อธิบาย Moving Average เครื่องมือจับจังหวะซื้อขาย ที่นักลงทุนระดับโลกใช้กัน
15 ม.ค. 2025
เมื่อเรามองชิ้นส่วนของจิกซอว์เพียงชิ้นเดียว แทบไม่มีทางรู้ได้เลยว่าภาพรวมทั้งหมดเป็นอย่างไร เราต้องนำหลาย ๆ ชิ้นมาต่อกันถึงจะเห็นภาพที่สมบูรณ์
เช่นเดียวกับราคาหุ้น หากเรามองแค่การขึ้นลงในแต่ละวัน เราอาจจะสับสนกับความผันผวนที่เกิดขึ้น แต่เมื่อเรานำราคาหลาย ๆ วันมาเรียงต่อกัน เราถึงจะเห็นทิศทางราคาที่ชัดเจนขึ้น
และหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้เรามองเห็นทิศทางแนวโน้มราคาหุ้นได้ชัดเจนขึ้นแบบง่าย ๆ คือ เส้นค่าเฉลี่ย นั่นเอง
แล้วเส้นค่าเฉลี่ยช่วยให้เราเห็นแนวโน้มได้อย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุนให้เข้าใจง่าย ๆ
เส้น Moving Average (MA) หรือ เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ คือเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคที่ช่วยมองแนวโน้มของราคาสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น หุ้น ดัชนี และสินค้าโภคภัณฑ์
โดยคำนวณค่าเฉลี่ยของราคาปิดย้อนหลัง ตามจำนวนวันที่กำหนด แล้วนำค่าที่ได้มาเรียงต่อกันเป็นเส้นกราฟ
เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่มีหลายแบบ แต่ที่นิยมใช้กันคือ เส้น SMA (Simple Moving Average) และเส้น EMA (Exponential Moving Average)
โดยเส้น SMA เป็นการคำนวณแบบง่าย ๆ โดยนำราคาปิดมารวมกัน แล้วหารตามจำนวนวันที่ต้องการ
เช่น ถ้าอยากรู้ค่าเฉลี่ย 10 วัน ก็นำราคาปิด 10 วันมารวมกัน แล้วหารด้วยจำนวนวันนั่นคือ 10 วัน
แต่วิธีนี้มีข้อจำกัดคือ ให้ความสำคัญกับราคาทุกวันเท่ากัน ทั้งที่ราคาล่าสุดควรมีความสำคัญมากกว่า เพราะสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันได้ดีกว่า
จึงมีการพัฒนาเส้น EMA ขึ้นมา โดยเส้นนี้ให้ความสำคัญกับราคาล่าสุดมากกว่า ทำให้เส้น EMA สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาได้รวดเร็วกว่า
แล้วเราจะสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นค่าเฉลี่ยได้อย่างไรบ้าง ?
1. ช่วยบอกระดับราคาเฉลี่ย
เส้นค่าเฉลี่ยเปรียบเสมือนต้นทุนเฉลี่ยของคนส่วนใหญ่ในช่วงเวลานั้น ๆ เช่น ถ้าเป็นเส้นค่าเฉลี่ย 10 วัน ก็คือต้นทุนเฉลี่ยของคนที่เข้ามาซื้อขายในช่วง 10 วันที่ผ่านมา
2. ช่วยบอกแนวโน้ม
เส้นค่าเฉลี่ยเป็นเครื่องมือที่เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียว
กับราคาสินทรัพย์นั้น จึงช่วยให้เรามองเห็นทิศทางของราคาได้ชัดเจนขึ้น
- ถ้าราคาอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย มักเป็นแนวโน้มขาขึ้น
- ถ้าราคาอยู่ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย มักเป็นแนวโน้มขาลง
3. ช่วยบอกความแข็งแกร่งของแนวโน้ม
ความชันของเส้นค่าเฉลี่ยสามารถบอกความแข็งแกร่งของแนวโน้มได้
- ถ้าเส้นค่าเฉลี่ยยิ่งชันมาก แสดงว่าแนวโน้มนั้นแข็งแกร่ง และราคามีโอกาสวิ่งต่อในทิศทางนั้น
- ถ้าเส้นค่าเฉลี่ยมีความชันลดลง อาจเป็นสัญญาณว่าราคากำลังพักตัว
- ถ้าความชันเส้นค่าเฉลี่ยเริ่มปักหัวลง เป็นสัญญาณบอกว่าแนวโน้มขาขึ้นกำลังอ่อนแรง
4. ช่วยบอกแนวรับ แนวต้าน
เส้นค่าเฉลี่ยทำหน้าที่เป็นแนวรับเมื่อราคาลงมาแตะแล้วดีดตัวกลับ และเป็นแนวต้านเมื่อราคาขึ้นไปแตะแล้วไม่สามารถทะลุผ่านไปได้
โดยเฉพาะเส้นค่าเฉลี่ยระยะยาวอย่างเส้น 200 วัน มักเป็นแนวรับ แนวต้านที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม การใช้งานเส้นค่าเฉลี่ยในการวิเคราะห์ ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์และระยะเวลาการลงทุนของนักลงทุนแต่ละคน
มาดูกันว่านักลงทุนระดับโลกแต่ละคนเลือกใช้เส้นค่าเฉลี่ยอย่างไรกันบ้าง
1. Marty Schwartz เทรดเดอร์สายเดย์เทรดระดับโลก
ใช้เส้น EMA 10 วัน เพื่อระบุแนวโน้มของราคา
