สรุป 3 ข้อ เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ ทศวรรษที่สูญหาย จาก SCB EIC
8 ส.ค. 2024
ประเทศญี่ปุ่น คือแบบอย่างประเทศพัฒนาแล้ว ที่ประเทศไทยอยากจะเจริญรอยตาม
เพราะส่วนหนึ่งคนไทยได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมญี่ปุ่น ผ่านการรับชมสื่อบันเทิงต่าง ๆ และรวมถึงการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นมาตั้งโรงงานอยู่ในประเทศไทย เป็นเวลาหลายสิบปี
แต่ตอนนี้เอง ประเทศไทยก็มีโอกาสเจริญรอยตามประเทศญี่ปุ่นได้เหมือนกัน
เพราะประเทศไทยตอนนี้ มีโอกาสที่จะเกิด “ทศวรรษที่สูญหาย” เหมือนอย่างที่ญี่ปุ่นได้พบเจอ
ทศวรรษที่สูญหายคืออะไร แล้วญี่ปุ่นต้องเจอกับอะไรบ้าง กว่าจะผ่านพ้นมาได้ ?
MONEY LAB จะสรุปบทวิเคราะห์ของ SCB EIC มาให้เข้าใจง่าย ๆ ใน 3 ข้อ
1. The Lost Decade หรือ ทศวรรษที่สูญหาย คืออะไร ?
ทศวรรษที่สูญหาย เป็นคำที่อธิบายสภาพเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น ในช่วงเวลา 30 ปี นับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา
สาเหตุเกิดจาก ญี่ปุ่นเจอกับภาวะฟองสบู่แตก ทั้งในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ และตลาดหุ้น
ผลที่ตามมาคือ เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตได้ต่ำ ติดต่อกันเป็นเวลานานมาก จนทำให้คนญี่ปุ่นต่างเชื่อกันว่า เศรษฐกิจประเทศตน คงไม่กลับมาเติบโตได้ดีอีกต่อไปแล้ว
เมื่อสภาพเศรษฐกิจในประเทศแย่ ก็ทำให้สถานะทางการเงินของคนญี่ปุ่นแย่ตาม จนส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ เกิดเป็นหนี้เสียขึ้นมากมาย
ทีนี้ พอมีหนี้เสียเยอะ ทางฝั่งธนาคารก็ต้องเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ จนปล่อยสินเชื่อได้น้อยลง ทำให้เงินที่จะนำมาลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป มีน้อยลง
แต่เท่านั้นยังไม่พอ เพราะเมื่อเศรษฐกิจไม่เติบโต คนญี่ปุ่นเองก็เริ่มกังวลถึงอนาคต จึงทำให้เริ่มออมเงินเยอะขึ้น และจับจ่ายใช้สอยน้อยลง จนเศรษฐกิจก็ยิ่งหดตัวลงไปอีก
พอเป็นแบบนี้ ก็ยิ่งซ้ำเติมให้เศรษฐกิจญี่ปุ่น ติดหล่มอยู่ในทศวรรษที่สูญหาย นานถึง 30 ปี..
2. ทำไมประเทศไทย ถึงกำลังเจริญรอยตามญี่ปุ่น ?
ทาง SCB EIC พบว่า สภาพเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน มีความเหมือนกับญี่ปุ่น ในช่วงทศวรรษที่สูญหายมาก จนน่าตกใจ
ซึ่งความเหมือนกันเหล่านั้น ประกอบด้วย
- Productivity หรือความสามารถในการผลิตของแรงงานไทย หยุดเติบโต
- ปัญหาหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ธนาคารปล่อยกู้น้อยลง
- ภาคครัวเรือนไทย คิดเป็นสัดส่วนถึง 41% ในปี 2023 มีรายได้ไม่พอรายจ่าย
- จำนวนบริษัทในส่วนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก มีรายได้ไม่พอจ่ายหนี้ เพิ่มมากขึ้น
3. สรุปบทเรียน วิธีแก้ปัญหาแบบญี่ปุ่น
หลังจากอยู่กับทศวรรษที่สูญหายมา 30 ปี ตอนนี้ทิศทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น กำลังอยู่ในแนวโน้มที่ดีขึ้นมาก โดยมีการคาดการณ์ไว้ว่า ญี่ปุ่นกำลังจะหลุดพ้นจากทศวรรษที่สูญหายแล้ว
โดยนโยบายที่ญี่ปุ่นใช้ คือการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเน้นสร้างพื้นฐานที่ดีให้กับเศรษฐกิจ ประกอบด้วย
- เพิ่มโอกาสในการส่งออก และการลงทุน
โดยในเดือนพฤษภาคม ปี 2022 ญี่ปุ่นได้ประกาศใช้นโยบาย The Economic Security Promotion Act
ซึ่งเป็นนโยบายที่จะช่วยสนับสนุน ความเข้มแข็งของห่วงโซ่การผลิตสินค้า, การพัฒนาบริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน, การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการแข่งขัน โดยร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และการส่งเสริมสิทธิบัตร
นอกจากนี้ ยังรวมถึง การพยายามให้บริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น TSMC และ Samsung มาตั้งโรงงานและศูนย์วิจัยที่ญี่ปุ่นอีกด้วย
- ใช้นโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง สอดประสานกันอย่างเหมาะสม เพื่อผลักดันเศรษฐกิจ
สำหรับด้านนโยบายการคลังนั้น ญี่ปุ่นพยายามรักษาสมดุลระหว่าง การใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ และการรักษาระดับของหนี้สาธารณะ ไม่ให้สูงมากเกินไป
ส่วนด้านนโยบายการเงิน ก็ใช้นโยบายที่ค่อนข้างผ่อนปรน โดยมีความยืดหยุ่นในการรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อ และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจญี่ปุ่น ฟื้นตัวได้อย่างมั่นคง
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่า เราคงพอเข้าใจกันดีขึ้นบ้างแล้วว่า ทำไมประเทศญี่ปุ่น ถึงได้เจอกับช่วงทศวรรษที่สูญหายมายาวนาน ถึง 30 ปี และญี่ปุ่นกำลังแก้ปัญหานี้อย่างไร
บทเรียนจากเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเศรษฐกิจประเทศไทยเอง ก็กำลังมีความเหมือนกับญี่ปุ่นในยุคที่เศรษฐกิจเติบโตต่ำเป็นอย่างมาก
หากเราเรียนรู้บทเรียนนี้จนเข้าใจอย่างถ่องแท้ และหาวิธีแก้ปัญหาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ บางทีเราก็อาจจะไม่ต้องใช้เวลาแก้ปัญหานานถึง 30 ปี แบบญี่ปุ่น ก็เป็นได้..
#เศรษฐกิจ
#เศรษฐกิจไทย
#SCBEIC
#SCBEIC
Reference: