สรุป 6 ข้อ มนุษย์เงินเดือน วางแผนภาษีอย่างไร เข้าใจได้ในโพสต์เดียว

สรุป 6 ข้อ มนุษย์เงินเดือน วางแผนภาษีอย่างไร เข้าใจได้ในโพสต์เดียว

14 ต.ค. 2024
ในช่วงใกล้จะสิ้นปีอย่างนี้ ก็เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์เงินเดือนทุกคน ควรเตรียมตัววางแผนการเงินให้ดี เพื่อจะได้เริ่มต้นปีหน้าได้อย่างสบายใจ ไม่มีอะไรติดขัด
ซึ่งหนึ่งในเรื่องของการวางแผนทางการเงินที่สำคัญมากในช่วงปลายปี ก็คือการวางแผนลดหย่อนภาษี
หากเราจัดการเรื่องนี้ได้ดี ก็จะช่วยให้เราลดหย่อนเงินภาษีที่เราจะต้องจ่าย ในช่วงต้นปีหน้า ไปได้เยอะมาก
หากสงสัยว่า แล้วมนุษย์เงินเดือนควรจะวางแผนภาษีอย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ 
อย่างที่เราคงพอรู้กันมาบ้างว่า จำนวนเงินภาษีที่เราจะต้องจ่ายในแต่ละปีนั้น จะคำนวณมาจาก
รายได้รวม - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน
ซึ่งสิ่งที่เหลือนี้ เรียกว่า “เงินได้สุทธิ”
การคำนวณภาษี จะเป็นการคำนวณแบบขั้นบันได ยิ่งเรามีเงินได้สุทธิมาก ทำให้เรามีฐานภาษีสูง เราก็จะยิ่งต้องจ่ายภาษีมาก
แต่ถ้าเราใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างเต็มที่ ทำให้เงินได้สุทธิเหลือน้อย ภาษีที่เราจะต้องจ่าย ก็จะน้อยลงนั่นเอง
สำหรับสิทธิลดหย่อนภาษี ที่เราควรรู้จักเอาไว้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเรามาก ประกอบด้วย
1. ค่าใช้จ่าย และสิทธิลดหย่อนภาษีส่วนตัว
สิทธิที่เราได้รับเริ่มแรก ไม่ว่าเราจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมหรือไม่ก็คือ 
สิทธิในการหักค่าใช้จ่าย 50% ของรายได้ทั้งปี แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท และอีกสิทธิคือ สิทธิลดหย่อนส่วนตัวของเรา 60,000 บาท
สมมติเรามีรายได้ทั้งปี 200,000 บาท ก็เท่ากับว่า เราได้สิทธิลดหย่อนภาษีเริ่มต้นไปแล้ว 160,000 บาทนั่นเอง
2. เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
เป็นเงินที่เราจะถูกหักออกไป 5% ของเงินเดือนในทุกเดือน แต่จะไม่เกิน 750 บาท
เพื่อจะนำไปสมทบกองทุนประกันสังคม สำหรับคุ้มครองการเจ็บป่วย หรือเสียชีวิต, ประกันการว่างงาน และเก็บออมไว้จ่ายคืน เมื่อเราชราภาพ
ซึ่งในส่วนของเงินสมทบกองทุนประกันสังคม จะถือว่า ในทุกเดือน เราได้ถูกหักเงินไป และนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้อยู่แล้ว
โดยเงินสมทบกองทุนประกันสังคม จะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 9,000 บาท
3. ประกันสุขภาพ และประกันชีวิต
จะมีอยู่ 2 แบบ คือ ประกันชีวิต และประกันสุขภาพ โดยประกันทั้ง 2 ชนิดนี้ หากเราทำแล้ว จะนำมาเป็นสิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท
4. ประกันบำนาญ
เป็นประกันที่จะให้ความคุ้มครอง ในการการันตีรายได้ให้กับเราหลังเกษียณ โดยเราจะต้องจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันต่อเนื่องให้ครบก่อน จึงจะได้รับเงินบำนาญ
สำหรับประกันบำนาญสามารถนำมาเป็นสิทธิลดหย่อนภาษีได้ 15% ของรายได้รวม แต่สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
5. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund เป็นกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้าง ร่วมกันจัดตั้งขึ้น เพื่อเก็บออมเงินไว้ให้ลูกจ้าง ได้มีเงินใช้หลังเกษียณ
โดยหลักการก็คือ เงินเดือนของเราจะถูกหักออกไปบางส่วน เช่น 3% - 15% ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท 
และนายจ้างก็จะช่วยสมทบเงินในจำนวนเท่ากัน แล้วเอาเงินทั้ง 2 ก้อนนี้ ไปลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงยต่อไป
ซึ่งเงินเดือนที่ถูกหักออกไปลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ เราสามารถนำมายื่นเพื่อลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย โดยจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของรายได้รวมในปีนั้น และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท 
6. ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีเพิ่ม
ประกอบด้วย 2 ประเภท คือ
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ กองทุน RMF
- กองทุนรวมเพื่อการออม หรือ กองทุน SSF
ทั้ง 2 กองทุน มีความแตกต่างกันในเชิงรายละเอียดอยู่บ้าง คือ
- SSF ต้องถืออย่างน้อย 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ โดยไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี
สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 30% ของรายได้รวมในปีนั้น แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- RMF ต้องถืออย่างน้อย 5 ปี นับจากวันที่ซื้อ โดยจะสามารถเริ่มขายได้ตอนเราอายุ 55 ปี และจะต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี จนกว่าจะถึงอายุ 55 ปี
สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 30% ของรายได้รวมในปีนั้นเช่นกัน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
อย่างไรก็ตาม หากเราใช้สิทธิลดหย่อนด้วย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ประกันบำนาญ, กองทุน SSF และกองทุน RMF
ทั้งหมดนี้ เมื่อรวมกันแล้ว เราจะใช้สิทธิลดหย่อนสูงสุดได้ไม่เกิน 500,000 บาท
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่า เราคงพอเข้าใจกันดีขึ้นว่า มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ควรวางแผนภาษีอย่างไรกันบ้าง
เพราะความต้องการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นการวางแผนลดหย่อนภาษี จึงไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัว
บางคนอยากเน้นหนักไปที่การทำประกัน เพื่อเน้นความปลอดภัยของชีวิต แต่สำหรับบางคน ก็อาจจะอยากเน้นหนักไปที่ด้านการลงทุน เพราะอยากเพิ่มพูนความมั่งคั่ง
ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่เราควรรู้จัก ก่อนที่จะไปเริ่มวางแผนภาษีกัน ก็คงหนีไม่พ้น “การรู้จักตัวเอง” เสียก่อน
เพราะหากเรารู้จักตัวเองเป็นอย่างดีแล้วว่า ชีวิตเราต้องการอะไรกันแน่ เราก็จะจัดสรรสิ่งที่ดีที่สุด ให้กับชีวิตของเราได้ ซึ่งการวางแผนภาษี ก็มีหลักการไม่ต่างกัน..
#วางแผนการเงิน 
#TaxFest2024
#ภาษีนี้มีแต่ได้
Reference:
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.