อธิบาย Eisenhower Matrix เครื่องมือจัดการ เป้าหมายการเงิน ที่ทุกคนควรใช้
25 ธ.ค. 2024
- มีเงิน 40 ล้านบาท เพื่อพอเกษียณอย่างสุขสบาย
- เงินสำรองฉุกเฉินต้องมีอย่างน้อย 6 เดือน
- แต่สินค้าที่เราอยากได้ก็มีโปรโมชันลดราคาส่งท้ายปี
- ร้านอาหารเปิดใหม่ ที่เห็นในออนไลน์ ก็น่ากินมาก
นี่คงเป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนต้องเจอ เมื่อกำลังเริ่มวางแผนการเงินอย่างจริงจัง เมื่อเป้าหมายต่าง ๆ ประเดประดังเข้ามา จนเหมือนว่าเราไม่มีทางที่จะทำทุกอย่างได้ทัน เพราะไม่รู้จะเริ่มทำอะไรก่อนดี
เราจึงต้องพึ่งเครื่องมือในการแยกย่อย และจัดลำดับความสำคัญ เป้าหมายทางการเงินของเรา เพื่อสร้างแผนทางการเงินที่ชัดเจนขึ้น
ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า “Eisenhower Matrix” นั่นเอง
และถ้าสงสัยว่า Eisenhower Matrix จะช่วยให้เราจัดการเป้าหมายทางการเงินได้ดีขึ้นอย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
Eisenhower Matrix นั้นเป็นวิธีการจัดการงานและเวลา ที่ตั้งขึ้นตามชื่อผู้คิดค้นอย่าง นายพลและอดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา อย่างคุณ Dwight D. Eisenhower
ซึ่ง Eisenhower Matrix นั้นจะจำแนกงานออกง่าย ๆ เป็น 4 ประเภท แบ่งตามความเร่งด่วน และความสำคัญ นั่นก็คือ
1. งานที่เร่งด่วนและสำคัญ ต้อง “ทำทันที”
เช่น คุณ A ต้องทำสไลด์พรีเซนต์โปรเจกต์ให้กับลูกค้าของตัวเอง ภายในวันพรุ่งนี้ตอนเที่ยง ก็ควรต้องเริ่มทำได้แล้ว เพื่อให้เสร็จก่อนเวลาที่กำหนด
2. งานที่เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ ต้อง “มอบหมาย”
เช่น คุณ B ต้องกรอกตัวเลขใส่ในรายงานของแผนก แต่ตัวเองติดประชุมที่สำคัญอยู่ ก็สามารถฝากให้คนในทีมกรอกตัวเลขให้ได้ แทนที่จะเอามากรอกเองระหว่างประชุม
3. งานที่ไม่เร่งด่วนแต่สำคัญ ต้อง “ตัดสินใจ”
เช่น คุณ C วางแผนว่าจะขึ้นเป็นผู้บริหารภายใน 5 ปีข้างหน้า ก็สามารถใช้เวลาระหว่างนี้ วางแผนเพื่อตัดสินใจได้ว่าตัวเองจะต้องเรียนรู้ทักษะอะไรเพิ่มบ้าง
4. งานที่ไม่เร่งด่วนและไม่สำคัญ ต้อง “ทิ้ง”
เช่น คุณ D อยากจะนั่งจัดเรียงไฟล์ในหน้าจอคอมพิวเตอร์ของตัวเองให้สวยงามไม่รกตา ที่สามารถทำตอนไหนก็ได้ และไม่น่าจำเป็นต้องทำด้วย
แล้วถ้าเราเอามาปรับใช้กับเรื่องการบริหารเงินส่วนบุคคลบ้างล่ะ ?
