์แบบ Sub-Area License เกิดจากปัญหาในการขยายสาขาให้ครอบคลุมทุกจังหวัด ซึ่งเป็นโจทย์ธุรกิจที่ท้าทาย CPALL ในยุคเริ่มแรก
เพราะการที่ธุรกิจประสบความสำเร็จในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง อาจไม่ประสบความสำเร็จในพื้นที่อื่นก็ได้
ในกรณีของ CPALL ก็เช่นกัน ในบางจังหวัดที่อยู่ห่างไกลออกไป CPALL ก็ไม่ได้รู้จักลูกค้า และทำเลแถบนั้นได้ดีไปกว่าผู้ประกอบการท้องถิ่น
ดังนั้น แทนที่ทาง CPALL จะทุ่มเทงบประมาณ และทรัพยากร ไปกับการศึกษาพื้นที่ และกลุ่มลูกค้าเอง
การจับมือเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยการให้สิทธิพิเศษในการบริหาร 7-Eleven เพียงรายเดียวในบางพื้นที่ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า จึงเป็นที่มาของการใช้กลยุทธ์ Sub-Area License
ปัจจุบัน ผู้ที่ได้สิทธิใช้ Sub-Area License ของร้าน 7-Eleven เป็น 4 กลุ่มทุนภูธร ประกอบไปด้วย..
- กลุ่มตันตราภัณฑ์ (บริษัท ชอยส์ มินิ สโตร์ จำกัด) ผู้ประกอบการค้าปลีกริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต 
บริหารพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน
- กลุ่มงานทวี (บริษัท งานหนึ่ง จำกัด) ผู้ประกอบการโรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ ปั๊มน้ำมัน สวนยางพารา เหมืองแร่ ค้าส่ง
บริหารพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ได้แก่ ภูเก็ต ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง
- กลุ่มยิ่งยง (บริษัท ยิ่งยง มินิมาร์ท จำกัด) ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ายิ่งยง อุบลฯ
บริหารพื้นที่ 4 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ
- กลุ่มศรีสมัย (บริษัท ยะลาเซเว่น จำกัด) ผู้ประกอบการร้านศรีสมัยค้าส่ง
บริหารพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส
กลุ่มทุนท้องถิ่นทั้ง 4 กลุ่มนี้ บริหารร้าน 7-Eleven ในอาณาเขตของตัวเองมากกว่า 100 สาขา 
โดยเฉพาะกลุ่มยิ่งยง ที่มีมากกว่า 203 สาขา และมีแผนขยายสาขาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย
สรุปแล้ว การมี Sub-Area License ก็คือการที่ CPALL ให้ตั๋วทองในการเปิดร้าน 7-Eleven ในต่างจังหวัด กับกลุ่มทุนในพื้นที่นั้น แทนการลงไปบุกเอง
ส่วน CPALL นั้นจะทำหน้าที่ซัปพอร์ต ผ่านการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและให้ยืมคู่มือการปฏิบัติงานแก่ผู้รับอนุญาตช่วง 
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับสิทธิ Sub-Area License จะไม่สามารถโอนสิทธิภายใต้สัญญานี้ไปให้คนอื่นตามใจชอบ หากไม่ได้รับการยอมรับจาก CPALL
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ 
ในปัจจุบันร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ของ CPALL ในประเทศไทย มีส่วนแบ่งตลาดร้านสะดวกซื้อสูงถึง 68% เลยทีเดียว..
#ลงทุน
#หุ้นไทย
#CPALL
References
-รายงานประจำปี 2566, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.