สรุป มรสุมหุ้น KKP มูลค่าหายไป 50% ใน 2 ปี

สรุป มรสุมหุ้น KKP มูลค่าหายไป 50% ใน 2 ปี

2 ส.ค. 2024
ว่ากันว่าช่วงดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น กลุ่มที่จะได้ประโยชน์ คือกลุ่มธนาคารพาณิชย์
แต่รู้หรือไม่ หากเราซื้อหุ้น KKP เมื่อ 2 ปีก่อน
ช่วงที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วงแรก ๆ 
ตอนนี้เงินของเราจะหายไปราว -50%
เกิดอะไรขึ้นกับ KKP 
ทำไมมูลค่าของบริษัทหายไปมากขนาดนี้ ? 
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ 
ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP 
เป็นสถาบันการเงินที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารเกียรตินาคิน และบริษัทหลักทรัพย์ภัทร 
ซึ่งผลจากการควบรวม ส่งผลให้ KKP เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีความแข็งแกร่งมาก เพราะเป็นการรวมจุดแข็งของทั้ง 2 ธุรกิจเข้าด้วยกัน นั่นคือ
ธนาคารเกียรตินาคิน ที่มีรากฐานมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ทำให้มีความเชี่ยวชาญด้านสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเอสเอ็มอี
ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ภัทร ที่เป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และที่ปรึกษาการลงทุน ก็มีความเชี่ยวชาญ
ด้านตลาดทุน
ปัจจุบัน KKP จึงเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีจุดเด่นเรื่อง
การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และเป็นบริษัทหลักทรัพย์
ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นเบอร์ 1 
โดยโครงสร้างรายได้ตามกลุ่มธุรกิจ จะแบ่งเป็น
- ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ 82%
- ธุรกิจตลาดทุน 16%
- ธุรกิจอื่น ๆ 2%
สำหรับผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมา
- ปี 2564 รายได้ 24,246 ล้านบาท กำไร 6,318 ล้านบาท
- ปี 2565 รายได้ 27,539 ล้านบาท กำไร 7,602 ล้านบาท
- ปี 2566 รายได้ 28,763 ล้านบาท กำไร 5,443 ล้านบาท
- 6 เดือนแรก ปี 2567 รายได้ 13,384 ล้านบาท กำไร 2,275 ล้านบาท
จากข้อมูลจะเห็นว่า รายได้ของ KKP ในช่วงที่ผ่านมา
เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง 
แต่อย่างไรก็ตาม แม้รายได้จะเพิ่มขึ้น แต่กำไรตั้งแต่ปี 2566 กลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด 
โดยกำไรในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกำไรทั้งปี 2566 ที่ผ่านมา 
และจากกำไรที่ลดลงแบบนี้เอง ที่เป็นเหตุผลทำให้ KKP 
มีมูลค่าบริษัทปรับตัวลง 50% ภายในเวลาเพียง 2 ปี 
จาก 64,141 ล้านบาทในช่วงต้นปี 2566 เหลือมูลค่า
เพียง 32,388 ล้านบาทในปัจจุบัน 
แต่ทำไมกำไรของ KKP ยังลดลง ทั้งที่น่าจะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น ?
