สรุป หลักการลงทุนหุ้นนอก 4 ข้อ ของคุณอัพ ผู้ก่อตั้งลงทุนแมน

สรุป หลักการลงทุนหุ้นนอก 4 ข้อ ของคุณอัพ ผู้ก่อตั้งลงทุนแมน

8 ต.ค. 2024
บทความนี้สรุปจากงาน Workshop ลงทุนนอก ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2024 ซึ่งจะครอบคลุมถึงเรื่องหลักการลงทุนหุ้นนอก ของคุณอัพ ธณัฐ เตชะเลิศ ผู้ก่อตั้งลงทุนแมน
โดยจุดเริ่มต้นคือ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เขาก็พบว่า ผู้คนส่วนใหญ่ต่างกำลังก้มหน้าก้มตาเล่นโทรศัพท์มือถือ ไม่ค่อยจะเงยหน้ากันสักเท่าไร
แล้วสิ่งที่ผู้คนกำลังเล่นกันอยู่นั้น มีอะไรบ้างล่ะ ?
- บ้างก็เล่น Facebook
- บ้างก็เล่น Instagram
- และบ้างก็กำลังเซิร์ชหาข้อมูลโดยใช้ Google
ในจังหวะนั้นเอง เขาก็พลันนึกขึ้นได้ว่า สิ่งเหล่านี้ได้เข้ามาอยู่ในชีวิตของคนเรา จนดูเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
ในเมื่อเราก็ใช้บริการสิ่งเหล่านี้อยู่ทุกวัน ทำไมเราไม่ลองขยับมาเป็นเจ้าของบริษัทเหล่านี้ดูบ้าง ?
ตอนนั้นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้คุณอัพ ตัดสินใจที่จะเริ่มหันไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศ แบบจริงจัง
และนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เขาก็ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในบริษัทดี ๆ ระดับโลก มาไม่ใช่น้อยเลย
แล้วเวลาที่ผ่านมา 10 ปีนี้ คุณอัพได้ตกผลึกหลักการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ อะไรบ้าง
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
สำหรับหลักการลงทุนในหุ้นต่างประเทศของคุณอัพนั้น จะสรุปออกมาได้เป็น 4 ข้อ
1. วิเคราะห์ด้าน เกมรุก ของบริษัท
ก่อนที่จะลงทุนในบริษัทไหนก็ตาม คุณอัพจะเริ่มจากทำการวิเคราะห์บริษัทนั้น โดยแบ่งออกมาเป็น 2 ด้านก่อน คือ เกมรุก และ เกมรับ
โดยในแต่ละด้านจะประกอบไปด้วยคำถาม 3 ข้อ ซึ่งแต่ละข้อนั้น เราจะต้องให้คะแนนระหว่าง 0 หรือ 1 คะแนน
0 คะแนน หมายถึง บริษัทนี้ไม่มีความสามารถในด้านนี้เลย และส่วน 1 คะแนน หมายถึง บริษัทนี้มีความสามารถในด้านนี้
มาเริ่มกันที่ ด้านเกมรุกก่อนเลย โดยในด้านนี้จะเป็นการวิเคราะห์ศักยภาพการเติบโตของบริษัท ซึ่งจะมีคำถามอยู่ 3 ข้อ ที่เราต้องตอบ
- บริษัทนี้ถือว่าเป็น Global Brand ที่มีความสามารถขยายไปได้ทั่วโลก ใช่หรือไม่ ?
ถ้าใช่ก็หมายความว่า ตลาดของธุรกิจที่บริษัททำอยู่ มีขนาดใหญ่มาก แถมบริษัทนี้ก็ดูจะมีโอกาสในการเติบโตไปได้อีกยาวไกลด้วย
- ต้นทุนส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นต้นทุนคงที่ ทำให้เมื่อรายได้เติบโตแล้ว ต้นทุนจะเพิ่มตามไม่มาก ใช่หรือไม่ ?
