สแกนหุ้นคุณภาพ ด้วยคำถาม 16 ข้อ สไตล์ Christopher H. Browne
7 ส.ค. 2024
การวิเคราะห์บริษัท ไม่ได้มีเพียงแค่การดูตัวเลขทางการเงิน และอัตราส่วนที่สำคัญต่าง ๆ เพียงเท่านั้น
การจะมองบริษัทให้รอบด้านก่อนลงทุน จำเป็นต้องวิเคราะห์บริษัทในเชิงคุณภาพด้วย เพราะมีหลาย ๆ สิ่งในธุรกิจ ที่งบการเงินไม่สามารถบอกเราได้
ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราเลือกหุ้นที่มีคุณภาพดีได้
คือ การรู้จักตั้งคำถามที่ถูกต้อง
โดยนักลงทุนหุ้นคุณค่าในตำนานอย่างคุณ Christopher H. Browne ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของคุณ Benjamin Graham ได้มีการตั้งคำถาม 16 ข้อในการตรวจสอบคุณภาพบริษัท ก่อนตัดสินใจลงทุน
หากอยากรู้ว่าคำถาม 16 ข้อมีอะไรบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
1. บริษัทมีอำนาจในการขึ้นราคาไหม ?
โดยความสามารถในการขึ้นราคาสินค้าขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าและระดับการแข่งขันในตลาด
ซึ่งสินค้าที่มีความต้องการสูง และมีคู่แข่งขันน้อยจะสามารถขึ้นราคาได้ง่ายกว่า
2. บริษัทมีแผนเพิ่มยอดขายอย่างไร ?
การสร้างยอดขายให้เติบโตเรื่อย ๆ ย่อมเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของทุกบริษัท เพราะฉะนั้น ถ้าบริษัทไหนมีแผนเพิ่มยอดขายที่ดี ก็ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง
อย่างไรก็ตาม บริษัทนั้นไม่ควรเพิ่มยอดขายด้วยโปรโมชัน ลดแลกแจกแถมเป็นหลัก เพราะแม้รายได้จะเพิ่มขึ้น แต่กำไรอาจจะไม่เพิ่มขึ้นตาม
3. ถ้ายอดขายเท่าเดิม บริษัทจะมีกำไรเพิ่มได้ไหม ?
สำหรับบริษัทที่ดี แม้รายได้จะไม่เติบโต ก็ยังสามารถทำกำไรเพิ่มได้ จากการเน้นขายสินค้าที่มีอัตรากำไรสูง หรือสามารถลดต้นทุนได้
เพราะฉะนั้นคุณ Browne จะระวังบริษัทที่ไม่สามารถควบคุมต้นทุนหลักได้ เช่น บริษัทขนส่งที่ควบคุมต้นทุนน้ำมันได้ยาก หรือบริษัทคุกกี้ที่ควบคุมต้นทุนน้ำตาลไม่ได้
4. บริษัทควบคุมต้นทุนในการขายและบริหารได้หรือไม่ ?
ตรวจสอบว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร
ต่อรายได้ มากน้อยแค่ไหน และดูว่าบริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้หรือไม่
เพราะการลดค่าใช้จ่ายเหล่านั้น แม้เพียงเล็กน้อย แต่ก็มีส่วนที่จะทำให้กำไรดีขึ้นได้ นอกจากนี้การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ ก็สามารถช่วยเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นได้เช่นกัน
5. บริษัทสามารถทำให้กำไร โตไปพร้อม ๆ ยอดขายได้หรือไม่ ?
ตรวจสอบว่า การเพิ่มยอดขายจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่ เพราะบริษัทที่ดี จะสามารถเปลี่ยนยอดขายที่เพิ่มขึ้น ให้กลายเป็นกำไรได้จำนวนมาก
สิ่งนี้ในทางการเงินเรียกว่า บริษัทมี Operating Leverage ที่ดี โดยถ้าบริษัทไหนสามารถกดต้นทุนให้ต่ำ ก็จะสามารถสร้างกำไรให้เพิ่มขึ้นได้มาก แม้รายได้จะโตเพียงเล็กน้อย
6. บริษัทยังสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ไหม ?
