โมเดลธุรกิจ 7-Eleven ธุรกิจแพลตฟอร์มของไทย มูลค่า 500,000 ล้าน

โมเดลธุรกิจ 7-Eleven ธุรกิจแพลตฟอร์มของไทย มูลค่า 500,000 ล้าน

12 ก.ค. 2024
เมื่อพูดถึงธุรกิจแพลตฟอร์ม หลายคนน่าจะนึกถึง 
- Facebook แพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ ที่เชื่อมต่อคนบนโลกอินเทอร์เน็ตเข้าด้วยกัน
- Grab ผู้ให้บริการเรียกรถออนไลน์
- Airbnb ผู้ให้บริการจองบ้านพักออนไลน์
- Netflix แอปพลิเคชันที่เราใช้ดูหนังบนโทรศัพท์มือถือ
จะเห็นได้ว่า สิ่งที่พวกเราส่วนใหญ่นึกถึง ก็คือแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งนั้น
แต่รู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยเอง ก็มีธุรกิจแพลตฟอร์ม ที่มีมูลค่าบริษัทมากถึง 500,000 ล้านบาท
ซึ่งไม่ใช่แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ไหน เพราะเรากำลังพูดถึงบริษัท CPALL เจ้าของร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในไทยกันอยู่
และถ้าคุณอยากรู้ว่า ทำไม 7-Eleven ถึงมีรูปแบบโมเดลธุรกิจแบบแพลตฟอร์ม ในมุมมองของ MONEY LAB 
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ก่อนอื่น เราต้องมาทำความเข้าใจกับนิยามของธุรกิจแพลตฟอร์มกันก่อน
ธุรกิจแพลตฟอร์ม คือ โมเดลธุรกิจที่เชื่อมโยงความต้องการของคน 2 กลุ่มขึ้นไปมาไว้ด้วยกัน
จุดแข็งของธุรกิจแพลตฟอร์มก็คือ ยิ่งถ้าเกิดแพลตฟอร์มไหน สามารถสร้างเครือข่ายให้มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากเท่าไร แพลตฟอร์มนั้น ก็จะยิ่งมีมูลค่ามากขึ้นเท่านั้น
ตัดภาพมาที่โมเดลธุรกิจของ 7-Eleven จะเห็นได้ว่า 7-Eleven เป็นเพียงตัวกลางที่บริหารจัดการร้านสะดวกซื้อเท่านั้น
เพราะสินค้าบนชั้นวางของ 7-Eleven ส่วนมากแล้วก็มาจากผู้ประกอบการรายอื่น ๆ เช่น..
- เครื่องดื่มชูกำลังของโอสถสภา และคาราบาวกรุ๊ป
- เครื่องดื่มในตู้กดอัตโนมัติ ก็มาจากบริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ หรือ TACC
- แซนด์วิช เบอร์เกอร์ และขนมเบเกอรีต่าง ๆ ก็ล้วนผลิตมาจากบริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ หรือ NSL
- ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ ก็มาจากหลายบริษัท เช่น ปลาทาโร ของ พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง, สาหร่าย ของ เถ้าแก่น้อย, หมูกรอบแผ่น ของ เจ้าสัว ซึ่งบริษัทนี้ก็กำลังจะ IPO เข้าตลาดหุ้นด้วย
ความต้องการของบริษัทเหล่านี้ก็คือ การกระจายสินค้าของตัวเองให้ถึงมือผู้บริโภคได้คราวละมาก ๆ 
ส่วนความต้องการของลูกค้าที่เข้า 7-Eleven ก็คือ ต้องการความสะดวกสบาย อยากได้อะไร ก็เจอในร้าน ไม่ต้องเดินทางไปซื้อของไกล ๆ
ซึ่งตรงจุดนี้เองที่ 7-Eleven ได้เข้ามาเป็นตัวกลางตอบสนองความต้องการของคนทั้ง 2 กลุ่มได้เป็นอย่างดี
จากการที่ 7-Eleven มีเครือข่ายร้านสะดวกซื้อมากถึง 14,730 สาขาทั่วประเทศ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567
มีทั้งสาขาที่บริษัทลงทุนเอง และการขายสิทธิแฟรนไชส์ให้คนทั่วไปเป็นเจ้าของร้านสะดวกซื้อ
เมื่อบริษัทมีสาขาอยู่ในมือเป็นหมื่นสาขา ก็ยิ่งทำให้เครือข่ายของ 7-Eleven มีความแข็งแกร่งมากขึ้น
เพราะการมีหน้าร้านเป็นหมื่นสาขา กระจายตัวอยู่ทั่วทุกซอกมุมของไทย จะทำให้ลูกค้าเกิดความสะดวก เดินไปทางไหนก็เจอ 7-Eleven
บริษัทเจ้าของสินค้าที่วางขายอยู่ใน 7-Eleven ก็ได้ประโยชน์ เพราะมีช่องทางการขายที่มากขึ้น
แถมเครือข่ายที่แข็งแกร่งของ 7-Eleven ก็กลายมาเป็นคูเมืองอันแข็งแกร่ง ที่ทำให้คู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาแข่งขันกับบริษัทได้ยากขึ้นอีกด้วย
จะเห็นได้ว่า แพลตฟอร์มในรูปแบบออฟไลน์อย่าง 7-Eleven ก็ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย
และนอกจากจะสร้างผลกำไรให้กับ CPALL แล้ว 7-Eleven ยังเป็นแหล่งปั้นหลายบริษัท ให้เติบโตเป็นบริษัทขนาดใหญ่ของไทยอีกด้วย เช่น เถ้าแก่น้อย, TACC, NSL และอื่น ๆ อีกมากมาย
สิ่งนี้ก็คงไม่ต่างอะไรจากแพลตฟอร์มอย่าง App Store ที่อยู่ในไอโฟนทุกเครื่อง ซึ่งภายใน App Store ก็มีแอปพลิเคชัน ที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน เช่น Facebook, Instagram, Netflix และ Grab
และพลังเครือข่ายผู้ใช้งานไอโฟนทั่วโลก ก็ทำให้บริษัทผู้พัฒนาแอปพลิเคชันเหล่านี้เติบโต กลายมาเป็นบริษัทใหญ่ระดับโลก
เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มอย่าง 7-Eleven ที่ปั้นบริษัทเจ้าของสินค้าในร้าน ให้กลายมาเป็นบริษัทขนาดใหญ่ระดับประเทศมากมาย..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ลงทุน
#หุ้นไทย
#CPALL
References
-คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ไตรมาส 1 ปี 2567 ของ CPALL
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.