ถ้าต้นทุนส่วนใหญ่ของบริษัทเป็น Fixed Cost หรือต้นทุนคงที่ จะทำให้ เมื่อบริษัทขยายธุรกิจไปแล้ว รายได้เติบโตขึ้น กำไรของบริษัทจะเติบโตมากกว่ารายได้ เรียกว่า บริษัทมี “Operating Leverage”
- รายได้ของบริษัท มีส่วนผสมจากในด้านของ Business to Business หรือ B2B ด้วยหรือไม่ ?
จากประสบการณ์ส่วนตัว คุณอัพมองว่า บริษัทที่มีรายได้มาจากลูกค้าประเภทองค์กรด้วย ดูจะมีการเติบโตได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านการลดลงของประชากร ที่คุณอัพมองว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ของโลกในอนาคต
แต่ธุรกิจ B2B นี้ต้องเป็นธุรกิจที่องค์กรอื่นต้องการ ไม่ใช่เป็นแค่ OEM รับจ้างผลิตเท่านั้น
2. วิเคราะห์ด้าน เกมรับ ของบริษัท
ในด้านของเกมรับ จะเป็นการวิเคราะห์ว่า บริษัทนี้มีความแข็งแกร่งมากพอ ที่จะป้องกันไม่ให้คู่แข่ง แย่งส่วนแบ่งทางธุรกิจไปได้
มีคำถามอยู่ 3 ข้อ ที่เราจะต้องตอบให้ได้เช่นกัน คือ
- บริษัทนี้มีพลังของเครือข่าย หรือ Network Effect ใช่หรือไม่ ?
การมี Network Effect หมายถึง ยิ่งบริษัทมีคนเข้ามาใช้บริการมากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งสามารถดึงดูดผู้คนหน้าใหม่ ๆ ให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้นได้ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีคุณค่าทางธุรกิจสูงขึ้น
- บริษัทนี้มีความสามารถทางการแข่งขัน เหนือกว่าคู่แข่งท้องถิ่นในแต่ละประเทศ ใช่หรือไม่ ?
ถึงบริษัทจะมีความสามารถในการขยายธุรกิจไปทั่วโลกได้ก็จริง แต่เราก็ต้องอย่าลืมวิเคราะห์ความสามารถของคู่แข่งในแต่ละประเทศ ที่บริษัทนี้จะบุกเข้าไปด้วย
เพื่อตรวจสอบว่า บริษัทที่เราสนใจจะลงทุนนี้ มีความได้เปรียบเหนือกว่าคู่แข่ง อย่างชัดเจนจริงไหม
- มี Switching Cost สูงหรือไม่ ?
การที่บริษัทมี Switching Cost หรือต้นทุนในการเปลี่ยนไปใช้บริการเจ้าอื่นที่สูง จะทำให้บริษัทของเรามีความได้เปรียบเป็นอย่างมาก
เพราะหมายความว่า ลูกค้าแทบจะไม่อยากเปลี่ยนไปใช้บริการกับเจ้าอื่นแทนของเราเลย
นอกจากนี้ ความได้เปรียบในการมี Switching Cost สูง ยังจะทำให้เรามีความสามารถในการปรับขึ้นราคาได้อีกด้วย
3. รวมคะแนนทั้งหมด จากทั้ง 6 คำถาม
เมื่อเราทำการวิเคราะห์ทั้งด้านเกมรุก และเกมรับแล้ว เราก็จะนำคะแนนของคำถามแต่ละข้อ มารวมกัน เพื่อกรองหาหุ้นดี ๆ
คุณอัพมองว่า บริษัทที่ได้คะแนนรวมกัน 5 คะแนน จะนับว่าเป็นบริษัทคุณภาพดี ให้เป็นเกรด A
แต่ถ้าคะแนนรวมกันแล้ว ได้ 6 คะแนนเต็ม จะถือว่าบริษัทนี้มีคุณภาพดีมาก ให้เป็นเกรด A+
4. ประเมินมูลค่าแบบง่าย ๆ ด้วย EV/EBITDA
เมื่อเราเลือกหุ้นคุณภาพดีมากมาได้แล้ว ต่อไปก็คือการประเมินมูลค่าแบบง่าย ๆ เพื่อจะดูว่า ราคาหุ้นในตอนนี้ เราควรซื้อหุ้นแล้วหรือยัง
สำหรับวิธีที่คุณอัพ ใช้ในการประเมินมูลค่า
ก็คือ EV/EBITDA..