สิ่งที่แสดงความสามารถในการแข่งขันของบริษัท ก็คืออัตรากำไรสุทธิ เพราะฉะนั้นถ้าหากบริษัทมีอัตรากำไรสุทธิลดลง ให้เราตรวจสอบว่าเกิดจากอะไร
เพราะอาจเกิดจากปัจจัยภายในบริษัท เช่น ความผิดพลาดของผู้บริหาร, สินค้าตัวใหม่ไม่ประสบความสำเร็จ, ไม่สามารถควบคุมต้นทุนได้ หรือจากปัจจัยภายนอก เช่น อัตราดอกเบี้ย หรือราคาน้ำมัน
จากนั้นก็นำไปเปรียบเทียบดูกับคู่แข่งว่ามากน้อยกว่ากันอย่างไร และที่สำคัญกว่าก็คือผู้บริหารมีแผนจะแก้ไขสถานการณ์นี้อย่างไรบ้าง
7. กำไรที่ลดลงมาจากค่าใช้จ่ายครั้งเดียวไหม ?
ค่าใช้จ่ายครั้งเดียว หรือ One-Time Expenses คือ ค่าใช้จ่ายของบริษัท ที่แม้จะเยอะ แต่จ่ายแค่ปีนี้ หรือไตรมาสนี้แล้วก็จบกัน
เช่น ต้นทุนในการควบรวมกิจการ, การปิดโรงงานหรือแผนกที่ไม่ทำกำไร หรือค่าทนายความในการฟ้องร้องคดีความ เป็นต้น
เพราะฉะนั้น ถ้าบริษัทมีกำไรลดลง ให้ตรวจสอบว่ามาจากค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายครั้งเดียว หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ถ้าเกิดจากค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายครั้งเดียว กำไรก็มีโอกาสจะกลับมาเป็นปกติได้ในอนาคต
8. บริษัทมีการขายธุรกิจที่ไม่ทำกำไรหรือไม่ ?
การที่บริษัทอุ้มแผนก, กลุ่มธุรกิจ หรือสายการผลิต ที่ไม่ทำกำไรไว้ ก็เหมือนยอมให้ตัวเองเลือดไหลอยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้น คุณ Browne จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะการตัดสินใจขายหรือปรับเปลี่ยนธุรกิจที่ไม่ทำกำไร ถือเป็นการกำจัดจุดอ่อน และสามารถทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นได้เป็นเท่าตัวเลย
9. บริษัทถูกคาดหวังว่าจะเติบโตได้มากแค่ไหน ?
หลาย ๆ บริษัทมักจะมีนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าผลประกอบการของบริษัท จะสามารถเติบโตได้มากน้อยแค่ไหน
นั่นจึงทำให้เราต้องคอยสังเกตว่า ผู้บริหารมีความคิดเห็นอย่างไร กับเป้าหมายที่นักวิเคราะห์ประมาณการไว้
ซึ่งจะทำให้เราพอมองออกว่า บริษัทจะทำตามเป้านั้นได้หรือไม่ เพราะถ้านักวิเคราะห์ประมาณการการเติบโตไว้สูงเกินไป แล้วบริษัทโตไม่ทัน ราคาหุ้นก็จะร่วงอย่างรุนแรงได้
10. บริษัทมีแผนการเติบโตใน 5 ปีข้างหน้าอย่างไร ?
ตรวจสอบว่า บริษัทวางแผนการเติบโตอย่างไร เช่น การขยายสาขา, การหาตลาดใหม่ หรือการซื้อบริษัทอื่น เป็นต้น
และประเมินว่าแผนการเติบโตจะส่งผลอย่างไรกับอัตรากำไรสุทธิและผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE)
รวมถึงตรวจสอบแผนการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายด้วย เพราะการเติบโตเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้ทำให้กำไรเพิ่มขึ้นเสมอไป
11. บริษัทเอาเงินสดที่เหลือไปทำอะไรบ้าง ?
