สรุป ค่าธรรมเนียม ที่ต้องรู้จัก ก่อนลงทุนกองทุนรวม

สรุป ค่าธรรมเนียม ที่ต้องรู้จัก ก่อนลงทุนกองทุนรวม

30 พ.ค. 2024
ด้วยการกระจายความเสี่ยงที่ดี แถมยังมีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพดูแล กองทุนรวม จึงเป็นเครื่องมือทางการเงิน ที่ไม่ว่าใครก็ควรจะลงทุนไว้บ้าง 
อย่างไรก็ตาม การมีคนคอยดูแลเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้เรา ก็ย่อมต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่าย 
นั่นก็คือ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของกองทุน ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ. จะเก็บจากเรานั่นเอง 
แล้วค่าธรรมเนียมของกองทุนรวม ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ค่าธรรมเนียมกองทุนรวม จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ
1. ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วย 
2. ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุน
มาเริ่มกันที่ประเภทที่ 1 คือ ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วย ก่อน
ค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ จะหักจากเงินของเราโดยตรง ในตอนที่ทำการโยกย้ายเงินเข้าออกจากกองทุน ซึ่งประกอบไปด้วย  
- ค่าธรรมเนียมการขาย (Front-End Fee) 
ค่าธรรมเนียมนี้ จะเรียกเก็บเมื่อกองทุนขายหน่วยลงทุน หรือก็คือเวลาที่เราซื้อหน่วยลงทุนนั่นเอง
โดยค่าธรรมเนียมนี้ จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดเงินตอนที่เราซื้อกองทุน
- ค่าธรรมเนียมการซื้อ (Back-End Fee) 
เป็นค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บ เมื่อกองทุนซื้อหน่วยลงทุน หรือก็คือเวลาที่เราขายหน่วยลงทุนคืนนั่นเอง
โดยค่าธรรมเนียมนี้ ก็จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าหน่วยลงทุนในตอนที่เราขายเช่นกัน
- ค่าธรรมเนียมการสับเปลี่ยน (Switching Fee) 
เมื่อกองทุนที่เราลงทุน มีผลการดำเนินงานไม่ถูกใจเรา วิธีย้ายไปกองทุนใหม่ ไม่ได้มีแค่การขายแล้วไปซื้อใหม่เท่านั้น 
แต่ยังมีการสับเปลี่ยนไปยังกองทุนใน บลจ. เดียวกัน หรือแม้แต่ข้าม บลจ. ด้วย 
โดยการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน ทั้งการสับเปลี่ยนเข้ามาในกองทุนใหม่ หรือสับเปลี่ยนออกจากกองทุนเก่า ก็จะมีค่าธรรมเนียมเช่นกัน 
แต่ค่าธรรมเนียมส่วนนี้ บางกองทุนก็อาจจะไม่เก็บ เพราะเราเสียค่าธรรมเนียมตั้งแต่ตอนซื้อขายแล้ว 
- ค่าธรรมเนียมการโอนหน่วย (Transfer Fee) 
หน่วยลงทุนของกองทุนรวมนั้น สามารถโอนให้กับผู้อื่นได้ เช่น เราอยากจะโอนสิทธิ์ การเป็นเจ้าของหน่วยลงทุนในกองทุน S&P 500 ที่มีอยู่ให้กับลูก
ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ เมื่อทำการโอนสิทธิ์ 
โดยส่วนใหญ่แล้ว ค่าธรรมเนียมนี้ มักจะไม่ได้คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่คิดเป็นจำนวนเงิน ต่อหน่วยลงทุน เช่น 10 บาท / 1,000 หน่วยลงทุน เป็นต้น  
มาต่อกันที่ประเภทที่ 2 คือ ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุน
ค่าธรรมเนียมตรงนี้ จะไม่ได้เรียกเก็บจากจำนวนเงินของเราตรง ๆ เหมือนค่าธรรมเนียมประเภทแรก 
