
PT ปั๊มน้ำมันไทย ที่กำลังใช้ โมเดลธุรกิจ คล้ายกับ Starbucks
1 เม.ย. 2025
ถ้าจู่ ๆ มีคนบอกว่าปั๊มน้ำมัน PT มีความคล้ายคลึงกับร้านกาแฟ Starbucks หลายคนก็คงจะรู้สึกแปลกใจ
เพราะแค่เราลองหลับตานึก ภาพบรรยากาศของร้านกาแฟใจกลางเมือง และปั๊มน้ำมันขวัญใจสิงห์รถบรรทุก ก็ดูจะไม่เข้ากันเท่าไรนัก
แต่ถ้าหากเรามองผ่านแว่นของการทำธุรกิจแล้ว ทั้งปั๊มน้ำมัน PT และ Starbucks กลับมีวิธีการดำเนินธุรกิจ ที่คล้ายคลึงกันกว่าที่คิด
ไม่ใช่แค่เรื่องที่ว่า PT ก็มีร้านกาแฟพันธุ์ไทยไว้ขายเครื่องดื่มเหมือนกับ Starbucks เท่านั้น
แต่เป็นเพราะทั้ง 2 ธุรกิจนี้ มีโมเดลในการทำธุรกิจ ที่พัฒนาจากการซื้อขายสินค้าธรรมดา ๆ กลายเป็นการขายสินค้าแบบ “รับเงินมาก่อน” เหมือนกัน
แล้วกลยุทธ์อะไรที่ทำให้ ปั๊มน้ำมันไทยอย่าง PT มีโมเดลที่คล้ายคลึงกับ Starbucks ได้แบบนี้ ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
แม้ทางปั๊มน้ำมัน PT จะมีบัตรสมาชิกให้กับลูกค้ามาตั้งนานแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นจะเป็นบัตรสะสมแต้มทั่วไป ไม่ใช่บัตรสมาชิก ที่ให้ลูกค้าจ่ายเงินค่าสมาชิกบัตรรายปี
จนกระทั่งปี 2564 ทางปั๊มน้ำมัน PT ก็ได้เปิดตัวบัตร PT Max Card Plus ที่หลายคนเรียกติดปากว่า “บัตรแดง” ซึ่งเปิดให้ลูกค้าที่ต้องการเป็นสมาชิก จ่ายเงินค่าสมาชิกบัตรรายปี เป็นจำนวนปีละ 599 บาท
เพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์หลายอย่างที่จะตามมา ยกตัวอย่างเช่น
- ลดราคากาแฟพันธุ์ไทย 50% ต่อแก้ว ใช้สิทธิ์ได้ 10 แก้วต่อเดือน
- ลดราคาน้ำมันลิตรละ 50 สตางค์ ใช้สิทธิ์ได้ 200 ลิตรต่อเดือน
- มีโปรโมชันซื้อ 1 แถม 1 ที่ร้าน Max Mart ใช้สิทธิ์ได้ 5 ครั้งต่อเดือน
ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ที่ให้สิทธิประโยชน์กับสมาชิกบัตรแดง ก็คือธุรกิจในเครือของปั๊มน้ำมัน PT
และเมื่อช่วงเดือนมีนาคม ปีที่ผ่านมานี้เอง ก็ได้มีการเปิดตัวบัตร PT Max Card Plus EV ที่ก็ให้สิทธิประโยชน์คล้ายกันกับบัตรแดง แต่ไว้จับกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ EV ด้วย
ซึ่งการที่ปั๊มน้ำมัน PT เปิดตัวบัตรแดงที่สามารถเก็บเงินจากลูกค้ามาได้ก่อน ผ่านค่าสมาชิกรายปีนั้น ก็ทำให้บริษัท เกิดสิ่งที่เรียกว่า “รายได้รอการรับรู้” เป็นจำนวนมาก และเติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยถ้าหากเราไปดูจากงบการเงินของบริษัท PTG ผู้เป็นเจ้าของปั๊มน้ำมัน PT และร้านกาแฟพันธุ์ไทย ตั้งแต่ช่วงปี 2564 ที่เปิดตัวบัตรแดงมา จะเห็นได้ว่า
- ปี 2564 รายได้รอการรับรู้ 82 ล้านบาท
- ปี 2565 รายได้รอการรับรู้ 86 ล้านบาท
- ปี 2566 รายได้รอการรับรู้ 149 ล้านบาท
- ปี 2567 รายได้รอการรับรู้ 539 ล้านบาท
ถึงตรงนี้คงต้องแวะอธิบายสักครู่ ว่ารายได้รอการรับรู้นั้นคืออะไร
โดยรายได้รอการรับรู้ หรือ รายได้รับล่วงหน้า ที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Deferred Revenue นั้น คือเงินที่กิจการรับมาจากลูกค้าแล้ว แต่ยังไม่ได้ให้บริการจริง ๆ
ทำให้แม้ทางบริษัท จะได้รับเงินมาแล้วก็จริง เงินส่วนนี้ก็จะไม่ได้ถูกบันทึกไว้ ในส่วนของรายได้ ในงบกำไรขาดทุน แต่จะถูกบันทึกไว้ในส่วนของหนี้สินหมุนเวียน ในงบแสดงฐานะการเงิน หรือ งบดุล แทน
