อธิบาย Buffett Indicator เครื่องมือจับจังหวะการลงทุน แบบที่ Warren Buffett ใช้
13 ส.ค. 2024
เมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่แล้ว เราคงได้เห็นข่าวใหญ่สะเทือนตลาดหุ้นกัน
นั่นคือ คุณ Warren Buffett นักลงทุนระดับตำนานของโลก ได้ขายหุ้นบริษัท Apple ออกมาเป็นจำนวนมาก คิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่
เรื่องนี้สร้างความฉงนให้กับนักลงทุนทั่วโลกเป็นอย่างมาก เพราะต่างก็ตั้งสมมติฐานกันไปต่าง ๆ นานา
บ้างก็คิดว่า อนาคตของบริษัท Apple อาจจะไม่ได้ดีอีกต่อไปแล้วหรือเปล่า หรือบ้างก็เชื่อว่า คุณ Buffett อาจจะมองว่าต่อไปเศรษฐกิจคงไม่ดี ควรจะเทขายหุ้นออกมาก่อนเป็นแน่
อย่างไรก็ตาม ก็มีนักลงทุนบางคนคิดว่า ดัชนีตลาดหุ้นในวันนี้อาจจะสูงกว่ามูลค่าที่เหมาะสมมาก จนถึงเวลาที่คุณ Buffett จำเป็นต้องปรับพอร์ต ด้วยการขายหุ้นออกไปบ้าง
ซึ่งนั่นนำมาสู่การที่เราควรรู้จักเครื่องมือหนึ่ง ที่ไว้ใช้ดูว่า ราคาของหุ้นในตลาดตอนนี้ แพงเกินไปแล้วหรือไม่
เรากำลังพูดถึง “Buffett Indicator” ดัชนีที่ตั้งชื่อตามคุณ Warren Buffett
แล้วถ้าหากสงสัยว่า Buffett Indicator คืออะไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
Buffett Indicator นั้น เป็นการเปรียบเทียบระหว่าง มูลค่าบริษัทในตลาดหุ้นทั้งหมด และ GDP ของประเทศ
โดยตามหลักการแล้ว ราคาหุ้นในตลาดจะเพิ่มสูงขึ้นได้ ก็ควรมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ดี เป็นพื้นฐานรองรับ
เพราะถ้าเกิดราคาหุ้นในตลาดแพงมาก แต่พื้นฐานเศรษฐกิจไม่ดี ก็ดูเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลเลย
สำหรับการคำนวณหา Buffett Indicator เราจะนำ มูลค่าของตลาดหุ้นทั้งประเทศ มาหารด้วย GDP ของประเทศ
หากค่าที่ได้ สูงมากกว่า 1 เท่ามาก ๆ ก็หมายความว่า ราคาหุ้นในตลาดโดยรวม แพงเกินไป
แต่ถ้าค่าที่ได้ ต่ำกว่า 1 เท่า ก็หมายความว่า หุ้นโดยรวม มีราคาถูก
ลองมาดูตัวอย่างในปัจจุบันจากตลาดหุ้นประเทศสหรัฐอเมริกากัน
- มูลค่าตลาดหุ้นทั้งประเทศ ประมาณ 1,878 ล้านล้านบาท
- GDP ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 2023 เท่ากับ 970 ล้านล้านบาท
ดังนั้น Buffett Indicator จึงเท่ากับ 1.93 เท่า ถือว่าราคาหุ้นโดยรวมของตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ในปัจจุบัน ค่อนข้างสูงมาก
ซึ่งถ้าลองไปดูข้อมูลย้อนหลัง เราจะพบว่า ในหลาย ๆ ครั้งคุณ Warren Buffett ก็มีการซื้อขายหุ้นตาม Buffett Indicator ที่เปลี่ยนแปลงไป
- ปี 1969 ก่อนเกิดช่วงตลาดหุ้นตกต่ำ Buffett Indicator สูงถึง 2 เท่า
ซึ่งช่วงเวลานั้น คุณ Buffett ปิดกองทุน Buffett Partnership ของตัวเอง และเลือกถือเงินสดเอาไว้เฉย ๆ เป็นเวลาหลายปี
