4M ที่ต้องมี ถ้าอยากลงทุนให้เก่ง แบบ Warren Buffett

4M ที่ต้องมี ถ้าอยากลงทุนให้เก่ง แบบ Warren Buffett

21 มี.ค. 2024
4M ที่ต้องมี ถ้าอยากลงทุนให้เก่ง แบบ Warren Buffett | MONEY LAB
การได้เห็นพอร์ตลงทุนของเรา เติบโตขึ้นแบบทบต้นปีละ 20% ไปอีก 20 หรือ 30 ปี คงจะเป็นความฝันที่ใครหลายคน ต่างก็ปรารถนา
ในโลกนี้ก็มีอยู่แค่ไม่กี่คนเท่านั้น ที่ทำให้ฝันแบบนั้นกลายเป็นจริงได้
หนึ่งในนั้นก็คือ คุณ Warren Buffett นักลงทุนในตำนานนั่นเอง
แน่นอนว่าการจะทำแบบนั้นได้ ก็คงจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากสำหรับคนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะทำให้เรื่องนี้ยากขึ้นไปอีก ไม่ใช่ตัวเลขผลตอบแทนสูงลิ่ว ที่เราคิดว่าคงไม่มีวันไปถึง แต่คือการที่เรายังไม่ได้เริ่มต้นศึกษาหนทาง ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จนั้น แม้แต่น้อยต่างหาก
แล้วเราควรเริ่มศึกษาอะไรบ้าง ถึงจะทำให้เรามีโอกาสลงทุนเก่งแบบคุณ Warren Buffett ได้
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
สิ่งที่เราจะต้องรู้ และยึดเป็นหลัก เมื่อถึงคราวที่เราจะต้องลงทุนนั้น สามารถสรุปออกมาง่าย ๆ ด้วยอักษร M จำนวน 4 ตัว ดังนี้
M ตัวแรก คือ Meaning
คุณ Warren Buffett เคยกล่าวเอาไว้ว่า “จงอย่าลงทุนในธุรกิจที่คุณไม่เข้าใจ” เห็นได้จากการที่เขาแทบไม่เคยซื้อหุ้นเทคโนโลยีอื่นใดเลย นอกจาก Apple
แม้ว่าหุ้นเทคโนโลยีเหล่านั้น จะพากันสร้างผลตอบแทนมากมายแค่ไหนก็ตาม
เพราะการลงทุนในสิ่งที่ไม่เข้าใจ ถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ๆ เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้เลือกหุ้นผิดพลาดเท่านั้น แต่ยังสามารถโดนหลอก ให้เข้าไปซื้อหุ้นปั่น เอาได้ง่าย ๆ
ดังนั้น การรู้ว่าบริษัทที่เรากำลังจะลงทุน ทำธุรกิจอะไร, มีรายได้เข้ามาจากทางไหนบ้าง และมีโอกาสเติบโตไปได้มากกว่านี้อีกไหม คือสิ่งที่เราควรต้องไปทำการบ้านมาให้ละเอียดก่อนที่จะลงทุน
M ตัวที่สอง คือ Moat
หลังจากเราเข้าใจแล้วว่า หุ้นของบริษัทที่เราสนใจ มีลักษณะการทำธุรกิจอย่างไร สิ่งที่เราจะต้องคำนึงถึงต่อไปก็คือ
บริษัทที่เรากำลังสนใจนี้ มีศักยภาพในการแข่งขัน ที่จะทำให้บริษัทสามารถทำธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืนหรือเปล่า
ซึ่งเราสามารถตรวจสอบได้ ผ่านการดู Moat หรือ “ป้อมปราการ” ของธุรกิจนั่นเอง โดย Moat ของธุรกิจหลัก ๆ จะเกิดจากความได้เปรียบเหล่านี้คือ
ความได้เปรียบทางด้านต้นทุน
ถ้าบริษัทสามารถรักษาอัตราการทำกำไรได้สูงอย่างต่อเนื่อง ก็แปลว่ามีความได้เปรียบด้านการควบคุมต้นทุนความได้เปรียบทางด้านขนาด
ถ้าบริษัทมีขนาดที่ใหญ่กว่าคู่แข่งมาก ก็มีโอกาสสูงที่จะเกิด Economies of Scale มากกว่า
นอกจากนี้ บริษัทที่ได้เปรียบด้านขนาด ยังมักมีความได้เปรียบเวลาต่อรองกับทั้งฝั่งลูกค้า และฝั่งซัปพลายเออร์อีกด้วย
ความได้เปรียบด้านสินทรัพย์ไม่มีตัวตน
บริษัทที่มีลิขสิทธิ์, สิทธิบัตร, ความภักดีในแบรนด์ รวมถึงการมีผู้บริหารที่เก่ง จะมีความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจมากผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้สินค้าอื่นได้ยาก