ซึ่งในกรณีของปั๊มน้ำมัน PT รายได้รับล่วงหน้าก็จะเกิดจากการที่สมาชิกบัตรแดง จ่ายค่าสมาชิกรายปีเข้ามา ซึ่งทางปั๊มก็ได้เงินแล้ว แต่ยังไม่สามารถบันทึกว่าเป็นรายได้ จนกว่าสมาชิกเหล่านั้น จะมาซื้อกาแฟพันธุ์ไทย หรือเติมน้ำมัน
เช่นเดียวกันกับ Starbucks ที่มีบัตร Starbucks Rewards ให้ลูกค้าเติมเงินเข้ามา ซึ่งก็จะทำให้ทาง Starbucks สามารถเก็บเงินมาจากลูกค้าก่อนได้เป็นจำนวนมาก
จนหลาย ๆ ครั้ง Starbucks มักจะถูกแซวว่าเป็น “ธนาคารที่ขายกาแฟได้นิดหน่อย” เพราะมีเงินสดจากลูกค้าที่เติมบัตร Starbucks Rewards มาฝากไว้รอเอาไปซื้อกาแฟในร้าน เป็นจำนวนมาก
ทีนี้เราจะเห็นได้ว่ารายได้รอรับรู้ล่วงหน้า ของทางบริษัท PTG ในปี 2567 นั้น แทบจะเรียกได้ว่าโตระเบิดจากปีก่อนหน้า
ซึ่งเหตุผลหลัก ก็น่าจะมาจากการขยายสาขาร้านกาแฟพันธุ์ไทย ที่ตั้งแต่ปี 2566 ก็ได้มีการขยายสาขาอย่างหนักหน่วง ชนิดที่ว่าเปิดกันเฉลี่ยวันละสาขา
และทำให้มีคนมาสมัครสมาชิกบัตรแดงของทาง PT เป็นจำนวนมาก จากความคุ้มค่า เพราะถ้าซื้อกาแฟพันธุ์ไทย เดือนละ 10 แก้ว ในราคาลด 50% ทั้งปีจนเต็มโควตา ส่วนลดที่ได้ ก็เกินค่าบัตรรายปีไปมากแล้ว
นอกจากนี้สิ่งที่แสดงให้เราเห็นว่า ทางบริษัท PTG กำลังทำธุรกิจแบบรับเงินมาก่อนจริง ๆ ก็คือตัวเลข “วงจรเงินสด”
ตัวเลขนี้จะบอกเราว่า บริษัทจะต้องใช้เวลากี่วัน กว่าจะได้เงินสดจากการทำธุรกิจ เข้ามาในกิจการ
คำนวณได้จากการนำ จำนวนวันในการขายสินค้าเฉลี่ย บวกกับ จำนวนในการเก็บหนี้เฉลี่ย หักด้วยจำนวนวันที่ใช้ในการจ่ายหนี้เจ้าหนี้การค้าเฉลี่ย
ซึ่งในช่วง 3 ปีย้อนหลังจะเห็นได้ว่า ตัวเลขวงจรเงินสดของ PTG ติดลบมาตลอด
- ปี 2565 วงจรเงินสด -6.38 วัน
- ปี 2566 วงจรเงินสด -6.57 วัน
- ปี 2567 วงจรเงินสด -6.57 วัน
ซึ่งตัวเลขติดลบแบบนี้ก็หมายความว่า ทางบริษัท PTG เฉลี่ยแล้วจะได้รับเงินสดจากการทำธุรกิจเข้ามาล่วงหน้า ประมาณ 6 ถึง 7 วัน ก่อนที่จะจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้การค้า
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ทางบริษัท PTG มีอำนาจต่อรองกับคู่ค้า อย่างเช่น ผู้ขายน้ำมันดิบ สูง จนสามารถยืดเวลาการชำระค่าสินค้าให้นานขึ้นได้ และส่วนหนึ่งก็คือการที่บริษัทสามารถเก็บเงินมาได้ก่อนจากค่าบัตรสมาชิกนั่นเอง
จากทั้งหมดนี้เองก็เห็นได้ว่า โมเดลธุรกิจของปั๊มน้ำมัน PT นั้น ค่อนข้างน่าสนใจเลยทีเดียว จากการทำบัตรสมาชิกที่ให้คนจ่ายเงินเข้ามาก่อน คล้าย ๆ กันกับที่ Starbucks ทำ
แต่อย่างไรก็ตาม รายได้รอรับรู้ล่วงหน้าที่เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ แบบนี้ ก็ดูจะเติบโตล้อไปกับการเติบโตของร้านกาแฟพันธุ์ไทย ที่เป็นธุรกิจ Non-Oil ซึ่งสัดส่วนรายได้ยังถือว่าเล็กมาก เมื่อเทียบกับธุรกิจการขายน้ำมัน
ทำให้ต้องติดตามกันต่อไปว่า การขยายสาขาของร้านกาแฟพันธุ์ไทยอย่างหนักหน่วง จะทำให้ รายได้รอรับรู้ล่วงหน้า ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาณบอกความแข็งแกร่งของกิจการ ยังเติบโตได้มากแค่ไหน
และโปรโมชันต่าง ๆ ที่ทางบริษัท PTG ทำออกมาต่อจากนี้ จะยังสามารถซื้อใจให้เหล่าสมาชิกบัตร รู้สึกคุ้มค่าที่จะจ่ายเงิน 599 บาทในทุก ๆ ปี ให้กับ PTG อยู่หรือไม่..
หมายเหตุ : บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำ ให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ธุรกิจ
#หุ้นไทย
#PTG
References
-งบการเงิน ปี 2564 ถึง 2567 บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน)