อธิบาย Debt Service Ratio ใช้ส่องภาระหนี้ มีเท่าไร ถึงจะไม่เป็นทุกข์

อธิบาย Debt Service Ratio ใช้ส่องภาระหนี้ มีเท่าไร ถึงจะไม่เป็นทุกข์

15 ส.ค. 2024
“การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐฉันใด การไม่มีหนี้ก็เป็นลาภอันประเสริฐฉันนั้น”
ประโยคข้างต้น เป็นสิ่งที่เราน่าจะได้ยินกันบ่อย ๆ เพราะเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี ทั้งทางกายและทางการเงิน
หากการเงินของเราไม่ดี ก็สามารถส่งผลต่อสุขภาพใจ ทำให้เราไม่มีความสุขในชีวิตได้
ซึ่งการไม่มีหนี้เลย สำหรับบางคนนั้น ก็ถือว่าเป็นความสุขในชีวิตอย่างหนึ่ง แต่ก็มีหลายคนไม่ได้มีเงินสดมากพอจะทำในสิ่งที่ต้องการได้ การก่อหนี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น
คำถามคือ แล้วเราควรก่อหนี้มากแค่ไหน เพื่อให้เรายังสามารถจัดการกับหนี้ก้อนนั้นได้อย่างสบาย และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในทุก ๆ วัน 
มีเครื่องมือหนึ่งที่จะให้คำตอบนี้ แก่เราได้
เรียกว่า “Debt Service Ratio” หรือ DSR
แล้ว DSR คืออะไร แล้วเราจะเอาไปใช้ประโยชน์ในชีวิตได้อย่างไร
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
DSR คือตัวชี้วัดที่จะมาบอกเราว่า ตอนนี้สุขภาพทางการเงินของเรา ดีหรือแย่แค่ไหน
คำนวณหาได้โดยการ
นำจำนวนหนี้สินที่เราต้องจ่ายต่อเดือน มาหารด้วยรายได้ต่อเดือน แล้วคูณด้วย 100
โดยค่าที่คำนวณออกมาได้ จะเป็นเปอร์เซ็นต์ และสามารถนำมาแปลผล ได้เป็น 4 ระดับ
ระดับที่ 1 : DSR น้อยกว่า 15% หมายความว่า หนี้ของเราน้อย ยังดูไม่มีปัญหาอะไร
ระดับที่ 2 : DSR อยู่ระหว่าง 15% ถึง 40% หมายความว่า จำนวนหนี้สินของเรา ยังคงอยู่ในระดับเหมาะสม ยังไม่มากเกินไปนัก แต่ก็ไม่ควรก่อหนี้มากเกินไปกว่านี้อีกแล้ว
ระดับที่ 3 : DSR อยู่ระหว่าง 41% ถึง 50% หมายความว่า เราเริ่มก่อหนี้เกินตัวไปแล้ว
ระดับที่ 4 : DSR มากกว่า 50% หมายความว่า ระดับหนี้ของเราสูงมากเกินไป จนอยู่ในขั้นที่อันตรายมาก หากไม่รีบแก้ไข ก็อาจจะส่งผลให้คุณภาพการใช้ชีวิตของเรา แย่ได้เลย
เพื่อให้เข้าใจกันมากขึ้น ลองมาดูตัวอย่างจากคุณ A กัน สมมติว่า คุณ A มีรายได้ทั้งหมด 50,000 บาทต่อเดือน
มีภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือน ดังนี้
- ผ่อนรถยนต์ 10,000 บาท
- ผ่อนคอนโดฯ 15,000 บาท
- ผ่อนหนี้บัตรเครดิต 10,000 บาท
- ใช้จ่ายส่วนตัว 10,000 บาท
คำนวณหา DSR โดย 
เอาค่าผ่อนรถยนต์ 10,000 บาท + ค่าผ่อนคอนโดฯ 15,000 บาท + ค่าผ่อนหนี้บัตรเครดิต 10,000 บาท จะได้เป็นหนี้สินรวมที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน เท่ากับ 35,000 บาท 
เพราะฉะนั้น เมื่อเอาหนี้สินรวม 35,000 บาท มาหารกับเงินเดือน 50,000 บาทต่อเดือน แล้วคูณด้วย 100 
ก็แสดงว่าคุณ A จะมี DSR อยู่ที่ 70% ต่อเดือน