การใช้ Eisenhower Matrix จัดการเป้าหมายทางการเงินนั้นก็คล้าย ๆ กันกับที่ใช้กับการจัดการงานทั่วไปเลย
โดยเราก็จะแบ่งเป้าหมายทางการเงินของเรา ออกเป็น 4 ประเภทเช่นเดียวกันคือ
1. เป้าหมายที่เร่งด่วนและสำคัญ ต้อง “ทำทันที”
เป้าหมายส่วนนี้ ส่วนใหญ่ควรจะเป็นเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสภาพคล่อง เช่น การควบคุมรายจ่ายไม่ให้มากกว่ารายได้ พร้อมเหลือเงินเก็บ
การบริหารให้รายจ่ายหนี้สินของเรา ไม่มากกว่ารายได้เกิน 40% หรือการมีเงินเก็บสำรองฉุกเฉิน เพียงพอกับค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 3 เดือน ในกรณีที่ไม่มีภาระ เป็นต้น
เพราะถ้าหากเราไม่มีสภาพคล่อง หรือเงินให้ใช้จ่ายในแต่ละวันอย่างเพียงพอแล้ว เป้าหมายทางการเงินอื่น ๆ ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะสามารถทำได้อีกต่อไป
2. เป้าหมายที่เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ ต้อง “คุมตัวเอง”
เป้าหมายตรงนี้เองที่ทำให้หลายคนติดกับดักว่า นี่ก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่ “สำคัญ” เพียงเพราะว่ามันมีเวลาจำกัด อย่างเช่น ของลดราคาช่วงเดือนต่าง ๆ หรือโปรโมชัน
แต่อันที่จริงแล้วมันเป็นเพียงแค่ความเร่งด่วนเท่านั้น ที่ทำให้เราคิดว่าสำคัญ เพราะกลัวว่ามันจะไม่ถูกไปมากกว่านี้ หรือกลับมาถูกขนาดนี้อีกแล้ว
เพราะฉะนั้น ถ้าเราเจอกับสิ่งเหล่านี้ ควรจะต้องถามตัวเองอีกครั้งว่า สินค้าราคาถูกเหล่านี้ เราอยากซื้อเพราะจะได้ของมาใช้ในราคาที่ถูกลง หรือว่าอยากซื้อเพียงแค่เพราะราคาถูกกันแน่
3. เป้าหมายที่ไม่เร่งด่วนแต่สำคัญ ต้อง “วางแผน”
การมีเงินให้พอใช้อย่างสุขสบายตอนเกษียณนั้น แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่สำหรับหลาย ๆ คนในวัยทำงานตอนนี้ ก็ยังเป็นเป้าหมายที่อยู่ไกลหลักหลายสิบปี
เพราะฉะนั้น เมื่อมีเวลามากขนาดนี้ สิ่งที่เราควรทำก็คือเริ่มวางแผน และเก็บออม พร้อมกับลงทุน ไว้ตั้งแต่วันนี้เลย
เพราะสิ่งที่สำคัญในการลงทุนนอกจากผลตอบแทน และเงินต้นนั้น ก็คือระยะเวลา ถ้ายิ่งเราเริ่มวางแผนเกษียณเร็ว พร้อมกับลงทุนในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนดีในระยะยาว เราก็มีโอกาสถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น
4. เป้าหมายที่ไม่เร่งด่วนและไม่สำคัญ ต้อง “ตัดทิ้ง”
การแยกให้ออกระหว่าง “สิ่งที่จำเป็น” และ “สิ่งที่อยากได้” คือก้าวแรกที่สำคัญในการวางแผนการเงินให้มีประสิทธิภาพ
เพราะถ้าเราแยกไม่ได้ ก็เหมือนกับการเทน้ำใส่ตะกร้า ที่หาเงินมาได้มากมายเท่าไร ก็แทบจะไม่เหลือเก็บเลย
ทำให้ก่อนที่เราจะบอกว่า “ของมันต้องมี” หรืออยากจะตามกระแสอะไรในครั้งหน้า อาจจะต้องถามก่อนว่า เราจะต้องมีมันไปเพื่ออะไร และมีแล้วจะกระทบเป้าหมายทางการเงิน ในส่วนที่มีความสำคัญของเราหรือไม่
จากทั้งหมดนี้เองจะเห็นได้ว่า Eisenhower Matrix นั้น เราไม่เพียงแต่สามารถนำไปใช้จัดการภาระงานต่าง ๆ ในที่ทำงานของเราเพียงเท่านั้น
แต่เรายังสามารถนำมันกลับมาใช้ที่บ้าน เพื่อช่วยจัดการเป้าหมายเรื่องการเงินที่ถาโถมเราเข้ามา จนไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มทำอะไรก่อนได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ต้องเตือนไว้ก่อนว่า ความเร่งด่วนนั้นเป็นสิ่งที่ผูกอยู่กับระยะเวลา ทำให้หลาย ๆ เป้าหมายที่อาจจะเคยไม่เร่งด่วนเมื่อหลายปีก่อนหน้า กลายเป็นเร่งด่วนแล้วในวันนี้
เหมือนอย่างเช่น การวางแผนเกษียณ ที่เราไม่ควรจะเพิ่งมาเริ่มทำทุกอย่าง ในวันที่ต้องวางมันไว้ในเป้าหมายประเภทเร่งด่วนและสำคัญ ซึ่งตอนนั้นก็คงสายเกินไปแล้ว..
#วางแผนการเงิน
#หลักการวางแผนการเงิน
#EisenhowerMatrix
References