อธิบาย Operating Leverage เหตุผลที่ทำให้ เจ้าของคุกกี้กล่องแดง กำไรโตกว่ารายได้ 10 เท่า

อธิบาย Operating Leverage เหตุผลที่ทำให้ เจ้าของคุกกี้กล่องแดง กำไรโตกว่ารายได้ 10 เท่า

21 ส.ค. 2024
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกาศผลการดำเนินงาน ประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2567 กัน
มีหลายบริษัทที่ผลประกอบการเติบโตได้ดี และอีกหลายบริษัทที่มีผลประกอบการที่น่าผิดหวัง
แต่หนึ่งในบริษัทที่น่าสนใจก็คือ บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KCG เพราะบริษัทนี้ แม้จะมีรายได้เติบโตจากปีก่อนแค่ 8% แต่สามารถทำให้กำไรเติบโตได้ถึง 86%
หรือก็คือ กำไรเติบโตมากกว่ารายได้ ถึง 10 เท่า..
แล้วถ้าหากสงสัยว่า บริษัทมีวิธีการอย่างไร จึงทำได้แบบนี้ ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
KCG ทำธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายสินค้า โดยมีสินค้าหลักคือเนยและชีส ภายใต้แบรนด์ดังอย่าง Allowrie และ DAIRYGOLD 
นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอย่างเครื่องดื่มน้ำผลไม้ แบรนด์ SUNQUICK และคุกกี้กล่องแดงที่เราน่าจะคุ้นเคยกันดีในทุก ๆ เทศกาลสิ้นปี อย่างแบรนด์ IMPERIAL ด้วย
สำหรับเหตุผลที่ทำให้ KCG มีกำไรที่เติบโตขึ้นมากขนาดนี้ สามารถสรุปออกมาได้เป็น 4 ข้อ
1. รายได้เติบโตขึ้นในทุกหน่วยผลิตภัณฑ์
แม้ว่าคุกกี้กล่องแดง จะเป็นสินค้าของ KCG ที่เราคุ้นเคยมากที่สุด แต่นั่นไม่ใช่สินค้าที่ขายดีที่สุดของ KCG โดยผลิตภัณฑ์ของ KCG แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
- ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น เนยและชีส รายได้ 1,022 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว +9.6%
- ผลิตภัณฑ์สำหรับการประกอบอาหารและเบเกอรี เช่น แป้งทำขนม และอื่น ๆ รายได้ 486 ล้านบาท เพิ่มขึ้น +3.2%
- ผลิตภัณฑ์บิสกิต เช่น คุกกี้กล่องแดง รายได้ 179 ล้านบาท เพิ่มขึ้น +14.9%
เมื่อรวมกับรายได้อื่น ๆ แล้ว จะทำให้ KCG มีรายได้รวม 1,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน +8.1%
2. ต้นทุนวัตถุดิบราคาถูกลง และมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น
บริษัทที่มีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น หมายความว่า บริษัทมีประสิทธิภาพในการทำธุรกิจดีขึ้น อาจจะสามารถปรับราคาขายสินค้าให้เพิ่มสูงขึ้น หรือทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงก็ได้
อัตรากำไรขั้นต้น คำนวณหาได้โดย
(รายได้จากการขาย - ต้นทุนขาย) / รายได้จากการขาย
แล้วนำมาคูณ 100 โดยจะมีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์
สำหรับ KCG มีต้นทุนขายอยู่ที่ 1,151 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน +4.8% ซึ่งเพิ่มขึ้นน้อยกว่ารายได้จากการขายสินค้า
จึงทำให้กำไรขั้นต้นในไตรมาสนี้อยู่ที่ 537 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง +16.2% ซึ่งมากกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ ถึง 2 เท่า..
