สรุป 3 ขั้นตอน คำนวณ ROIC ไว้ใช้หาหุ้นดี แบบ Warren Buffett

สรุป 3 ขั้นตอน คำนวณ ROIC ไว้ใช้หาหุ้นดี แบบ Warren Buffett

15 ต.ค. 2024
Free Cash Flow และ ROCE คือเครื่องมือที่นักลงทุนระดับโลกหลายคน ใช้วิเคราะห์การลงทุนกัน
แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีเครื่องมืออีกอย่างหนึ่ง ที่สำคัญมากไม่แพ้กัน จนถึงขนาดที่นักลงทุนระดับตำนาน อย่างคุณปู่ Warren Buffett เน้นย้ำอยู่หลายครั้ง ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นด้วย
เครื่องมือที่ว่า ก็คือ “Return on Invested Capital” หรือ ROIC
หากสงสัยว่า ROIC คืออะไร และมีวิธีในการหาอย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ROIC เป็นเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์ว่า เงินที่บริษัทใช้ลงทุนทำธุรกิจไปทั้งหมด สุดท้ายแล้ว ทำผลตอบแทนกลับคืนมา ได้คุ้มค่าหรือไม่
โดยจะมีขั้นตอนในการคำนวณหา ดังนี้
1. คำนวณหา NOPAT ออกมาก่อน
สิ่งแรกที่เราต้องรู้ ก่อนจะคำนวณหา ROIC
ก็คือ “กําไรจากการดําเนินงานหลังหักภาษี (Net Operating Profit After Tax)”
หรือเรียกย่อ ๆ ว่า NOPAT
ซึ่งจะคำนวณหาได้โดย
NOPAT = กำไรจากการดำเนินงาน x (1 - อัตราภาษี)
ปกติแล้ว เงินในการลงทุนทำธุรกิจนั้น จะมีที่มาจาก 2 ส่วน คือ “ส่วนของผู้ถือหุ้น” ซึ่งเป็นเงินลงทุนเริ่มต้นของเจ้าของบริษัท และ “เงินกู้”
ซึ่งในส่วนของเงินกู้นั้น ก็จะมีการต้องจ่ายดอกเบี้ยคืนให้กับเจ้าหนี้ด้วย
แต่หลักคิดของ NOPAT จะเป็นการมองว่า เมื่อเราทำธุรกิจได้กำไรมาแล้ว เราจะต้องจ่ายภาษีให้กับภาครัฐก่อน แต่จะยังไม่นำต้นทุนทางการเงิน มาหักลบออกจากกำไรจากการดำเนินงาน
ที่ทำแบบนี้ก็เพื่อ เมื่อเราคำนวณ ROIC ออกมาแล้ว สามารถนำมาเปรียบเทียบได้ง่าย ๆ ว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนของเรานั้น คุ้มค่าต่อการไปกู้เงินมาลงทุนหรือไม่ นั่นเอง
ลองมาดูตัวอย่างในการคำนวณหา NOPAT จากบริษัท A กัน โดยบริษัท A
- มีกำไรจากการดำเนินงานในปี 2023 เท่ากับ 600 ล้านบาท
- และมีอัตราภาษีที่จะต้องจ่าย อยู่ที่ 20%
ทำให้บริษัท A จะมี NOPAT ในปี 2023 เท่ากับ 480 ล้านบาท
2. ต่อมาคือ คำนวณหา Invested Capital
Invested Capital คือเงินทุนทั้งหมดที่ถูกใช้ไป ในการลงทุนทำธุรกิจของบริษัท
คำนวณหาโดย
Invested Capital = ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย - เงินสดและสินทรัพย์ทางการเงิน
ยกตัวอย่างจากบริษัท A เช่นเดิม โดยในปี 2023 บริษัท A มี
- ส่วนของผู้ถือหุ้น 2,000 ล้านบาท
- หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย ทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวม 400 ล้านบาท
- เงินสดและสินทรัพย์ทางการเงิน 450 ล้านบาท
เมื่อคำนวณออกมาแล้ว บริษัท A จะมี Invested Capital ในปี 2023 เท่ากับ 1,950 ล้านบาท
3. และสุดท้าย เราจะหา ROIC ได้แล้ว
ขอย้ำกันอีกครั้งว่า ROIC หรือ Return on Invested Capital ไว้ใช้วิเคราะห์ว่า เมื่อบริษัททำธุรกิจแล้ว ทำผลตอบแทนกลับคืนมา ได้คุ้มค่าต่อเงินลงทุนที่ใช้ไปหรือไม่