หากเข้าไปดูในรายละเอียดจะพบว่า ธุรกิจหลักของ KKP 
ทั้งธนาคารพาณิชย์ และตลาดทุน กำลังเจอสถานการณ์
ที่ยากลำบาก 
ส่วนธุรกิจธนาคารพาณิชย์ 
1. โครงสร้างสินเชื่อไม่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น
เพราะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เป็นประเภทสินเชื่อที่มีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนถึง 45% ของสินเชื่อทั้งหมด
รายได้ดอกเบี้ยรับจากสัญญาเช่าซื้อ เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ ทำให้ไม่สามารถปรับขึ้นตามดอกเบี้ยตลาด
และจะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น เฉพาะสัญญาใหม่เท่านั้น
ในขณะที่ต้นทุน คือ ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และฝากประจำต้องปรับขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
ส่งผลให้ธนาคารมีส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง 
- ไตรมาส 4/2566 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย 5.1%
- ไตรมาส 1/2567 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย 4.9%
- ไตรมาส 2/2567 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย 4.8%
2. ขาดทุนจากการยึดรถมาขายทอดตลาด
จากเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ส่งผลให้ลูกค้าบางส่วนผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ธนาคารต้องยึดรถมาขายทอดตลาด 
แต่ด้วยตลาดรถยนต์ที่ซบเซา และการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปไปสู่รถ EV ทำให้ราคารถมือสองตกต่ำมาก 
ธนาคารจึงต้องขายรถยึดในราคาต่ำ และรับรู้ผลขาดทุนรถยึดอย่างต่อเนื่อง
ไตรมาส 4/2566 ผลขาดทุนรถยึด 1,409 ล้านบาท
ไตรมาส 1/2567 ผลขาดทุนรถยึด 1,443 ล้านบาท
ไตรมาส 2/2567 ผลขาดทุนรถยึด 1,073 ล้านบาท
3. คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารแย่ลง สะท้อนจาก 
NPL Ratio ที่เพิ่มขึ้น
NPL Ratio เป็นอัตราส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมทั้งหมดของธนาคาร
โดยหนี้เสีย หมายถึง หนี้ที่ลูกหนี้ค้างชำระนานเกิน 90 วัน
ความสำคัญของ NPL Ratio ก็คือการช่วยสะท้อนว่า 
สินเชื่อที่ธนาคารปล่อยกู้ มีคุณภาพดีแค่ไหน
โดย NPL Ratio ของ KKP ในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าที่ลดลง และแสดงถึงคุณภาพพอร์ตสินเชื่อโดยรวมของธนาคารที่กำลังแย่ลง
ไตรมาส 4/2566 NPL Ratio 3.3%
ไตรมาส 1/2567 NPL Ratio 3.9%
ไตรมาส 2/2567 NPL Ratio 4.1%
ส่วนธุรกิจตลาดทุน ก็ได้รับผลกระทบ จากภาวะตลาดหุ้นซบเซา 
ด้วยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน 
มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันจึงปรับตัวลดลง
- ไตรมาส 1/2567 
มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวัน 45,684 ล้านบาท
มูลค่าการซื้อขายลูกค้าของ KKP 22,892 ล้านบาท
- ไตรมาส 2/2567
มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวัน 44,666 ล้านบาท
มูลค่าการซื้อขายลูกค้าของ KKP 21,220 ล้านบาท
เมื่อเป็นแบบนี้ ธุรกิจหลักทรัพย์ที่ต้องพึ่งพาค่าคอมมิชชันจากการซื้อขายเป็นหลัก ก็มีรายได้ลดลงตามไปด้วย 
- รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ จากธุรกิจตลาดทุน ปี 2564 4,644 ล้านบาท 
- รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ จากธุรกิจตลาดทุน ปี 2565 4,305 ล้านบาท 
- รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ จากธุรกิจตลาดทุน ปี 2566 3,799 ล้านบาท    
ถึงตรงนี้ก็จะเห็นภาพแล้วว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่กดดันผลประกอบการของ KKP ในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้มูลค่าบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมีการฟื้นตัวของตลาดรถยนต์ และกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนไป และภาวะตลาดทุนมีทิศทางที่ดีขึ้น 
ผลประกอบการของ KKP ในอนาคต อาจจะฟื้นตัวกลับมาก็เป็นได้..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำ ให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
References
-มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด วันที่ 9 ม.ค. 2566 และวันที่ 24 ก.ค. 2567
-คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ งวดครึ่งปี สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2567 ของธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)
-เอกสารเพื่อนำเสนอนักวิเคราะห์ของธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)
-รายงานประจำปี 2566 ของธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.