สรุป หลักการ 6 ข้อ ของ Dow Theory แก่นการวิเคราะห์ทางเทคนิค ที่นักลงทุนควรรู้
13 ม.ค. 2025
ทุกศาสตร์ล้วนมีรากฐานสำคัญที่ต้องเรียนรู้ เหมือนการเรียนคณิตศาสตร์ ที่ต้องเริ่มจาก การบวกลบคูณหาร ก่อนจะพัฒนาไปสู่แคลคูลัส
หรือการเรียนภาษาที่ต้องเริ่มจากพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ ก่อนจะเรียบเรียงประโยคที่ซับซ้อน
การวิเคราะห์ทางเทคนิคก็ไม่ต่างกัน หากเราอยากเข้าใจ
เครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ทั้งการใช้เส้นค่าเฉลี่ย รูปแบบกราฟต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการวิเคราะห์ปริมาณการซื้อขาย
ทั้งการเริ่มต้นศึกษาหรือแม้กระทั่งทำความเข้าใจเชิงลึก ก็ควรเริ่มจาก Dow Theory เพราะแก่นของทฤษฎีนี้ คือจุดเริ่มต้นของเครื่องมือทางเทคนิค
และหากอยากรู้ว่าหลักการสำคัญของ Dow Theory มีอะไรบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุนให้เข้าใจง่าย ๆ
จุดเริ่มต้นของ Dow Theory เกิดจากการที่คุณ Charles Dow นักข่าวชาวอเมริกันและผู้ก่อตั้ง The Wall Street Journal ได้สังเกตพฤติกรรมของตลาดหุ้น
จนพบว่าการเคลื่อนไหวของตลาดไม่ได้เกิดขึ้นแบบสุ่ม แต่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
และได้เผยแพร่แนวคิดเหล่านี้ผ่านบทความใน The Wall Street Journal อย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าเขาจะไม่เคยรวบรวมเป็นทฤษฎีอย่างเป็นทางการ แต่หลังจากที่เขาเสียชีวิต นักวิเคราะห์รุ่นหลังก็ได้นำมา รวบรวมและเรียบเรียงจนกลายเป็นทฤษฎีดาว หรือ
Dow Theory ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
โดย Dow Theory มีหลักการพื้นฐานสำคัญ 6 ข้อ คือ
1. ราคาตลาดได้สะท้อนทุกอย่างแล้ว
คุณ Dow เชื่อว่าข้อมูลทุกอย่างในตลาด ไม่ว่าจะเป็นข่าวเศรษฐกิจ การเมือง ข่าวลือ หรืออารมณ์ของนักลงทุน ถูกนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจซื้อขายแล้ว ทำให้ราคาที่เราเห็นอยู่ เป็นผลลัพธ์จากการประเมินข้อมูลเหล่านั้น
และเมื่อราคาสะท้อนทุกอย่างแล้ว การดูกราฟราคาก็คือ การอ่านพฤติกรรมของตลาดที่สะท้อนผลลัพธ์นั้นออกมา เพื่อคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต โดยไม่จำเป็นต้องรู้ สาเหตุที่แท้จริง
2. ราคาเคลื่อนไหวเป็นแนวโน้ม แบ่งออกเป็น 3 ส่วน
คือแนวโน้มหลัก แนวโน้มรอง และแนวโน้มย่อย
- แนวโน้มหลัก
เป็นแนวโน้มระยะยาว ใช้ระยะเวลามากกว่า 1 ปี บางครั้งอาจใช้เวลาหลายปี
โดยในแนวโน้มขาขึ้น ราคาจะทำจุดสูงสุดและจุดต่ำสุด ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และตรงกันข้ามในแนวโน้มขาลง
ราคาจะทำจุดสูงสุดและจุดต่ำสุดที่ต่ำลงเรื่อย ๆ