โดยคุณ Buffett ให้เหตุผลในการปิดกองทุนในครั้งนั้นเอาไว้ว่า เพราะเขาไม่สามารถหาหุ้นราคาถูกได้เลย
และหลังจากนั้นไม่กี่ปี ในช่วงปี 1973-1974 ตลาดหุ้นก็ปรับตัวลดลงมาก จน Buffett Indicator กลับมาต่ำกว่า 1 เท่า
ซึ่งคุณ Buffett ก็ได้กลับเข้ามาซื้อหุ้นอีกครั้ง โดยได้เข้าซื้อหุ้นบริษัทหนังสือพิมพ์ดังอย่าง The Washington Post เป็นต้น
- ปี 2000 Buffett Indicator สูงถึง 2 เท่า และหลังจากนั้น ก็เกิดวิกฤติฟองสบู่ดอตคอมขึ้น
แม้ตรงนี้คุณ Warren Buffett ไม่ได้มีการซื้อขายหุ้นอะไรที่ใหญ่ ๆ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าช่วงเวลานั้น ตลาดหุ้นแพงเกินจริงไปมาก จนพังครืนลงมาในที่สุด
- ปี 2008-2009 เป็นช่วงเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาตกต่ำลงมามาก จน Buffett Indicator เหลือแค่ 0.5 เท่า เท่านั้น
ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน คุณ Buffett ก็ได้ใช้โอกาสนี้ เข้าลงทุนในบริษัท BNSF และ Bank of America เป็นต้น
หากเราลองสังเกตดู จะพบว่า ในช่วงที่ Buffett Indicator ขึ้นไปสูงถึง 2 เท่า หลังจากนั้นไม่นาน ราคาหุ้นในตลาดโดยรวม ก็จะตกลงมาเยอะ
ในทางกลับกัน ช่วงที่ Buffett Indicator อยู่ต่ำกว่า 1 เท่า ไม่นานราคาหุ้นก็จะเพิ่มขึ้น
ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของตลาดหุ้น ที่มีขึ้น มีลง เป็นวัฏจักรอยู่ตลอดมา
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่า เราคงเข้าใจกันมากขึ้นแล้วว่า Buffett Indicator คืออะไร และมีประโยชน์ต่อการมาช่วยจับจังหวะการลงทุน ได้อย่างไร
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ดัชนีนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่ใช้ฟันธง ว่าเราควรจะซื้อหรือขายหุ้น
เพราะ Buffett Indicator ให้แค่สัญญาณ ภาพรวมของตลาด แต่ไม่ได้บอกว่าราคาหุ้นในพอร์ตการลงทุนของเรา กำลังถูกหรือแพง
และถึงแม้ในตลาดหุ้นที่ราคาแพง แต่ถ้าหากเราพลิกหาหุ้นทุกตัว ก็ยังคงมีหุ้นบริษัทดี ๆ ที่กำลังซื้อขายในราคาถูกอยู่เช่นกัน
ดังนั้นเมื่อเราดูภาพใหญ่แล้ว ก็อย่าลืมเก็บรายละเอียด โดยเจาะไปที่หุ้นรายตัวด้วย เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสลงทุนในหุ้นดี ๆ เพียงแค่หุ้นตัวอื่นที่มีในตลาด กำลังแพงเกินไป..
#ลงทุน
#หุ้นนอก
#BuffettIndicator
References
-https://companiesmarketcap.com/usa/largest-companies-in-the-usa-by-market-cap/
-https://en.macromicro.me/charts/406/us-buffet-index-gspc
-https://en.macromicro.me/charts/406/us-buffet-index-gspc
-ลงทุนแนว VI | EP 28 | หาโอกาสซื้อหุ้นราคาถูกตามแนว VI กับ Buffett Indicator