อธิบาย 6 ขั้นตอน หาหุ้นปันผล ให้มีกิน มีใช้ ได้ตลอดชีวิต

อธิบาย 6 ขั้นตอน หาหุ้นปันผล ให้มีกิน มีใช้ ได้ตลอดชีวิต

9 ก.ย. 2024
เส้นทางการไปสู่อิสรภาพทางการเงินมีหลากหลายวิธี และแต่ละคนก็เลือกเส้นทางแตกต่างกันไป
แต่มีอยู่วิธีหนึ่ง ที่มีหลักการเรียบง่าย ไม่ต้องเร่งรีบ แต่ค่อย ๆ อดทนทำไปเรื่อย ๆ สักวันเราทุกคนก็สามารถไปถึงอิสรภาพทางการเงินได้เหมือนกัน
วิธีที่ว่าก็คือ การลงทุนในหุ้นของบริษัทพื้นฐานดี ที่สามารถจ่ายเงินปันผลให้เรามีกินมีใช้ไปได้ ตลอดชีวิต
แล้วหลักการในการหาหุ้นแบบนี้ลงทุนเพื่อชีวิตของเรา เป็นอย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
หลักการหาหุ้นปันผล ที่เราสามารถถือลงทุนไปยาว ๆ ได้ มีอยู่ 6 ข้อ
1. บริษัทต้องมีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน
คุณลักษณะที่บอกว่าบริษัทมีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ก็อย่างเช่น
- มีคุณภาพของรายได้และกำไรที่ดี เช่น ขายสินค้าที่ลูกค้าจะต้องกลับมาซื้อซ้ำบ่อย ๆ
- ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน สินค้าและบริการของบริษัท จะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปมากนัก
- มีแบรนด์ของสินค้าที่แข็งแกร่ง ที่ลูกค้ามักนึกถึงเป็นลำดับแรก ๆ เสมอ
- มีผู้บริหารที่เก่ง ขยัน และมีธรรมาภิบาล คอยดูแลบริษัทอยู่
- ในระยะยาว บริษัทยังมีโอกาสเติบโตต่อไปได้อีก ทำให้รายได้และกำไรของบริษัทมากขึ้น
เช่น สามารถขยายธุรกิจเข้าไปแข่งขันในตลาดใหม่ ๆ หรือสามารถปรับราคาขายสินค้าให้สูงขึ้นได้
2. บริษัทต้องมี ROE ที่สูง
ROE ย่อมาจาก Return on Equity
หรือแปลเป็นไทยว่า “ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น”
ไว้ใช้ดูว่า ผู้บริหารของบริษัทนี้สามารถนำเงินในส่วนของผู้ถือหุ้น ไปสร้างผลตอบแทนออกมา ได้ดีและคุ้มค่าแค่ไหน
บริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาว ควรจะมี ROE ที่สูง อย่างน้อย 15% ขึ้นไป ได้อย่างต่อเนื่อง
3. บริษัทต้องมีหนี้น้อย
การที่บริษัทมีหนี้สินมากเกินไป ก็นับเป็นความเสี่ยงมากอย่างหนึ่ง เพราะในช่วงที่เหตุการณ์ปกติ บริษัทอาจจะสามารถทำธุรกิจต่อไปได้อย่างไม่มีปัญหา
แต่หากวันหนึ่ง มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เช่น โรคระบาด วิกฤติเศรษฐกิจ ไฟไหม้ หรือน้ำท่วม 
ก็สามารถส่งผลให้ธุรกิจของบริษัท เจอกับปัญหาร้ายแรงจนขาดสภาพคล่อง และมีปัญหาในการชำระหนี้ได้เลย
แต่บริษัทที่มีหนี้สินน้อย มักจะผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาได้ง่ายกว่าบริษัทที่มีหนี้สินมาก
ดังนั้น ก่อนที่จะลงทุน การวิเคราะห์ความเสี่ยงเรื่องหนี้สินของบริษัท จึงเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้การวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ
โดยเราจะใช้อัตราส่วน 2 ตัวในการวิเคราะห์เรื่องนี้
ตัวแรกเลยคือ อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ D/E Ratio
คำนวณจาก
หนี้สินสุทธิ / ส่วนของผู้ถือหุ้น
D/E Ratio ไว้ใช้เทียบว่า บริษัทมีหนี้สินรวมมากแค่ไหน เมื่อเทียบกับเงินในส่วนของเจ้าของบริษัท
โดย D/E Ratio ที่อยู่ในระดับปลอดภัย ไม่ควรมากกว่า 2 เท่า ถ้ามากกว่านั้น อาจจะหมายความว่า บริษัทเริ่มมีหนี้มากเกินไป
อย่างไรก็ตาม การดูแค่ D/E Ratio อย่างเดียว ก็อาจจะไม่เหมาะสมกับธุรกิจบางประเภท เช่น ธุรกิจค้าปลีก เพราะมีหนี้สินประเภทเจ้าหนี้การค้าอยู่เยอะ
