อธิบาย 2 วิธีคิดภาษีเงินได้ ของสรรพากร ที่คนมีรายได้หลายทาง ควรทำความเข้าใจ

อธิบาย 2 วิธีคิดภาษีเงินได้ ของสรรพากร ที่คนมีรายได้หลายทาง ควรทำความเข้าใจ

30 ก.ย. 2024
2 สิ่งที่หนีไม่พ้น คือ “ความตายและภาษี” เป็นวลีที่หลายคนคงเคยได้ยิน 
เพราะไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริษัท เจ้าของธุรกิจ ฟรีแลนซ์ หรือแม้แต่นักลงทุน ทุกคนก็ต้องมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด หากรายได้ถึงเกณฑ์
แต่รู้หรือไม่ว่า การคำนวณภาษีของเรา ไม่ได้ใช้วิธีเดียวกันทั้งหมด เพราะสรรพากรเอง ก็มีวิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ 2 วิธีด้วยกัน 
หากอยากรู้ว่าทั้ง 2 วิธีคืออะไร แตกต่างกันอย่างไร
แล้วใครต้องเสียภาษีแบบไหน ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจ ความแตกต่างของเงินได้ และเงินได้สุทธิกันให้ชัดเจน
ในทางภาษี รายได้ที่เราได้มาทั้งหมดคิดรวมตลอดทั้งปี  ตั้งแต่ 1 มกราคม จนถึง 31 ธันวาคม ก่อนที่จะเอาไปหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนต่าง ๆ จะเรียกว่า เงินได้ 
ส่วนอีกคำที่คล้าย ๆ กันอย่าง เงินได้สุทธิ จะหมายถึง เงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว 
ซึ่งตรงส่วนนี้เอง ที่จะถูกสรรพากรนำไปคิดคำนวณ ออกมาว่าปีนี้เราจะต้องเสียภาษีมากน้อยแค่ไหน
โดยวิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามกฎหมายไทย จะคำนวณ 2 วิธี 
วิธีที่ 1 คำนวณภาษีอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได
เริ่มจากการหาเงินได้สุทธิ  
เงินได้สุทธิ = เงินได้ทั้งหมด - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน
หลังจากหาเงินได้สุทธิแล้ว ให้นำไปเทียบอัตราภาษีด้านล่าง โดยดูว่าเงินได้สุทธิของเราอยู่ในช่วงใด จากนั้นใช้สูตรในช่วงนั้นคำนวณ ก็จะได้จำนวนภาษีที่ต้องจ่าย
เงินได้สุทธิ 0 - 150,000 บาท
ได้รับการยกเว้นภาษี
เงินได้สุทธิ 150,000 - 300,000 บาท 
ภาษี = (เงินได้สุทธิ - 150,000) x 0.05
เงินได้สุทธิ 300,001 - 500,000 บาท
ภาษี = [(เงินได้สุทธิ - 300,000) x 0.10] + 7,500
เงินได้สุทธิ 500,001 - 750,000 บาท
ภาษี = [(เงินได้สุทธิ - 500,000) x 0.15] + 27,500
เงินได้สุทธิ 750,001 - 1,000,000 บาท 
ภาษี = [(เงินได้สุทธิ - 750,000) x 0.20] + 65,000
เงินได้สุทธิ 1,000,001 - 2,000,000 บาท
ภาษี = [(เงินได้สุทธิ - 1,000,000) x 0.25] + 115,000
เงินได้สุทธิ 2,000,001 - 5,000,000 บาท 
ภาษี = [(เงินได้สุทธิ - 2,000,000) x 0.30] + 365,000
เงินได้สุทธิ 5,000,001 ขึ้นไป
ภาษี = [(เงินได้สุทธิ - 5,000,000) x 0.35] + 1,265,000
สำหรับผู้มีรายได้จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว จะคำนวณและเสียภาษีตามวิธีนี้วิธีเดียว 
แต่ถ้าในกรณีที่เรามีรายได้หลายทาง และรวมกันมากกว่าปีละ 120,000 บาทขึ้นไป การคำนวณภาษีของเรา จะสามารถคำนวณได้อีกวิธี 
นั่นก็คือ วิธีที่ 2 คำนวณภาษีแบบเหมา 0.5%
