สรุปหลักการลงทุน หุ้นคุณภาพ แบบ Terry Smith ผู้ได้รับฉายา Warren Buffett ของอังกฤษ

สรุปหลักการลงทุน หุ้นคุณภาพ แบบ Terry Smith ผู้ได้รับฉายา Warren Buffett ของอังกฤษ

20 ม.ค. 2025
“ซื้อแต่ธุรกิจที่มีคุณภาพ ในราคาที่สมเหตุสมผล แล้วจงอยู่เฉย ๆ”
นี่คือวลีอมตะของคุณ Terry Smith ผู้ก่อตั้งกองทุน Fundsmith Equity Fund กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีในระยะยาว
ปัจจุบันกองทุน Fundsmith มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการรวม 970,000 ล้านบาท ทำผลตอบแทนได้ทบต้นเฉลี่ยปีละ 14.8% นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเมื่อปี 2010 จนได้ฉายาว่าเป็น “Warren Buffett แห่งอังกฤษ”
แล้วคุณ Terry Smith มีเกณฑ์อะไรในการตรวจสอบคุณภาพธุรกิจ และประเมินมูลค่าหุ้นอย่างไร ถึงสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ดีแบบนี้ ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
1. ซื้อแต่ธุรกิจที่มีคุณภาพ
หลายคนอาจจะมีภาพในหัวเกี่ยวกับธุรกิจที่มีคุณภาพดีไม่เหมือนกัน แต่สำหรับคุณ Smith แล้ว เขามีเกณฑ์อยู่ 3 ข้อ ดังนี้
- เป็นธุรกิจที่ขายสินค้า หรือบริการ ที่คนส่วนใหญ่จะกลับมาซื้อซ้ำ ๆ หรือใช้บริการบ่อย ๆ
เช่น ธุรกิจผลิตสินค้าอุปโภค บริโภค ธุรกิจซอฟต์แวร์ที่จำเป็นต่อการทำงาน และธุรกิจยา เป็นต้น
คุณ Smith มองว่าธุรกิจแบบนี้ จะมีผลประกอบการที่ค่อนข้างมั่นคง ไม่ค่อยผันผวนไปตามภาวะเศรษฐกิจ 
- เป็นธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง และสามารถสร้างผลกำไรในรูปเงินสดได้ดี
ธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนในการขยายธุรกิจมากเกินไป จะทำให้บริษัทไม่จำเป็นต้องกู้ยืมเงินมากนัก 
โดยส่วนใหญ่แล้วธุรกิจประเภทนี้ ใช้เพียงแค่กระแสเงินสดที่หมุนเวียนในธุรกิจก็เพียงพอที่จะลงทุนขยายธุรกิจแล้ว
เมื่อไม่จำเป็นต้องกู้ยืมเงินมาก บริษัทก็จะมีภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมต่ำ หรือไม่มีเลย ทำให้ฐานะทางการเงินมีความแข็งแกร่ง ความเสี่ยงที่ธุรกิจจะล้มละลายก็ต่ำ
ส่วนการพิจารณาว่าบริษัทจะสามารถสร้างผลกำไรในรูปเงินสดได้มากแค่ไหน คุณ Smith ใช้อัตราส่วนที่เรียกว่า Cash Conversion Ratio
คำนวณได้โดยนำ กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน มาหารด้วยกำไรสุทธิ
หากได้ตัวเลขออกมามากกว่า 1 ก็หมายความว่า ทุก ๆ กำไรสุทธิ 1 บาทของบริษัท สามารถแปลงออกมาเป็นกระแสเงินสดไหลเข้าบริษัทมากกว่า 1 บาท
และแสดงให้เห็นว่า บริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดได้มากกว่ากำไรสุทธิ ที่บริษัททำได้นั่นเอง
โดยคุณ Smith มักจะชื่นชอบบริษัทที่มี Cash Conversion Ratio มากกว่า 1 และพยายามหลีกเลี่ยงบริษัทที่มี Cash Conversion Ratio น้อยกว่า 1
เพราะบริษัทเหล่านั้น อาจจะมีตัวเลขกำไรทางบัญชีเป็นจำนวนมากก็จริง แต่กลับไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดให้มากเท่ากับตัวเลขกำไรที่แสดงอยู่ในงบการเงินก็ได้
- เป็นบริษัทที่สร้างผลตอบแทนต่อเงินลงทุนได้สูง
ผลตอบแทนต่อเงินลงทุน สามารถวัดได้จากหลากหลายตัวเลข เช่น ROI, ROIC หรือ ROCE 
แต่สำหรับคุณ Smith แล้ว เขามักจะชอบวัดจาก ROCE แบบที่เขาคำนวณเองมากกว่า
โดย ROCE หรือ Return on Capital Employed แบบคุณ Smith นั้น คำนวณได้จาก  
ROCE = (กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน / Capital Employed) x 100%
ซึ่ง Capital Employed ก็หาได้จาก ส่วนของผู้ถือหุ้น + (หนี้สินระยะสั้น + หนี้สินระยะยาว) - เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
ยิ่งได้ตัวเลข ROCE ออกมาสูง ก็แปลว่าบริษัทนั้นมีความสามารถในการสร้างผลตอบแทนต่อเงินลงทุนได้ดี