ดังนั้น เราจึงต้องใช้อัตราส่วนตัวต่อมา ดูประกอบกันไปด้วย นั่นก็คือ
อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ IBD/E Ratio
คำนวณจาก
หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย / ส่วนของผู้ถือหุ้น
IBD/E Ratio ไว้ใช้ดูว่า บริษัทมีหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยทั้งหมดเยอะแค่ไหน เมื่อเทียบกับเงินในส่วนของเจ้าของบริษัท
โดย IBD/E Ratio ไม่ควรเกิน 1.5 เท่า เพราะถ้ามากกว่านี้ หมายความว่า บริษัทกำลังมีหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยมากเกินไป
และยิ่งบริษัทมีหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยมากเท่าไร เงินที่บริษัทได้มาจากการทำธุรกิจ ก็จะต้องจ่ายคืนหนี้มากขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทมีหนี้เยอะในบางช่วงเวลา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ดีเสมอไป เพราะในบางครั้ง บริษัทจำเป็นต้องกู้เงินมาเยอะ เพื่อนำไปใช้ขยายธุรกิจ
หากธุรกิจเป็นไปด้วยดี สร้างกระแสเงินสดกลับเข้ามาให้บริษัทมากมาย อีกไม่นาน หนี้สินของบริษัทก็จะลดลงได้ โดยไม่น่าเป็นห่วงอีกต่อไป
ซึ่งวิธีที่จะไว้ใช้ดูว่า บริษัทมีความสม่ำเสมอในการสร้างกระแสเงินสดดีมากแค่ไหน จะอยู่ในข้อที่ 4
4. บริษัทต้องมีกระแสเงินสดอิสระเป็นบวก และควรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กระแสเงินสดอิสระ หรือ Free Cash Flow เปรียบเสมือนเงินสดที่ไหลเข้ามาในบริษัท ที่เจ้าของจะเอาไปทำอะไรก็ได้
เพราะเป็นกระแสเงินสดที่คงเหลืออยู่ หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนทุกอย่างไปหมดแล้ว
คำนวณหาได้จาก
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน - รายจ่ายเพื่อการลงทุน
ลองมาดูตัวอย่างกัน เช่น บริษัท A มี
- กระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน 1,000 ล้านบาท
- รายจ่ายเพื่อการลงทุน 500 ล้านบาท
บริษัท A จึงมีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ 500 ล้านบาท
บริษัทที่แข็งแกร่ง และมีความสามารถในการแข่งขัน มักจะมีกระแสเงินสดอิสระเป็นบวกสม่ำเสมอ
หากบริษัทผลิตกระแสเงินสดอิสระได้มาก และเพิ่มขึ้นในทุกปีได้ด้วย บริษัทก็ยิ่งมีโอกาสจะจ่ายคืนหนี้ได้เร็วขึ้น รวมถึงจ่ายเงินปันผล และซื้อหุ้นคืน ได้มากขึ้นด้วย นั่นเอง
5. บริษัทต้องมีประวัติการจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้น อย่างสม่ำเสมอ
บริษัทควรมีประวัติการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอในทุกปี โดยควรจ่ายเพิ่มขึ้น อย่างน้อยเฉลี่ย 3% ขึ้นไป
เช่น ปี 2566 บริษัท A จ่ายเงินปันผล 1 บาทต่อหุ้น แต่พอในปี 2567 บริษัท A มีกำไรมากขึ้น ทำให้จ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นเป็น 1.05 บาทต่อหุ้น
เงินปันผลที่จ่ายเพิ่มขึ้นจาก 1 บาทต่อหุ้น มาเป็น 1.05 บาทต่อหุ้น ก็คือบริษัท A จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น 5% ซึ่งมากกว่า 3% เสียอีก
เหตุผลที่ใช้ 3% เป็นขั้นต่ำ ก็เพราะว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในระยะยาว อยู่ที่ประมาณ 2% ต่อปี
ถ้าเราลงทุนในบริษัทที่จ่ายเงินปันผลให้กับเรามากขึ้นได้เฉลี่ยประมาณ 3% ในทุกปี ก็เท่ากับว่า เราจะได้รับกระแสเงินสดในรูปเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นในทุกปี มากกว่าอัตราเงินเฟ้อ
เพราะอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2% จะกัดกินอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยของเงินที่เรามีอยู่
แต่ถ้าเราลงทุนในหุ้นที่จ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราเงินเฟ้อได้ ก็เท่ากับเรากำลังมีตัวช่วยปกป้องอำนาจการจับจ่ายใช้สอยของเงินเราอยู่ นั่นเอง
และยิ่งถ้าเราได้ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่จ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปีได้สูง เราก็ยิ่งปลอดภัยจากเงินเฟ้อมากขึ้น
6. รอซื้อหุ้นในราคาที่เหมาะสม ตอนที่มีส่วนลด
ถึงตรงนี้ เราก็คงพอจะเข้าใจถึงหลักการในการหาหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง ที่มีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลให้เราได้มากขึ้นในทุก ๆ ปีแล้ว
สิ่งที่เราควรทำต่อไปก็คือ การซื้อหุ้นของบริษัทเหล่านี้ ในราคาที่ยุติธรรม ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง โดยเราต้องไม่ซื้อหุ้นมาในราคาที่แพงเกินไป
หรือหมายความว่า ทุกครั้งก่อนจะซื้อหุ้น เราจะต้องประเมินมูลค่าหุ้นก่อน
ซึ่งวิธีที่เหมาะสมในการใช้ประเมินมูลค่าหุ้น ก็มีอยู่หลากหลายแบบ เช่น
- ประเมินมูลค่าด้วย P/E Ratio
- ประเมินมูลค่าด้วยเงินปันผล หรือ Dividend Discount Model
- ประเมินมูลค่าด้วยวิธีคิดลดกระแสเงินสด หรือ Discount Cash Flow Model
เมื่อเราประเมินมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทออกมาได้แล้ว เราจะต้องกำหนดส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย หรือ Margin of Safety เอาไว้เสมอด้วย
ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย มีไว้ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการวิเคราะห์ของเรา โดยเราจะต้องไม่ซื้อหุ้นของบริษัท ในราคาที่เกินกว่าที่กำหนดไว้เด็ดขาด
ตัวอย่างเช่น เราคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงของบริษัท A ออกมาได้ที่ 10 บาทต่อหุ้น
เราก็อาจจะกำหนดว่า ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยในการลงทุน อยู่ที่ 50%
ดังนั้น เราก็จะซื้อหุ้นของบริษัท A ไม่เกิน 5 บาทต่อหุ้นเท่านั้น
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็ขอนำหลักการข้างต้นมากล่าวโดยสรุปอีกครั้ง
สรุปแล้ว หลักการในการลงทุนหุ้นที่จ่ายเงินปันผลดี ที่จะสร้างกระแสเงินสด ให้เราเก็บกินไปได้อย่างยาวนาน มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 6 ข้อ
1. หาบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้เจอ
2. บริษัทต้องมีผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น สูงกว่า 15%
3. บริษัทต้องมีหนี้น้อย
4. บริษัทต้องมีกระแสเงินสดอิสระที่เป็นบวก และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
5. มีประวัติการจ่ายเงินปันผลที่เพิ่มขึ้น อย่างสม่ำเสมอ
6. รอซื้อหุ้น ตอนที่ราคาถูก
หากเราทำได้ดังนี้ อดทน เก็บออม และลงทุนต่อไปเรื่อย ๆ อย่างมีวินัย เงินปันผลที่ได้รับมา ก็นำกลับไปลงทุนเพิ่ม ยังไม่เอาออกมาใช้
สักวันกระแสเงินสดที่เราได้จากการลงทุนในรูปของเงินปันผล ก็น่าจะเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายทั้งหมดของเรา
และวันนั้น ก็คือวันที่เราจะบอกกับตัวเองได้อย่างเต็มปากว่า “ฉันมีอิสรภาพทางการเงินแล้ว..”
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#หุ้นปันผล
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.