อธิบาย Pareto Principle กฎ 80/20 ปรับใช้อย่างไร ให้เรากลายเป็น นักลงทุนที่เก่งขึ้น   

อธิบาย Pareto Principle กฎ 80/20 ปรับใช้อย่างไร ให้เรากลายเป็น นักลงทุนที่เก่งขึ้น   

25 ก.ย. 2024
เกือบ 80% ของมูลค่าตลาดหุ้นไทย มาจากหุ้นใหญ่สุดแค่ 100 ตัวแรก จากจำนวนหุ้นทั้งตลาดเกือบ 800 ตัว
GDP ของไทยเกือบ 80% มาจาก 20 จังหวัดที่เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในไทย  
สินค้าขายดีที่สร้างรายได้มากมายให้เซเว่น อีเลฟเว่น ก็มีแค่เพียง 20% จากสินค้าหลายร้อยรายการ
รูปแบบตัวเลขที่เราเห็น ณ ตอนนี้ คือรูปแบบเดียวกันกับที่คุณ Vilfredo Pareto นักปรัชญา วิศวกร และนักเศรษฐศาสตร์ ชาวอิตาลี ได้เห็นเมื่อเกือบ 130 ปีก่อน
จนนำไปสู่ Pareto Principle หรือ กฎ 80/20 อันเลื่องชื่อ ที่ใช้กันในหลายวงการ ไม่ว่าจะในโรงงาน, บริหารธุรกิจ หรือการตลาด
แต่ถ้าหากเราลองพิจารณาดูจริง ๆ แล้ว ก็จะพบว่า กฎ 80/20 ของคุณ Pareto เอง ก็สามารถนำมาปรับใช้ ให้เรากลายเป็นนักลงทุนที่เก่งขึ้น ได้เช่นเดียวกัน 
แล้วเราจะเอากฎ 80/20 ของคุณ Pareto มาช่วยในเรื่องการลงทุนของเราได้อย่างไรบ้าง ? 
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ใจความของกฎ 80/20 ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจในประโยคเดียว ก็คือคำว่า “ส่วนน้อย แบกส่วนมาก” 
เพราะเราจะเห็นได้จากตัวอย่างที่ยกมาในตอนต้นว่า สิ่งที่มีจำนวนน้อยนั้น ในหลาย ๆ ครั้งกลับสร้างผลกระทบมหาศาลมาก 
เหมือนกับที่คุณ Pareto ได้เห็นว่า ประมาณ 20% ของต้นถั่วลันเตาทั้งหมดที่เขาปลูกในสวน กลับให้ผลผลิตคิดเป็น 80% ของผลผลิตถั่วลันเตาทั้งหมด 
และเมื่อขยับออกไปดูยังสังคมของประเทศอิตาลีในตอนนั้น คุณ Pareto ก็ยังพบว่าที่ดินกว่า 80% ของประเทศอิตาลี อยู่ในมือของประชากรเพียงแค่ 20% เท่านั้น 
สำหรับการลงทุนเองนั้น สิ่งที่เราสามารถนำกฎ 80/20 ของคุณ Pareto มาปรับใช้ได้อย่างตรงตัวที่สุดก็คงเป็นวิธีการจัดพอร์ตการลงทุนในกองทุนแบบ “Core and Satellite” 
โดยการจัดพอร์ตแบบ Core and Satellite นั้น ก็จะแบ่งพอร์ตการลงทุนของเราออกเป็น 2 ส่วน คือ 
- Core หรือส่วนหลักของพอร์ตการลงทุน มีหน้าที่ทำให้เงินลงทุนค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะยาว
ทำให้การลงทุนในส่วนนี้ จะลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงอย่างดี ในกองทุนของหลากหลายสินทรัพย์ เช่น กองทุนอิงดัชนี, กองทุนรวมตราสารหนี้ และกองทุนรวมอสังหาฯ เป็นต้น
- Satellite หรือส่วนเสริมของพอร์ตการลงทุน มีหน้าที่สร้างผลตอบแทนให้ได้มาก ๆ ในระยะสั้น หรือระยะกลาง