การพิจารณาเลือกลงทุนเฉพาะบริษัทที่มีผลตอบแทนต่อเงินลงทุนสูง เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่คุณ Smith ชอบธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง
เพราะเมื่อธุรกิจไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง ก็จะทำให้มีอัตราผลตอบแทนต่อเงินลงทุนสูง ได้ง่ายกว่าธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนในการขยายธุรกิจมาก ๆ
แม้คุณ Smith จะไม่มีตัวเลขที่บอกเราได้แน่นอนว่า ROCE ควรมีค่าอยู่ที่เท่าไร
แต่หากดูจากพอร์ตการลงทุนของ Fundsmith เราจะพบว่า ธุรกิจที่คุณ Smith ลงทุน มักจะมี ROCE สูงกว่าค่าเฉลี่ยของคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน
และสิ่งสำคัญที่คุณ Smith คอยย้ำเตือนอยู่บ่อย ๆ ก็คือ ให้หลีกเลี่ยงบริษัทที่มี ROCE ต่ำกว่า WACC หรือต้นทุนเงินทุนเฉลี่ยของบริษัท
เพราะหากเป็นแบบนั้นแล้ว ก็หมายความว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนต่าง ๆ ของบริษัทนั้น ไม่คุ้มกับต้นทุนทางการเงิน และมูลค่าบริษัทก็จะลดลงในที่สุด
นอกจาก ROCE แล้ว คุณ Smith ยังแนะนำให้เราดูตัวเลข Retention Rate ควบคู่ไปด้วย
Retention Rate คือ อัตราส่วนกำไรที่บริษัทเก็บไว้ลงทุนเพิ่ม หาได้จาก
[(กำไรสุทธิ - เงินปันผลจ่าย) / กำไรสุทธิ] x 100%
ยิ่งบริษัทไหนมี Retention Rate และมี ROCE ที่สูง ก็แปลว่า บริษัทนั้นสามารถนำกำไรกลับไปลงทุนต่อ แล้วยังได้ผลตอบแทนที่สูงกลับมาอีกด้วย
ซึ่งบริษัทแบบนี้ จะมีมูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้นมากกว่าบริษัทเดียวกันที่มี ROCE พอ ๆ กัน แต่เก็บกำไรกลับมาลงทุนน้อยกว่า
2. ในราคาที่สมเหตุสมผล
คุณ Smith เป็นนักลงทุนที่ชื่นชอบดูอัตราส่วน Free Cash Flow Yield เป็นอย่างมาก
Free Cash Flow Yield คำนวณจาก 
Free Cash Flow Yield = กระแสเงินสดอิสระ / มูลค่าบริษัทในปัจจุบัน
ซึ่งตัวเลข Free Cash Flow Yield นี้จะบอกเราว่า นักลงทุนที่ซื้อหุ้นตัวนี้ไป จะได้ผลตอบแทนเป็นกระแสเงินสดอิสระ มากน้อยแค่ไหน 
โดยสำหรับคุณ Smith แล้ว เขามักจะมองหาหุ้นที่มี Free Cash Flow Yield มากกว่า 4% ขึ้นไป
3. แล้วจงอยู่เฉย ๆ
หลังจากเราได้ซื้อหุ้นของบริษัทคุณภาพดี ในราคาที่สมเหตุสมผลแล้ว สิ่งที่สำคัญต่อมาก็คือการอดทนถือหุ้นของบริษัทเหล่านี้ ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้
แต่ในระหว่างทางที่เราถือหุ้น เราก็ต้องคอยตรวจสอบผลประกอบการของบริษัท และพิจารณาคุณภาพธุรกิจที่เราลงทุนอยู่เสมอ
เพราะจริงอยู่ที่คุณ Smith จะแนะนำให้เราอยู่เฉย ๆ แต่ตลอด 15 ปี ที่คุณ Smith บริหารกองทุน เขาก็คอยมองหาธุรกิจที่คุณภาพดีตัวใหม่ และทยอยขายหุ้นในธุรกิจที่คุณภาพลดลงอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเรามีความระมัดระวัง และเลือกเฉพาะธุรกิจที่มีคุณภาพสูงจริง ๆ ตั้งแต่แรก ก็จะทำให้เราไม่เหนื่อย คอยขายหุ้นที่เราคิดผิดทีหลัง
เช่นเดียวกับกองทุน Fundsmith ของคุณ Smith ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นกองทุนบริหารจัดการเชิงรุก ที่มีการปรับพอร์ตน้อยมาก
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ มีกองทุนรวมจากประเทศไทย ที่ไปลงทุนในกองทุน Fundsmith ของคุณ Terry Smith อยู่
โดยกองทุนที่นำเงินไปลงทุนในกองทุน Fundsmith คือ กองทุน PRINCIPAL GQE ที่บริหารจัดการโดย บลจ.พรินซิเพิล นั่นเอง..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายกองทุนเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#WorldClassInvestors
References
-หนังสือ Investing for Growth โดย Terry Smith
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.