โดยจะเป็นการเปรียบเทียบระหว่าง มูลค่าของกิจการ หรือ Enterprise Value (EV) เทียบกับกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ Earnings Before Interest, Taxes, Depreciation and Amortization (EBITDA) นั่นเอง
- สำหรับ EV นั้น คำนวณหาได้โดย
มูลค่าบริษัท + หนี้สินรวม - เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
- และ EBITDA คำนวณหาได้โดย
กำไรจากการดำเนินงาน + ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย
ถ้าให้ละเอียดก็ควรจะเอา EBITDA มาลบ CAPEX ออกด้วย หรือละเอียดไปกว่านั้นก็เอา Free Cash Flow มาใช้ แต่สำหรับบุคคลทั่วไปเพื่อให้เข้าใจง่าย เอา EBITDA มาใช้เลยก็ได้
ซึ่งค่า EV/EBITDA ที่เหมาะสม ที่เราสามารถซื้อหุ้นคุณภาพดีมากได้ โดยที่ไม่แพงจนเกินไป จะอยู่ในช่วงไม่เกิน 15-20 เท่า
แต่ถ้าเราคำนวณออกมาแล้ว พบว่า EV/EBITDA เกิดต่ำมากกว่านั้น นั่นก็หมายความว่า เรากำลังเจอบริษัทที่ดีมาก ซึ่งกำลังขายอยู่ในราคาที่ถูกมาก ๆ นั่นเอง
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่า เราคงเข้าใจกันดีขึ้นแล้วว่า คุณธณัฐ เตชะเลิศ หรือคุณอัพ มีหลักการลงทุนในหุ้นต่างประเทศอย่างไร
กล่าวโดยสรุปหลักการเหล่านี้อีกครั้ง
- วิเคราะห์ด้านเกมรุก และเกมรับ ของบริษัท และให้คะแนนแต่ละข้อ ตามความเป็นจริง
- เลือกมาเฉพาะบริษัทคุณภาพสูงมาก
- ซื้อหุ้นของบริษัท ในตอนที่มี EV/EBITDA ไม่เกินในช่วง 15-20 เท่า
หลักการข้างต้นนี้ แม้จะดูเหมือนเรียบง่ายมาก แต่กว่าที่จะตกผลึกมาได้แบบนี้ ก็ต้องผ่านช่วงเวลา ลองผิดลองถูกมาแล้วหลายครั้ง เป็นเวลานับ 10 ปี
ซึ่งพอคิดดูแล้ว หลักการที่ดูเรียบง่ายนี้ ก็แทบจะไม่ต่างกันเลย กับหลักธรรมง่าย ๆ แต่มีความหมายที่ลึกซึ้ง นั่นคือ
“สูงสุดคืนสู่สามัญ..”
สำหรับคนที่อยากดู Workshop ของคุณอัพ ธณัฐ เตชะเลิศ แบบตัวจริง ซึ่งใน Workshop มีการยกตัวอย่างบริษัทที่ผ่านเกณฑ์ทั้ง 6 ข้อด้วย สามารถซื้อบัตรดูย้อนหลัง RERUN ของงานลงทุนนอกได้ที่ลิงก์นี้ https://www.zipeventapp.com/e/longtunnork2024 (เห็นว่ามีจำนวนจำกัด 500 ท่านแรกเท่านั้น)
#ลงทุน
#หุ้นนอก
#ลงทุนแมน
References:
- งานลงทุนนอก 2024 วันที่ 5 ต.ค. 2024
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.