โดยจะเป็นการคำนวณภาษีแบบเหมา ตามสูตร
ภาษี = (เงินได้ทุกประเภท - เงินเดือน) x 0.005
ตรงนี้ถ้าหากคำนวณแล้ว ได้ไม่เกิน 5,000 บาท จะต้องเสียภาษีที่คิดจากวิธีที่ 1 
สรุปแล้ว วิธีคิดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าหากเรามีรายได้อื่น ๆ นอกเหนือจากเงินเดือน ไม่เกิน 1,000,000 บาท ภาษีที่ต้องเสีย จะคิดจากวิธีที่ 1
แต่ถ้าหากมีรายได้อื่น ๆ นอกเหนือจากเงินเดือน มากกว่า 1,000,000 บาท ภาษีที่เราต้องเสีย จะมาจากการเปรียบเทียบกัน ระหว่างวิธีคิดภาษีทั้ง 2 วิธี ว่าวิธีไหนต้องเสียภาษีมากกว่ากัน 
ถ้าวิธีไหนเสียภาษีเยอะที่สุด สรรพากรก็จะเลือกเก็บจากเราด้วยวิธีนั้น
ถ้าเรายังไม่เห็นภาพ ลองมาดูตัวอย่างการคำนวณกัน
นาย A เป็นฟรีแลนซ์ มีรายได้ทั้งปี 1,200,000 บาท
หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 100,000 บาท 
หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
และไม่มีรายการลดหย่อนอื่น ๆ
- วิธีที่ 1 คำนวณภาษีอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได
เงินได้สุทธิ = เงินได้ทั้งหมด - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน
จะได้ 1,200,000 - 100,000 - 60,000 
เท่ากับ 1,040,000 บาท
เงินได้สุทธิ 1,040,000 บาท คำนวณตามช่วง
ภาษีที่ต้องจ่าย เท่ากับ 
[(เงินได้สุทธิ - 1,000,000) x 0.25] + 115,000
เท่ากับ 125,000 บาท
- วิธีที่ 2 คำนวณภาษีแบบเหมา 0.5%
ภาษีแบบเหมา = 1,200,000 x 0.005
ภาษีที่ต้องจ่าย เท่ากับ 6,000 บาท
และจากที่บอกไปว่า สรรพากรจะเลือกเก็บภาษี ด้วยวิธีที่ได้ภาษีมากที่สุด ดังนั้น นาย A ต้องจ่ายภาษี 125,000 บาท เพราะว่าภาษีจากการคำนวณแบบวิธีที่ 1 มากกว่าวิธีที่ 2 นั่นเอง
ถึงอย่างนั้น สำหรับนาย A ที่รู้ก่อนแล้วว่า ตัวเองจะต้องเสียภาษีตามวิธีที่ 1 ถ้าอยากจะจ่ายภาษีให้น้อยลง ก็สามารถทำได้ 
ด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ จากตัวช่วยลดหย่อนภาษีต่าง ๆ เช่น การทำประกันชีวิต หรือซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี 
ซึ่งจะช่วยเพิ่มค่าลดหย่อน ทำให้เงินได้สุทธิลดลง และส่งผลให้ภาษีที่ต้องจ่ายลดลงตามไปด้วย
จากทั้งหมดนี้ก็สรุปได้ว่า หากมีรายได้จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว จะคำนวณและเสียภาษีตามวิธีที่ 1
ส่วนคนที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือนเกิน 1,000,000 บาท จะต้องคำนวณทั้ง 2 วิธี และเสียตามวิธีที่มากกว่า
จะเห็นได้ว่า แม้ภาษีอาจดูเป็นเรื่องยุ่งยากและน่าปวดหัว แต่เมื่อเราเข้าใจหลักการพื้นฐานแล้ว มันก็ไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด 
แถมยังช่วยให้สามารถประเมินได้แม่นยำยิ่งขึ้นว่าปีนี้จะต้องเสียภาษีเท่าไร เพื่อจะได้วางแผนภาษีล่วงหน้าและบริหารการเงินของเราเอง ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น..
#วางแผนภาษี
#TaxFest2024 
#ภาษีนี้มีแต่ได้
References
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.