แต่จะหักออกจากตัวของราคา NAV ในทุก ๆ วัน เราจึงไม่ได้เห็นชัด ๆ ว่ากำลังจ่ายค่าธรรมเนียมออกไปนั่นเอง โดยค่าธรรมเนียมประเภทนี้ ก็จะประกอบไปด้วย 
- ค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management Fee) 
อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่า กองทุนรวมนั้นมีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ เป็นคนดูแลเงินให้กับเรา  
ซึ่งตัวผู้จัดการกองทุนเอง ก็ต้องกินต้องใช้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ค่าธรรมเนียมการจัดการ จึงเป็นเหมือนค่าตอบแทนของผู้จัดการกองทุน ที่ดูแลความมั่งคั่งของเรา
โดยค่าธรรมเนียมนี้ มักคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ หรือราคา NAV ของกองทุนที่เราลงทุนอยู่
นอกจากนี้ ค่าธรรมเนียมในส่วนนี้จะสูงสำหรับกองทุนที่มีนโยบายชนะตลาด หรือ Active Funds เพราะผู้จัดการกองทุนต้องซื้อขายบ่อย 
ในขณะที่ Passive Funds ที่มีนโยบายลงทุนให้ล้อไปกับตลาด จะมีค่าธรรมเนียมต่ำกว่า เพราะผู้จัดการกองทุนไม่ต้องทำการซื้อขายบ่อยเท่า 
เพราะฉะนั้น เวลาจะเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมว่ากองทุนไหนถูกหรือแพง ก็ควรต้องเทียบกองทุนที่ลงทุนในนโยบายเดียวกัน และในสินทรัพย์แบบเดียวกันด้วย 
- ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ (Trustee Fee) 
เพื่อที่จะกำกับดูแลและตรวจสอบ การดำเนินงานของกองทุน ให้ทำตามนโยบายที่แจ้งไว้ รวมถึงรับรองความถูกต้องของราคา NAV เราจึงต้องมีผู้ดูแลผลประโยชน์ หรือ Trustee ไว้ 
ทำให้ค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ ก็จะนำไปเป็นค่าตอบแทนของทาง Trustee นั่นเอง
- ค่าธรรมเนียมนายทะเบียน (Registrar Fee) 
เหมือนดังเช่นชื่อกองทุนรวม ในกองทุนแต่ละกอง ก็จะมีผู้คนเข้ามาลงทุนด้วยกัน เป็นจำนวนมากมายหลายร้อยคน  
นายทะเบียน จึงเป็นอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญ เพราะต้องดูแลและตรวจสอบรายชื่อของผู้ถือหน่วยลงทุน ในกองทุนรวม ให้ถูกต้อง ซึ่งสำคัญมาก ๆ โดยเฉพาะกับกองทุนจ่ายปันผล 
ซึ่งค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ ก็จะนำไปเป็นค่าตอบแทนให้กับนายทะเบียนต่อไป 
โดยค่าธรรมเนียม 2 ส่วนหลัง อย่างค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ และนายทะเบียน เรามักจะไม่ได้เห็นในหนังสือชี้ชวน 
เพราะว่าค่าธรรมเนียมเหล่านี้ จะถูกรวมไว้ในส่วนรวมค่าใช้จ่าย หรือ Total Expense Ratio แล้ว 
ถึงตรงนี้เราก็น่าจะเริ่มเห็นภาพบ้างแล้วว่า ค่าธรรมเนียมกองทุนที่เราจะไปลงทุนนั้น มีอะไรบ้าง
โดยค่าธรรมเนียมนั้น แม้จะดูเหมือนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ในวันนี้ แต่ในตอนที่เรามีเงินลงทุนเยอะขึ้น หรือต้องลงทุนไปนานถึง 10 หรือ 20 ปี
ค่าธรรมเนียมที่เราไม่สนใจเหล่านี้ ก็สามารถลดผลตอบแทนที่เราควรจะได้รับ เป็นเงินจำนวนมากเลย
ดังนั้น นอกจากจะดูนโยบายการลงทุน, ความเสี่ยง และผลตอบแทนของกองทุนแล้ว 
เราก็ควรที่จะดูค่าธรรมเนียมของกองทุน ว่าเหมาะสมกับผลตอบแทนที่เราจะได้รับ และสอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนของเราหรือไม่ด้วย.. 
References 
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.