โดยหากราคาสินทรัพย์อยู่เหนือเส้น จะพิจารณาโอกาสในการซื้อ ตรงกันข้ามหากราคาต่ำกว่าเส้น จะมองเป็นสัญญาณขาย
2. William O'Neil นักลงทุนระดับตำนานเจ้าของกลยุทธ์ CANSLIM ใช้เส้นค่าเฉลี่ย 10 สัปดาห์ เพื่อประเมินว่าหุ้นยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นหรือไม่
โดยเส้นค่าเฉลี่ย 10 สัปดาห์ หากเราใช้ในกราฟรายวันจะเทียบเท่ากับเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน
3. David Ryan แชมป์เทรดเดอร์ 3 สมัย และศิษย์เอกของ William O'Neil ใช้เส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน และ 200 วัน
เพื่อระบุแนวโน้มขาขึ้น
โดยนิยามแนวโน้มขาขึ้นว่า เส้นค่าเฉลี่ย 50 วันต้องอยู่เหนือเส้น 200 วัน และทั้งสองเส้นต้องมีความชันที่เอียงสูงขึ้นด้วย
4. Mark Minervini แชมป์เทรดเดอร์ 2 สมัย ใช้เส้นค่าเฉลี่ย 50, 150 และ 200 วัน เพื่อระบุแนวโน้มขาขึ้น
และใช้เป็นหนึ่งในเงื่อนไขการซื้อหุ้น คือ เส้นค่าเฉลี่ย 50 วันต้องอยู่เหนือเส้น 150 วัน และ 200 วัน และจะไม่ซื้อหุ้นที่อยู่ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน
5. Stan Weinstein เจ้าของกลยุทธ์ Stage Analysis
ใช้เส้นค่าเฉลี่ย 30 สัปดาห์ หรือเทียบเท่า 150 วัน
เป็นเครื่องมือสำคัญในการแบ่งวงจรหุ้น
โดยแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงสะสมฐาน ช่วงขาขึ้น ช่วงพักตัว และช่วงขาลง
ซึ่งนิยามช่วงขาขึ้นคือ ช่วงที่ราคาหุ้นอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย 30 สัปดาห์ หรือเทียบเท่ากับเส้นค่าเฉลี่ย 150 วัน
6. Paul Tudor Jones ผู้ก่อตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ Tudor Investment Corporation ให้ความสำคัญกับเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน โดยใช้เป็นเส้นแบ่งแนวโน้มตลาด
หากราคาสินทรัพย์ปิดเหนือเส้น 200 วัน
แปลว่าตลาดกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น เขาจะเข้าซื้อ
แต่หากราคาสินทรัพย์ปิดต่ำกว่าเส้น 200 วัน
แปลว่าตลาดกำลังอยู่ในช่วงขาลง เขาจะขายสินทรัพย์ออก และทำการขายชอร์ตสินทรัพย์นั้นแทน
โดยแค่เครื่องมือง่าย ๆ ของ Paul Tudor Jones นี้เอง ก็ทำให้เขาสามารถหลีกเลี่ยงการขาดทุนหนัก พร้อมทำกำไรถึง 200% จากการปรับตัวลงหนักของดัชนีดาวโจนส์ ในปี 1987 หรือเหตุการณ์ Black Monday อีกด้วย
จะเห็นได้ว่า เส้นค่าเฉลี่ยไม่ใช่สูตรสำเร็จในการลงทุน นักลงทุนระดับโลกแต่ละคนมีการใช้เส้นค่าเฉลี่ยที่แตกต่างกันไปตามกลยุทธ์ของตัวเอง
ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือการเลือกเส้นค่าเฉลี่ยที่เหมาะสมกับรูปแบบการลงทุนของเรา
อย่างเช่น ถ้าหากเราเน้นลงทุนระยะยาว แต่กลับตัดสินใจด้วยการใช้เส้น MA ระยะสั้น เช่น 50 วัน ก็อาจทำให้เราตัดสินใจซื้อขายเร็วจนเกินไป และทำให้เราไม่สามารถโฟกัสกับการถือหุ้นในระยะยาวได้
อย่างไรก็ตาม เส้นค่าเฉลี่ยเป็นเพียงเครื่องมือเสริมที่ช่วยยืนยันทิศทางแนวโน้มของราคาเท่านั้น
การตัดสินใจลงทุนควรศึกษาข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการตัดสินใจให้รอบคอบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น..
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#MovingAverage
References
-หนังสือ Technical Analysis of The Financial Markets : เทคนิคอล อนาไลซิส (2018)
โดย John J. Murphy
-หนังสือ Momentum Masters : โมเมนตัม มาสเตอร์ (2017) โดย Mark Minervini, David Ryan, Dan Zanger และ Mark Ritchie II
-หนังสือ Pit Bull : Lessons from Wall Street's Champion Day Trader : ตามติดชีวิตโคตรแชมป์เดย์เทรด (2019) โดย Martin Schwartz
-หนังสือ How to Make Money in Stocks : CANSLIM คัดหุ้นชั้นยอดด้วยระบบชั้นเยี่ยม (2015) โดย William O'Neil