อธิบาย ทฤษฎี Wyckoff อ่านใจรายใหญ่ ด้วยพฤติกรรมราคา แบบเข้าใจง่าย ๆ
11 ธ.ค. 2024
เคยสังเกตไหมว่า หลายครั้งที่ราคาหุ้นมักจะปรับตัวลงก่อน ที่ข่าวร้ายจะถูกเปิดเผยออกมา เหมือนมีใครรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ความน่าสงสัยเหล่านี้ มักเกิดขึ้นเป็นปกติในตลาดหุ้น เพราะไม่มีทางที่นักลงทุนในตลาด จะรู้ข้อมูลต่าง ๆ เท่ากันได้ 100% อยู่แล้ว
แต่รู้หรือไม่ว่า มีทฤษฎีหนึ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจ
สัญญาณเหล่านี้ได้ ผ่านการวิเคราะห์พฤติกรรมราคา และจับร่องรอยของนักลงทุนรายใหญ่ในตลาด
นั่นก็คือ “ทฤษฎี Wyckoff”
แล้วทฤษฎีนี้ทำงานอย่างไร ทำไมถึงช่วยให้เราอ่านเกมรายใหญ่ได้ดีขึ้น ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
นักลงทุนรายใหญ่ในที่นี้ ส่วนใหญ่จะหมายถึง สถาบันการเงิน กองทุน หรือนักลงทุนที่มีพอร์ตขนาดใหญ่ ซึ่งมีศักยภาพ ในการขับเคลื่อนราคาในตลาด
โดยจุดเริ่มต้นของทฤษฎีนี้เกิดจากการที่คุณ Richard Demille Wyckoff สังเกตเห็นพฤติกรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ของนักลงทุนรายใหญ่ ในช่วงที่ทำงานที่บริษัทหลักทรัพย์
เขาพบว่า นักลงทุนเหล่านี้มักจะเคลื่อนไหวในรูปแบบที่คล้ายกัน
“พวกเขาจะซื้อตอนที่คนอื่นกลัว และขายตอนที่คนอื่นโลภ”
และที่สำคัญคือ การเคลื่อนไหวของพวกเขาจะทิ้งร่องรอย ให้เห็นผ่านพฤติกรรมราคาเสมอ
จากการสังเกตและศึกษาอย่างต่อเนื่อง เขาได้รวบรวม และตกผลึกออกมาเป็นทฤษฎี Wyckoff ในปัจจุบัน
ทฤษฎี Wyckoff นั้น จะเป็นการวิเคราะห์พฤติกรรมการ เคลื่อนไหวของราคาหุ้นและปริมาณการซื้อขาย
โดยมีหลักการพื้นฐานที่เข้าใจง่าย ๆ ว่า ทุกการเคลื่อนไหวของราคาเกิดจากแรงซื้อและแรงขาย
เมื่อมีคนอยากซื้อมากกว่าขาย ราคาก็จะขึ้น เมื่อมีคนอยากขายมากกว่าซื้อ ราคาก็จะลง เหมือนเรื่องอุปสงค์และอุปทานในวิชาเศรษฐศาสตร์
แต่คุณ Wyckoff จะให้ความสำคัญกับการสังเกตว่า ฝั่งไหนเป็นรายใหญ่ เพราะการเคลื่อนไหวของราคา มักเกิดจากการกระทำของรายใหญ่
โดยมองว่าการเล่นหุ้นเปรียบเสมือนการทำธุรกิจของรายใหญ่ ที่ทยอยเก็บหุ้นไว้จำนวนมาก ในช่วงจุดต่ำสุด เพื่อนำไปขายในราคาที่สูงขึ้น พร้อมทำกำไรได้มหาศาล
การเคลื่อนไหวของราคาที่คุณ Wyckoff สังเกตเห็น จะเป็นวัฏจักรที่มีรูปแบบที่ชัดเจน แบ่งเป็น 4 ช่วงสำคัญ
- ช่วงสะสม (Accumulation)
ราคาเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ ระหว่างแนวรับ และแนวต้าน ไม่มีการพุ่งขึ้น หรือดิ่งลงรุนแรง หรือที่มักเรียกกันว่า Sideway ตรงนี้เป็นช่วงที่รายใหญ่กำลังสะสมกำลังซื้อ หรือที่นักลงทุนมักเรียกกันว่า “เจ้าเก็บของ”
- ช่วงราคาขึ้น (Markup)
ราคาเริ่มแสดงทิศทางขึ้นอย่างชัดเจน สามารถทะลุผ่านแนวต้านด้านบน และเมื่อย่อตัวลงก็ไม่หลุดต่ำกว่า ระดับราคาเดิมที่ทะลุแนวต้านออกไป แบบนี้เป็นลักษณะของแนวโน้มขาขึ้น
- ช่วงแจกจ่าย (Distribution)
ราคากลับมาเคลื่อนไหวในกรอบแนวราบ หรือ Sideway อีกครั้ง แต่ช่วงนี้มักมีความผันผวน และปริมาณการซื้อขายสูงกว่าช่วงสะสม
ตรงนี้รายใหญ่อาจจะรินขายออกมาบ้าง แต่ด้วยแรงซื้อจากนักลงทุนรายย่อยที่เข้ามาไล่ราคา จะทำให้ราคายังตกไม่แรง หรือบางครั้งอาจจะวิ่งไปต่อได้อีกนิดหน่อยด้วย
- ช่วงราคาลง (Markdown)
ราคาเริ่มแสดงทิศทางลงอย่างชัดเจน หลุดผ่านแนวรับด้านล่าง และเมื่อดีดตัวขึ้นก็ไม่สามารถกลับไปถึงจุดสูงสุดเดิม เป็นลักษณะของแนวโน้มขาลง
ซึ่งตรงนี้เองที่นักลงทุนเรียกว่าเป็นตอนที่ “เจ้าปล่อยของ” แล้วนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในตลาดที่ซับซ้อน รูปแบบดังกล่าวอาจไม่ได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเสมอไป
บางครั้งการเคลื่อนไหวของวัฏจักรราคาอาจจะมี
ช่วงสะสม ช่วงราคาขึ้น มาสะสมเพิ่ม และกลับขึ้นไปอีกรอบ
แต่ทั้งช่วงสะสมและช่วงแจกจ่าย มักมีลักษณะการเคลื่อนไหวที่คล้ายกัน คือ ราคาย่ำอยู่ในกรอบ แนวรับและแนวต้าน
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงสะสม หรือช่วงแจกจ่ายของรายใหญ่กันแน่ ?