ตรวจสอบว่า บริษัทมีแผนการใช้เงินสดอย่างไร
โดยทั่วไปบริษัทที่มีกำไรและเงินสดเยอะ ๆ มักจะจ่ายปันผลเพิ่ม, ขยายธุรกิจ, ซื้อหุ้นบริษัทอื่น หรือซื้อหุ้นบริษัทตัวเองคืน
โดยหน้าที่ของเราเองก็คือ พิจารณาว่าแผนการใช้เงินสดของบริษัท มีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะกระแสเงินสดอิสระ หรือ Free Cash Flow มักจะส่งผลโดยตรงต่อราคาหุ้น
12. บริษัทคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับคู่แข่ง ?
ตรวจสอบว่า บริษัทมีการประเมินผลกระทบ จากการขยายงานของคู่แข่งอย่างไร
นอกจากนี้ตัวของบริษัทเองมีแผนกระตุ้นยอดขาย และรักษาฐานลูกค้าอย่างไร รวมถึงมีกลยุทธ์รับมือการแข่งขันอย่างไรบ้าง
13. สถานะทางการเงินของบริษัทเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ?
เปรียบเทียบตัวเลขทางการเงินที่สำคัญกับคู่แข่ง เช่น อัตราผลตอบแทนต่อเงินทุน (ROIC), อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E), อัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E)
รวมถึงอัตราส่วนมูลค่าต่าง ๆ เช่น
ทำไมหุ้นบริษัทคู่แข่งซื้อขายที่ P/E 20 เท่า
ในขณะที่บริษัทนี้อยู่ที่ 15 เท่า มีปัจจัยอะไรที่
นักลงทุนคนอื่นเห็น แต่เราอาจมองข้ามไป
14. บริษัทมีมูลค่าทั้งบริษัทเท่าไร ถ้ามีคนมาซื้อทั้งกิจการ ?
การประเมินมูลค่าบริษัทโดยใช้วิธีซื้อกิจการทั้งหมดเป็นที่นิยมในช่วงทศวรรษ 1970-1980
โดยหุ้นสถานีโทรทัศน์ในช่วงนั้นใช้ตัวคูณประมาณ 10 เท่าของกระแสเงินสดเพื่อประเมินมูลค่ากิจการ
ในช่วงที่ตลาดหุ้นอาจไม่ได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของบริษัท วิธีนี้ช่วยให้สามารถหาหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงได้
15. บริษัทมีแผนจะซื้อหุ้นคืนหรือไม่ ?
นอกจากการจ่ายเงินปันผลแล้ว บริษัทยังสามารถตอบแทนผู้ถือหุ้นด้วยการซื้อหุ้นคืนได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ถ้าบริษัทประกาศว่าจะทำการซื้อหุ้นคืน ให้ตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีการซื้อคืนจริง เพราะหลายครั้งมีหลายบริษัทประกาศ แต่ไม่ได้ซื้อคืนจริง
16. ผู้ถือหุ้นรายใหญ่กำลังซื้อหรือขายหุ้น ?
หากผู้บริหารและกรรมการบริษัท ทำการขายหุ้นออกมาต่อเนื่อง อาจเป็นสัญญาณว่า ราคาหุ้นของบริษัทสูงเกินมูลค่าของบริษัทแล้ว
แต่ถ้าหากนาน ๆ ขายที อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติอะไร
จากคำถามเหล่านี้ก็เชื่อว่า เราน่าจะเห็นวิธีที่คุณ Browne ใช้ตรวจสอบข้อมูลบริษัทแล้ว
อย่างไรก็ตามการตั้งคำถามเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการทำความเข้าใจบริษัทเท่านั้น
แต่การจะตัดสินใจลงทุนให้แม่นยำ ก็ยังต้องศึกษาข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย..
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#นักลงทุนระดับโลก
Reference
-หนังสือ คัมภีร์หุ้นคุณค่า (2014) โดย Christopher H. Browne