สรุป 5 ขั้นตอน วางแผนเกษียณวันนี้ แถมประหยัดภาษีง่าย ๆ ลงมือทำตามได้จริง
4 พ.ย. 2024
ชีวิตเปรียบเสมือนฤดูกาลที่หมุนเวียนไปเรื่อย ๆ ซึ่งในหลายครั้ง เราเองก็มัวแต่เพลิดเพลินกับช่วงเวลาในวัยเด็ก และความเร่งรีบในวัยหนุ่มสาว ที่ต้องทำงานหนักเพื่อสร้างความมั่งคั่ง
ก็ทำให้หลายคน อาจเผลอลืมคิดถึงช่วงชีวิตบั้นปลาย นั่นก็คือ วัยเกษียณ ที่เราไม่สามารถใช้แรงกายหาเงินได้ มากเท่าแต่ก่อนอีกแล้ว
การเตรียมตัววางแผนการเกษียณตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม
ถ้าหากอยากรู้เทคนิคการคำนวณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ และเครื่องมือการวางแผนเกษียณที่น่าสนใจ
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
การเตรียมความพร้อมทางการเงินสำหรับวัยเกษียณ เป็นการวางแผนเพื่อให้เรามีเงินเพียงพอที่จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในแบบที่เราต้องการ โดยไม่ต้องพึ่งพา หรือเป็นภาระให้ลูกหลาน
เราสามารถวางแผนเกษียณได้ง่าย ๆ โดยเริ่มต้นจาก
1. กำหนดอายุที่จะเกษียณ
การกำหนดอายุเกษียณ เป็นสิ่งที่บอกเราว่า ตอนนี้เหลือเวลาเก็บเงินเตรียมเกษียณอีกนานเท่าไร เพราะว่าหลังจากพ้นอายุเกษียณไป การจะหารายได้จากการทำงานมาเพิ่มก็ยากขึ้นแล้ว
โดยคนส่วนใหญ่ก็จะเกษียณจากการทำงาน ในอายุประมาณ 55 ถึง 60 ปี
แต่ในปัจจุบันนี้ก็อาจจะมีเทรนด์เกษียณเร็ว โดยเกษียณอายุในช่วงวัยแค่ 40 ปีเท่านั้น แต่ก็ต้องแลกมากับการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูง ๆ หรือเก็บต่อเดือนให้ได้มากที่สุด เพราะเวลาเก็บเงินค่อนข้างสั้นกว่าคนทั่วไป
2. ประมาณการช่วงระยะเวลาหลังเกษียณ
เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่เงินหมด แต่เรายังไม่ตาย จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก การรู้ว่าเราจะต้องใช้เงินหลังเกษียณไปอีกกี่ปี จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
แน่นอนว่าไม่มีใครรู้วันตายของตัวเองได้ แต่เราสามารถประเมินจากอายุขัยเฉลี่ย ของญาติพี่น้องในครอบครัวได้
ดูประกอบกับความแข็งแรงของร่างกาย รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา ว่ามีความเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อยแค่ไหน
หรือไม่ก็ใช้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรไทยเลยก็ได้ โดยจากข้อมูลสถิติประชากร ผู้ชายจะมีอายุเฉลี่ยที่ 75 ปี และผู้หญิงจะมีอายุเฉลี่ยที่ 81 ปี
หรือก็คือโดยเฉลี่ยแล้ว เวลาใช้เงินของเราหลังเกษียณจะอยู่ที่ประมาณ 15 ถึง 20 ปีนั่นเอง ในกรณีที่เกษียณอายุเมื่ออายุ 60 ปี
3. ประมาณการค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ
ตามหลักการแล้ว ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 70% ของค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณ
เนื่องจากค่าใช้จ่ายหลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวกับการทำงานก็จะลดลง ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าเข้าสังคม รวมถึงภาษี
โดยสูตรในการคำนวณ จำนวนเงินที่ควรจะมีให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ ก็คือ
ค่าใช้จ่ายต่อปีหลังเกษียณ x จำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตหลังเกษียณ = จำนวนเงินที่ต้องมี ณ วันเกษียณ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ
คุณ A มีค่าใช้จ่ายช่วงก่อนเกษียณเท่ากับ 50,000 บาท และคาดว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณไปอีก 20 ปี
ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจะอยู่ที่ 35,000 บาทต่อเดือน
คิดเป็นปีละ 420,000 บาท
และเมื่อนำไปคูณกับ 20 ปี ก็จะได้เท่ากับ 8,400,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่คุณ A ต้องเตรียมไว้สำหรับค่าใช้จ่ายหลังเกษียณนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เราก็ควรระวังไว้ว่า จำนวนเงินนี้ยังไม่ได้คำนวณรวมเงินเฟ้อ จึงทำให้เราอาจจะต้องมีเงินสำหรับการเกษียณจำนวนมากกว่าที่คำนวณได้เล็กน้อย
4. ประมาณการแหล่งรายได้หลังเกษียณ
แม้หลังเกษียณเราจะไม่ได้ทำงานแล้ว แต่รัฐก็ยังมีสวัสดิการให้กับผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณอยู่ เช่น เงินชราภาพ เงินบำเหน็จบำนาญประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับพนักงานเอกชน หรือบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
โดยเราก็จะเอารายได้เหล่านั้น มาคิดรวมว่าหลังเกษียณเราจะมีรายได้จากแหล่งรายได้เหล่านี้ ทั้งหมดเท่าไร
จากนั้นเราก็นำมาเทียบกันกับค่าใช้จ่ายหลังเกษียณที่คำนวณไว้ก่อนหน้านี้ ว่าเพียงพอหรือไม่ เพราะถ้าไม่เพียงพอ ก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเริ่มทำขั้นตอนต่อไป
5. วางแผนการออมและการลงทุน
จากการประมาณการรายได้และค่าใช้จ่ายหลังเกษียณในขั้นตอนก่อนหน้านี้ เราก็จะรู้ว่าเราต้องเก็บเงินเพิ่มอีกเท่าไร เพื่อจะได้วางแผนการออม การลงทุนให้เหมาะสม
โดยการวางแผนเกษียณก็มีเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนผ่านหุ้น ตราสารหนี้ หรืออสังหาฯ ทั้งด้วยตัวเอง และผ่านกองทุนรวม
แต่ถ้าหากเราอยากวางแผนเกษียณในวันหน้า แต่ก็อยากได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในวันนี้ด้วย ก็สามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
แต่รู้หรือไม่ว่า มีอีกหนึ่งเครื่องมือทางการเงินที่ออกแบบมาเพื่อการเกษียณโดยเฉพาะ นั่นคือ ประกันแบบบำนาญ
โดย ประกันบำนาญ มีลักษณะเหมือนการนำเงินออมไปฝากไว้ตามระยะเวลาของแบบประกัน จากนั้นในช่วงวัยเกษียณเราจะได้รับเงินผลตอบแทนกลับมาในจำนวนเงินที่แน่นอนเป็นงวด ๆ ตามที่ระบุในกรมธรรม์
ด้วยความที่ได้เงินบำนาญกลับมาแน่นอน โดยไม่ต้องกังวลกับความผันผวนของตลาดการเงิน ก็ถือเป็นจุดเด่นของประกันบำนาญ ที่ตอบโจทย์เรื่องรายได้ที่มั่นคงหลังเกษียณเป็นอย่างดี
อีกหนึ่งข้อดีสำคัญของประกันบำนาญคือ เบี้ยประกันสามารถลดหย่อนภาษีได้ 15% ของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุน RMF และกองทุน SSF แล้ว สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
อ่านถึงตรงนี้ก็จะเห็นว่า เราสามารถวางแผนเกษียณได้ง่าย ๆ โดยเริ่มต้นจากการกำหนดอายุเกษียณ ประมาณการระยะเวลาและค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ ตรวจสอบแหล่งรายได้ ไปจนถึงการวางแผนการออมและการลงทุน
โดยการวางแผนการออมและการลงทุน ก็มีเครื่องมือหลากหลายมาก เราควรศึกษาข้อมูลและเลือกใช้ให้เหมาะกับตัวเราเอง
ซึ่งถ้าหากถามว่า เราควรจะเริ่มต้นทำเรื่องเหล่านี้วันไหน คำตอบเดียวที่ได้ก็คือ “วันนี้”
เพราะสุดท้ายการเริ่มต้นวางแผนเร็วเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้เราสามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินในวัยเกษียณได้มากขึ้นเท่านั้น
เพื่อให้บั้นปลายชีวิตเราเต็มไปด้วยความสุขและความมั่นคง โดยไม่ต้องเป็นภาระให้กับใคร..
References