ตามทฤษฎี Wyckoff ลักษณะและเงื่อนไข ความแตกต่างสำคัญของสองช่วงนี้ คือ
1. ความผันผวน
ช่วงสะสม ราคาจะเคลื่อนไหวนิ่งและแกว่งในกรอบแคบ มีปริมาณการซื้อขายเบาบาง
ในขณะที่ช่วงแจกจ่าย แม้จะเคลื่อนไหวแบบ Sideway แต่ราคาจะผันผวนรุนแรง พร้อมกับมีปริมาณการซื้อขายสูงผิดปกติ
2. พฤติกรรมการทดสอบแนวรับ แนวต้าน
ช่วงสะสม เมื่อราคาปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้าน จะแทบไม่มีแรงขายออกมา แสดงให้เห็นว่า แรงขายหมดไปแล้ว
ส่วนช่วงแจกจ่าย เมื่อราคาปรับตัวลงทดสอบแนวรับ จะแทบไม่มีแรงซื้อเข้ามาหนุน แสดงให้เห็นว่า แรงซื้อเริ่มจะหมดแล้ว
3. การหลอกของราคา
ช่วงสะสม จะมีการหลอกให้ราคาหลุดแนวรับบ้าง เพื่อเขย่าคนถือหุ้นให้ขายออกมา ทำให้ได้ซื้อหุ้นเก็บไว้ ในราคาถูกลงอีก
ส่วนช่วงแจกจ่าย จะมีการหลอกให้ราคาทะลุแนวต้าน เพื่อล่อให้คนวิ่งเข้ามาซื้อ ทำให้มีโอกาสขายหุ้น ในราคาแพงขึ้นอีก
4. ปริมาณการซื้อขาย
ช่วงสะสม ในวันที่หุ้นปรับตัวขึ้นเป็นแท่งเขียว จะมีปริมาณการซื้อขายสูง แสดงให้เห็นว่าแรงซื้อ มีมากกว่าแรงขาย
ส่วนช่วงแจกจ่าย ในวันที่หุ้นปรับตัวลงเป็นแท่งแดง จะมีปริมาณการซื้อขายสูง แสดงให้เห็นว่าแรงขาย มีมากกว่าแรงซื้อ
5. แนวโน้มราคา
ในช่วงท้ายของช่วงสะสม ราคาจะสร้างจุดต่ำสุด และจุดสูงสุดที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นสัญญาณของ การเริ่มต้นแนวโน้มขาขึ้น หรือที่เรียกว่า “ทำ New High”
ส่วนในช่วงท้ายของช่วงแจกจ่าย ราคาจะสร้างจุดสูงสุด และจุดต่ำสุดที่ต่ำลงเรื่อย ๆ เป็นสัญญาณของ การเริ่มต้นแนวโน้มขาลง หรือที่เรียกว่า “ทำ New Low”
อ่านถึงตรงนี้ก็น่าจะพอเห็นภาพตามทฤษฎี Wyckoff ว่า ช่วงที่ราคาเคลื่อนไหวนิ่ง ๆ ด้วยปริมาณการซื้อขายที่เบาบาง มักเป็นช่วงสะสมที่รายใหญ่กำลังทยอยเก็บหุ้น
แต่เมื่อราคาเริ่มผันผวนรุนแรง และมีปริมาณการซื้อขายสูงผิดปกติ พร้อมกับแนวโน้มที่อ่อนตัวลง โดยที่ยังไม่มีข่าวร้ายใด ๆ
นั่นอาจบ่งชี้ว่า หุ้นอาจกำลังเข้าสู่ช่วงแจกจ่าย ซึ่งเราควรระวังการทยอยขายหุ้นของรายใหญ่ ก่อนที่ข่าวร้ายจะถูกเปิดเผย
และแม้ว่าทฤษฎี Wyckoff จะอ้างอิงจากพฤติกรรมในอดีต แต่ก็ยังเป็นแนวทางการวิเคราะห์ที่น่าสนใจ ตราบใดที่อารมณ์ของมนุษย์ยังคงมีบทบาทในตลาด
อย่างไรก็ตาม ทฤษฎี Wyckoff ในบทความนี้ เป็นเพียง หลักการพื้นฐานเบื้องต้นเท่านั้น
เพราะยังมีรายละเอียด หลักการ และเทคนิคที่เราต้องศึกษาเพิ่มเติมอีก เพื่อให้เราสามารถเข้าใจการเคลื่อนไหวของตลาด ให้ครบถ้วนมากขึ้น..
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#Wyckoff
References
-หนังสือ The Wyckoff Methodology in Depth : How to Trade Financial Markets Logically (2021) โดย Ruben Villahermosa Chaves