หาก ROIC ยิ่งสูงมากเท่าไร ก็หมายความว่า บริษัททำผลตอบแทนจากการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ ได้คุ้มค่าต่อเงินที่ลงทุนไปมากเท่านั้น 
เมื่อเรารู้ทั้ง NOPAT และ Invested Capital เรียบร้อยแล้ว เราก็จะสามารถคำนวณหา ROIC ออกมาได้ โดยจะมีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ ดังนี้
ROIC = (NOPAT / Invested Capital) x 100
และจากตัวอย่างในข้อที่ 1 และข้อที่ 2 ก็จะทำให้ในปี 2023 บริษัท A มี
- NOPAT เท่ากับ 480 ล้านบาท
- Invested Capital เท่ากับ 1,950 ล้านบาท
ดังนั้น เมื่อคำนวณหาออกมาแล้ว
ในปี 2023 บริษัท A จะมี ROIC เท่ากับ 24.62%
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่า เราคงเข้าใจกันดีขึ้นแล้วว่า ROIC อีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญ ที่นักลงทุนระดับโลกใช้วิเคราะห์การลงทุน มีความสำคัญ และวิธีในการคำนวณหาอย่างไร
การนำ ROIC ไปใช้วิเคราะห์บริษัทที่เราสนใจ ก็มีหลักคิดอยู่ง่าย ๆ เช่น ดูว่าที่ผ่านมา บริษัทสามารถสร้าง ROIC สูงกว่า 15% ได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่
ถ้าบริษัทมี ROIC สูงกว่า 15% ขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอด ก็หมายความว่า บริษัทนี้จัดว่าแข็งแกร่ง และนำเงินที่ได้จากการทำธุรกิจ ไปลงทุนต่อยอดในโครงการต่าง ๆ ได้อย่างคุ้มค่าอยู่เสมอ
หรืออีกอย่างหนึ่งก็คือ การนำ ROIC ไปเปรียบเทียบกับต้นทุนเงินทุนเฉลี่ยของกิจการ หรือ WACC ที่เป็นการเฉลี่ยต้นทุนระหว่างต้นทุนในการกู้ยืมเงิน และต้นทุนส่วนของเจ้าของ 
ซึ่งถ้าหาก ROIC มากกว่า WACC ค่อนข้างมาก ก็ถือได้ว่าบริษัทนี้ มีการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะทำผลตอบแทนได้มากกว่าต้นทุนเฉลี่ยของบริษัท  
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า ROIC จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญ แต่เราก็อย่าลืมวิเคราะห์บริษัทที่เราสนใจ ในด้านอื่น ๆ ให้รอบด้านด้วย
เช่น การวิเคราะห์ด้วย Free Cash Flow เพื่อดูว่าบริษัทเป็นเครื่องจักรผลิตเงินสด จริงหรือไม่
และรวมไปถึงการตรวจสอบความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ในระยะยาวของบริษัทควบคู่ไปด้วย ก็จะทำให้การวิเคราะห์หุ้นเพื่อลงทุนในแต่ละครั้งของเรา มีความเฉียบคมยิ่ง ๆ ขึ้นไป..
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#ROIC
References:
-“Return On Invested Capital (ROIC)”, a topic from the Valuation Master Class Boot Camp โดย Andrew Stotz
-Berkshire Hathaway Inc. Shareholder Letter ปี 1987
-Berkshire Hathaway Inc. Shareholder Letter ปี 1992
-Berkshire Hathaway Inc. Shareholder Letter ปี 2007
-หนังสือ Charlie Munger: The Complete Investor (2015) โดย Tren Griffin
-หนังสือ Getting Started in Value Investing (2007) โดย Charles Mizrahi
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.