ทำให้พอร์ตส่วนนี้ จะลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงหน่อย แต่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนมาก เช่น กองทุนน้ำมัน หรือกองทุนที่เน้นลงทุนหุ้นเฉพาะกลุ่ม เป็นต้น  
ซึ่งถ้าหากเทียบกับกฎ 80/20 แล้ว เราก็อาจจะวางส่วน Core ที่ผลตอบแทนไม่มาก แต่เป็นเหมือนกองหลังป้องกันเงินต้นของเราได้ดี ไว้ที่ 80% 
และวางส่วน Satellite ที่มีโอกาสทำให้พอร์ตของเราเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เอาไว้ที่ 20%
เพื่อเป็นการจำกัดความเสี่ยง แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้พอร์ตของเราเพิ่มพูนความมั่งคั่งในเวลาสั้น ๆ ได้
หรือถ้าเป็นการลงทุนในหุ้นรายตัว เราก็อาจจะแบ่งระหว่างหุ้นปันผล 80% ส่วนอีก 20% เป็นการลงทุนในหุ้นเติบโต ก็ได้เช่นกัน 
แต่นอกจากการเป็นเครื่องมือช่วยจัดพอร์ตการลงทุนแล้ว หลักการของคุณ Pareto ยังให้ข้อคิดที่สำคัญในการลงทุนกับเรา 
นั่นก็คือ “โฟกัสกับหุ้นให้ถูกตัว”..
จากข้อมูลของ Charles Schwab ผู้ให้บริการการเงินและการลงทุนชื่อดังของสหรัฐฯ ได้แสดงให้เห็นว่า
ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 500 ตัวในดัชนี S&P 500 มีเพียงแค่ 85 ตัวเท่านั้น ที่ทำผลตอบแทนชนะตัวของดัชนี S&P 500 เอง
แน่นอนว่าถ้าคิดออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ ก็จะอยู่ที่ 17% ใกล้เคียงกันกับกฎ 80/20 ของคุณ Pareto.. 
จะเห็นได้ว่าถ้านักลงทุนคนไหน เสียเวลาไปกับหนึ่งในหุ้นอีก 415 ตัวในดัชนี S&P 500 
สิ่งที่เขาจะได้รับจากการนั่งหลังขดหลังแข็ง แกะงบการเงิน และอ่านรายงานประจำปีของบริษัท ก็คือผลตอบแทนที่น้อยกว่า หรือพอ ๆ กันกับตลาด 
ที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องพยายามมากขนาดนั้น ด้วยการซื้อกองทุนอิงดัชนี 
แต่ถ้าเปลี่ยนมาโฟกัสกับบริษัทที่ดี มีคุณภาพ แถมมีความสามารถในการแข่งขัน ที่แม้จะหาได้ยาก และเป็นส่วนน้อยของตลาด เหมือนหุ้น 85 ตัวที่กล่าวไปข้างต้น 
ผลตอบแทนที่เขาจะได้รับ ก็คุ้มค่ากับความพยายาม ในการเสาะหาหุ้นดี ๆ เหล่านี้ อย่างแน่นอน 
จากทั้งหมดนี้เองจะเห็นได้ว่า อันที่จริงแล้ว กฎ 80/20 นั้น ไม่เพียงแต่ให้กลยุทธ์ในการจัดพอร์ตลงทุนของเราเท่านั้น 
แต่ยังให้ข้อคิดที่เตือนใจนักลงทุนได้เป็นอย่างดี ว่าการลงทุนนั้น ควรโฟกัสให้ถูกจุด ไปยังโอกาสการลงทุนที่ดีที่สุด 
เพราะว่าเวลาชีวิตกว่า 80% ของเรา ไม่ควรเสียไปกับการแสวงหา และเฝ้ารอ การลงทุนที่ไม่ช่วยเพิ่มพูนความมั่งคั่งแต่อย่างใด
แต่ควรจะเอาไปใช้ร่วมกันกับ ครอบครัว และเพื่อนฝูงที่เป็นมิตรแท้ ที่อาจจะมีจำนวนแค่ 20% จากคนรู้จักในชีวิตของเราต่างหาก.. 
References 
-ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
-สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.