โดยสาเหตุหลักมาจาก ภาพรวมต้นทุนวัตถุดิบในไตรมาสนี้ลดลงจากปีที่แล้ว รวมถึง KCG มีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น และมีประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้น นั่นจึงทำให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งในไตรมาสนี้ KCG มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 31.8% ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 29.6%
3. ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร เพิ่มขึ้นน้อย
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร เป็นค่าใช้จ่ายที่มักจะประกอบด้วย
- ค่าโฆษณา
- ค่าขนส่งสินค้า
- ค่าสาธารณูปโภค
- เงินเดือนพนักงานและผู้บริหาร
- รวมถึงพวกค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรและอาคารด้วย
แต่สำหรับธุรกิจอย่าง KCG ที่มีโรงงานผลิตสินค้า ค่าใช้จ่ายตรงนี้ส่วนมากจะเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ ที่แม้ว่ายอดขายโต แต่ค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็จะเพิ่มขึ้นไม่มาก 
ตรงจุดนี้เองที่ส่งผลให้กำไรของ KCG เติบโตขึ้นได้สูงกว่ารายได้ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ เราเรียกว่า “Operating Leverage” นั่นเอง
เราลองมาดู กำไรจากการดำเนินงานของ KCG กัน โดยหาจาก
รายได้รวม - ต้นทุนขาย - ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร
- จากข้อ 1 เราคงเห็นแล้วว่า KCG มีรายได้รวม 1,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.1% จากปีก่อน
- จากข้อ 2 KCG มีต้นทุนขาย 1,151 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8% จากปีก่อน
- สำหรับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร เท่ากับ 415 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.5% จากปีก่อน 
ทำให้ KCG จะมีกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 132 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้นจากปีก่อน +47%
แต่สำหรับ KCG ยังไม่จบอยู่แค่นั้น เพราะสุดท้ายแล้ว บริษัทมีกำไรสุทธิเติบโตถึง 86.3% ซึ่งเหตุผลจะอยู่ในข้อที่ 4 ซึ่งเป็นข้อสุดท้าย
4. หนี้สินลดลง ทำให้ต้นทุนทางการเงินที่จ่ายน้อยลง
ในไตรมาส 2 ปี 2566 หรือเมื่อปีที่แล้ว เป็นช่วงก่อนที่ KCG จะเข้าตลาดหุ้น บริษัทยังมีภาระหนี้สินที่เป็นเงินกู้อยู่มาก ทำให้ต้องจ่ายต้นทุนทางการเงินที่สูง
แต่พอเข้าตลาดหุ้น บริษัทได้รับเงินจากการ IPO ก็นำเงินมาชำระคืนหนี้บางส่วน ทำให้ต้นทุนทางการเงินที่ต้องจ่ายลดน้อยลง
โดยต้นทุนทางการเงินของ KCG ลดลงจากปีก่อนประมาณ 50% ทำให้เหลือค่าใช้จ่ายแค่ 12 ล้านบาท
นั่นจึงส่งผลให้ “กำไรก่อนภาษี” ของ KCG เท่ากับ 120 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้นจากปีก่อน +61%
(กำไรก่อนภาษี = กำไรจากการดำเนินงาน - ต้นทุนทางการเงิน)
และสุดท้าย เมื่อนำมาหักจากภาษีที่ต้องจ่ายที่ 26 ล้านบาท ก็จะได้กำไรสุทธิเท่ากับ 94 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนสูงถึง +86.3% นั่นเอง
อ่านมาถึงตรงนี้ก็เชื่อว่า เราคงเข้าใจเหตุผลเบื้องหลังที่ ทำให้ KCG มีกำไรเติบโตมากกว่ารายได้ถึง 10 เท่า
ปัจจัยหลักก็มาจากการที่ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่ เมื่อรายได้เติบโต ต้นทุนในส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นไม่มากเท่าไร ทำให้บริษัทมี Operating Leverage ที่สูง
และอีกปัจจัยก็คือ บริษัทได้เงิน IPO มาแล้วเอาไปชำระหนี้คืน ทำให้จ่ายต้นทุนทางการเงินน้อยลง
จนทำให้กำไรสุทธิของ KCG เติบโตได้อย่างมาก แม้รายได้จะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย นั่นเอง..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
References:
- MD&A และงบการเงิน ไตรมาส 2 ปี 2567 บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
- หนังสือ 100 Frequently Asked ร้อยคำถามหุ้นต้องตอบ (2566) โดย ลงทุนศาสตร์
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.