บริษัทที่มี Moat แข็งแกร่ง จะพบว่า ผู้บริโภคมักจะไม่เปลี่ยนไปใช้สินค้าของคู่แข่ง อาจเพราะไม่อยากเปลี่ยนพฤติกรรม หรือรู้สึกว่ายุ่งยากในการเปลี่ยน
M ตัวที่สาม คือ Management
นักลงทุนมือใหม่ มักจะมองแต่ตัวเลขทางการเงินต่าง ๆ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเพียงอย่างเดียว โดยมองข้ามปัจจัยที่สำคัญอย่าง “ผู้บริหาร” ของบริษัทนั้นไป
เพราะในหลาย ๆ ครั้ง การมีผู้บริหารฝีมือดี ก็สามารถพลิกฟื้นบริษัทที่เหี่ยวเฉาใกล้ตาย ให้กลายเป็นสุดยอดบริษัทได้อีกครั้ง
อีกทั้ง ในตลาดหุ้นเอง ก็ไม่ได้มีเพียงแค่คนที่ต้องการเข้ามาหาประโยชน์จากเม็ดเงินมหาศาลในตลาดหุ้นอย่างสุจริต
แต่ยังมีผู้บริหารที่จ้องจะหลอกลวงนักลงทุน ด้วยกลเม็ดต่าง ๆ มากมาย ที่ทำให้แม้แต่ตัวเลขทางการเงิน ที่เราคิดว่าดูดี เชื่อถือได้ ก็กลายเป็นเพียงแค่เรื่องหลอกลวง
เพราะฉะนั้น การเลือกลงทุนในบริษัทที่มีผู้บริหารที่ซื่อสัตย์ ขยัน มีธรรมาภิบาล และปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
M ตัวสุดท้าย คือ Margin of Safety
บริษัทที่ดี ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการลงทุนที่ดี เพราะถ้าเราซื้อหุ้นของบริษัทที่ดีมาในราคาที่แพงเกินไป โอกาสที่เราจะได้ผลตอบแทนสูง ๆ ก็มีน้อย แต่โอกาสขาดทุน กลับมีสูง
ดังนั้น หลังจากที่เราตรวจสอบทุกอย่าง จนมั่นใจแล้วว่านี่คือหุ้นของบริษัทที่ใช่ เราจึงต้องทำการประเมินมูลค่าหุ้น
อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่สามารถแน่ใจได้ว่า มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นที่เราประเมินออกมานั้น จะเป็นมูลค่าที่ถูกต้องแม่นยำหรือไม่
เราจึงควรต้องมี Margin of Safety หรือส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย เพื่อป้องกันความผิดพลาดไว้ด้วย
ซึ่ง Margin of Safety จะบอกเราว่า ราคาหุ้นที่เราจะซื้อ ไม่ควรเกินเท่าไร เช่น เราประเมินมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น A ได้ 10 บาทต่อหุ้น
ถ้าเราตั้ง Margin of Safety ไว้ที่ 30% เราก็จะเข้าซื้อหุ้น A ที่ราคาไม่เกิน 7 บาทต่อหุ้น เพื่อให้มีส่วนเผื่อเอาไว้ ในกรณีที่เราประเมินมูลค่าออกมาผิดพลาดนั่นเอง
จากทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า สิ่งที่เราต้องรู้ในเรื่องของการลงทุนนั้น หลัก ๆ แล้ว ก็ไม่ได้เกินกว่าความสามารถ ที่ตัวเราสามารถเรียนรู้และเข้าใจได้
ถึงอย่างนั้น การจะก้าวไปสู่การสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนสูง ๆ เป็นเวลาต่อเนื่อง แบบคุณ Warren Buffett และนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จท่านอื่น ๆ ก็ยังมีรายละเอียดให้ศึกษาเยอะกว่านี้อีกมาก
แต่อย่างน้อย การที่วันนี้คุณได้อ่านบทความนี้จนจบ ก็ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สำหรับการเดินทาง ในเส้นทางสายการลงทุน ที่จะช่วยนำเราไปสู่ความมั่งคั่งได้ ในอนาคต..
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.