สรุป 10 ข้อ โรงงานไทย ทยอยปิดตัว กำลังบอกอะไรเรา จาก KKP Research

สรุป 10 ข้อ โรงงานไทย ทยอยปิดตัว กำลังบอกอะไรเรา จาก KKP Research

12 มิ.ย. 2024
ภาคอุตสาหกรรม ก็ถือเป็นหนึ่งในกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย เพราะถึงแม้ว่าภาคบริการอย่างการท่องเที่ยว จะมีมูลค่ามากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจ 
แต่ภาคอุตสาหกรรมนั้น ก็ยังจำเป็นอยู่ เพราะผู้คนยังต้องใช้สินค้าอุปโภคบริโภคอยู่ รวมถึงโรงงานที่ผลิตสินค้าต่าง ๆ เพื่อการส่งออก 
อันเป็นมรดกมาจากตอนที่ประเทศไทยยังค่าแรงต่ำ จนกลายเป็นฐานการผลิตให้กับบริษัทข้ามชาติจากหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น 
อย่างไรก็ตาม จากบทวิเคราะห์ของ KKP Research ล่าสุด ได้แสดงให้เราเห็นว่า สถานการณ์ของภาคอุตสาหกรรมไทยนั้น ค่อนข้างน่าเป็นห่วงเลยทีเดียว 
แล้วรายละเอียดของบทวิเคราะห์นั้นมีอะไรบ้าง
MONEY LAB จะย่อยให้เข้าใจง่าย ๆ ใน 10 ข้อ 
1. ตั้งแต่ต้นปี 2023 ถึงไตรมาสแรกของปี 2024 มีโรงงานปิดตัวไปกว่า 1,700 แห่ง เพิ่มขึ้น 54% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
2. โรงงานใหม่เปิดตัวน้อยลง ในขณะที่โรงงานเก่าก็ทยอยปิดตัวลงเช่นกัน จากยอดเปิดตัวโรงงานสุทธิ 150 แห่งต่อเดือน เหลือเพียง 50 แห่งต่อเดือน 
3. กลุ่มโรงงานที่ปิดตัวมากสุด เพราะมีการผลิตลดลง คือ อุตสาหกรรมเครื่องหนัง, ยาง, อุตสาหกรรมการเกษตร, ไม้ และเครื่องจักร 
4. โรงงานขนาดใหญ่ปิดตัวมากขึ้น แต่โรงงานขนาดเล็กเปิดตัวมากขึ้นแทน จากในปี 2021 ที่มีสัดส่วนโรงงานขนาดใหญ่ที่ปิดต่อโรงงานปิดทั้งหมด ไม่ถึง 20% 
แต่ในปี 2024 สัดส่วนโรงงานขนาดใหญ่ที่ปิดต่อโรงงานปิดทั้งหมด คิดเป็นเกือบ 40% ในขณะที่โรงงานเล็กกลับปิดตัวน้อยลงแทน
ซึ่งเป็นภาพที่น่าสนใจ เพราะปกติแล้วโรงงานขนาดเล็ก มีฐานะทางการเงินที่เปราะบางมากกว่า ทั้งเงินทุนหมุนเวียนน้อย และมีรายได้ที่น้อยกว่า
แต่กลายเป็นว่า โรงงานขนาดใหญ่ปิดตัวมากขึ้นแทน ทั้ง ๆ ที่โรงงานขนาดใหญ่ น่าจะมีสถานะทางการเงินดีกว่าโรงงานขนาดเล็ก สะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตที่หดตัวลง
5. หนี้เสียในภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต ซึ่งสัมพันธ์กับจำนวนโรงงานที่ปิดเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง 
6. ภาคอุตสาหกรรมไทยที่หดตัว อาจไม่ได้มาจากปัจจัยชั่วคราวเพียงอย่างเดียว แต่อาจมาจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางเทคโนโลยี รวมไปถึงความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทย ที่อาจแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ยากขึ้น 
7. ภาพรวมอุตสาหกรรมไทยหลังจากนี้ จะฟื้นตัวได้ไม่เท่ากันในแต่ละหมวดธุรกิจ โดยสินค้าที่ยังฟื้นตัวได้ดี คิดเป็น 47% ของมูลค่าการผลิตทั้งหมด 
8. หลังจากนี้ จะมีอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวได้บ้าง ขึ้นอยู่กับการจัดการสินค้าคงคลังในแต่ละช่วง ซึ่งหากสินค้าคงคลังลดลง การผลิตสินค้าก็จะกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นแทน 
9. อุตสาหกรรมการผลิตที่ได้รับผลกระทบหนัก เช่น ฮาร์ดไดรฟ์ และเหล็ก ซึ่งมาจากการแข่งขันด้านราคาจากจีน และการเปลี่ยนแปลงของความต้องการสินค้าในตลาดโลก
ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิต ที่จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยโครงสร้างที่เปลี่ยนไปนี้ คิดเป็น 35% ของมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตทั้งหมด 
10. แม้ในช่วงที่ผ่านมา ภาคการผลิตของอุตสาหกรรมไทยจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง แต่ KKP Research มองว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยยังน่าเป็นห่วงอยู่ 
ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในสินค้าที่ไทยส่งออกหลัก เช่น รถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทำให้ภาคการผลิตไทย ต้องปรับตัว 
รวมไปถึงการแข่งขันด้านราคาจากจีน ที่มีต้นทุนสินค้าต่ำกว่าไทย ซึ่งสินค้าจีนอาจทะลักเข้ามามากขึ้น จากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ยังดำเนินต่อไป
และการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรง ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้การค้าโลกหดตัวลง จนกลับมากระทบประเทศไทย ที่เป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.. 
Reference
-KKP Research โรงงานไทยที่กำลังปิดตัวบอกอะไรเรา?
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.