หรือก็คือ DSR ของคุณ A อยู่ในระดับที่ 4 ซึ่งมีหนี้เยอะมาก ถือว่าอยู่ในขั้นที่อันตรายมากแล้ว
สถานะทางการเงินของคุณ A อาจจะกำลังตึงมือมากเกินไป หากคุณ A จัดการได้ไม่ดี ก็สามารถส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตของคุณ A ได้เลย
เพราะฉะนั้นหนี้สินบางอย่าง เช่น หนี้บัตรเครดิต เป็นหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยสูง ทางที่ดีควรจะรีบปิดให้หมด ไม่ควรปล่อยไว้เรื้อรัง
ถ้าปิดหมดแล้ว ไม่ก่อหนี้เพิ่ม ระดับ DSR ของคุณ A ก็จะกลับมาสู่ระดับที่ 3 ที่ไม่เกิน 50% ซึ่งยังสบายใจได้มากกว่าระดับที่ 4 เยอะ
ส่วนหนี้ผ่อนรถ ถือว่าเป็นหนี้สินระยะกลาง ถ้าในอนาคตคุณ A ผ่อนได้หมด แล้วไม่ได้มีการออกรถคันใหม่เลย ก็จะเหลือแค่หนี้ผ่อนคอนโดฯ ซึ่งเป็นหนี้สินระยะยาวเท่านั้น
ตอนนั้น ระดับ DSR ของคุณ A ก็จะเหลืออยู่แค่ 30% ซึ่งเป็นระดับที่ 2 ที่หนี้สินอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ตึงจนเกินไป
อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของ DSR นั้น นอกจากจะช่วยเราในการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล ได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ธนาคารใช้วิเคราะห์ เวลาเราจะไปขอกู้เงินด้วย
เพราะเวลาธนาคารจะให้เงินกู้แก่เรา ก็จะต้องตรวจสอบก่อนว่า เรามีความสามารถในการชำระหนี้ ได้ดีแค่ไหน
ซึ่งปกติแล้ว เวลาธนาคารจะปล่อยกู้ให้ จะต้องทำให้ DSR ของเราไม่เกิน 40% หรืออยู่ในระดับที่ 2 เพราะเป็นระดับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแนะนำว่า ระดับหนี้เท่านี้ เรายังมีสุขภาพทางการเงินที่ดีอยู่
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่า เราคงเข้าใจกันดีขึ้นแล้วใช่ไหมว่า DSR คืออะไร และมีประโยชน์ต่อเราอย่างไร
การมีหนี้ไม่ใช่เรื่องผิด ถ้ามีแล้วช่วยทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้ เช่น หนี้ที่เรากู้มาเพื่อลงทุนทำธุรกิจ
ถ้าธุรกิจของเราไปได้ดี เราได้รับกระแสเงินสดจากธุรกิจเข้ามามากกว่าหนี้ที่ต้องจ่าย สักวันเราก็จะสามารถชำระคืนหนี้ได้จนหมด แถมมีเงินเหลือ ๆ จากธุรกิจของเราเอง เป็นกำไรของชีวิตอีกด้วย
หรือแม้กระทั่ง หนี้บ้านและหนี้รถ ถ้ามีแล้วทำให้คุณภาพชีวิตของเรา ดีขึ้นได้จริง ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด
แต่เราเองก็ต้องอย่าลืมด้วยว่า ระดับของหนี้สินที่เรามีอยู่หรือกำลังจะมี อาจจะก่อปัญหาให้กับชีวิตของเราได้เหมือนกัน ถ้าเรามีมากเกินไป
ดังนั้นแล้ว ทางสายกลาง คือการไม่ตึงและไม่หย่อนจนเกินไป ซึ่งเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนสั่งมากว่า 2,600 ปี ก็สามารถนำมาใช้กับเรื่องนี้ได้ เฉกเช่นเดียวกัน..
#วางแผนการเงิน
#บริหารหนี้
#DebtServiceRatio
References:
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.