- แนวโน้มรอง
เป็นการแกว่งตัวระยะกลาง ใช้เวลาหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน โดยจะเป็นช่วงเวลาที่สวนทางกับแนวโน้มหลัก เหมือนช่วงพักตัวระหว่างทาง
ในแนวโน้มหลักขาขึ้น ราคาจะมีช่วงพักตัวย่อลงมา ก่อนที่จะกลับตัวขึ้นไป หรือที่เรามักได้ยินว่า ย่อเพื่อขึ้นต่อ
ตรงกันข้ามในแนวโน้มหลักขาลง ราคาก็จะมีช่วงดีดตัวขึ้น ก่อนที่จะปรับตัวลงต่อ หรือที่เรามักได้ยินว่า เด้งเพื่อลงต่อ
- แนวโน้มย่อย
เป็นความผันผวนระยะสั้น ตั้งแต่ไม่กี่วันถึงสัปดาห์ ส่วนใหญ่มักจะเป็นเพียงสัญญาณรบกวน (Noise) ที่ไม่สามารถบ่งบอกทิศทางที่แท้จริงได้
3. แนวโน้มหลักมี 3 ช่วง คือช่วงการสะสมหุ้น ช่วงการมีส่วนร่วม และช่วงแจกจ่าย
- ช่วงการสะสมหุ้น
เป็นช่วงที่ตลาดเต็มไปด้วยข่าวร้าย และแนวโน้มราคายังไม่ชัดเจน
นักลงทุนที่มองปัจจัยพื้นฐานเป็นหลักมักจะเริ่มสะสม เพราะเชื่อว่าเป็นโอกาสซื้อในราคาถูก ก่อนที่ราคาหุ้นจะฟื้นตัวขึ้นในอนาคต
- ช่วงการมีส่วนร่วม
เป็นช่วงที่ราคาหุ้นเริ่มปรับตัวขึ้น มีแนวโน้มชัดเจน พร้อมกับข่าวดีและปัจจัยบวก ที่ทำให้บรรยากาศการลงทุนคึกคัก
นักลงทุนที่เน้นการวิเคราะห์เทคนิคตามแนวโน้มมักจะเข้าซื้อในช่วงนี้ ส่งผลให้ราคามีการปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง
- ช่วงแจกจ่าย
เป็นช่วงที่บรรยากาศการลงทุนเต็มไป
ด้วยความเชื่อมั่น ทุกสื่อให้ความเห็นในทิศทางเดียวกัน ทำให้ตลาดมีความฮึกเหิมจนปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้น หลายเท่าตัว
ช่วงนี้นักลงทุนที่เคยซื้อหุ้นไว้ก่อนหน้านี้จะเริ่มขายทำกำไร ส่งผลให้ราคาหุ้นชะลอตัวเข้าสู่การปรับฐานได้ในที่สุด
4. ดัชนีต้องยืนยันซึ่งกันและกัน
ในตอนนั้นคุณ Dow เชื่อว่า เมื่อทั้งดัชนีดาวโจนส์และดัชนีการขนส่งดาวโจนส์ เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน
จะเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมกำลังเติบโตไปพร้อมกัน แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มของตลาด มีความแข็งแกร่งและน่าเชื่อถือ
ซึ่งก็หมายความว่า เมื่อเศรษฐกิจเติบโต ดัชนีตลาดหุ้น และหุ้นในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจก็ควรจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันนั่นเอง
5. ปริมาณการซื้อขายต้องยืนยันแนวโน้ม
ปริมาณการซื้อขายจะเป็นตัวช่วยยืนยันว่า แนวโน้มนั้นแข็งแกร่งหรือไม่
สำหรับแนวโน้มหลักขาขึ้น เมื่อราคาหุ้นขึ้น ปริมาณการซื้อขายควรจะเพิ่มขึ้นตาม
และเมื่อราคาย่อพักตัวลง ปริมาณการซื้อขายก็ควรลดลง เพื่อยืนยันว่าแนวโน้มขาขึ้นยังมีความแข็งแกร่ง
ในทางกลับกันสำหรับแนวโน้มขาลง เมื่อราคาปรับตัวลง ปริมาณการซื้อขายควรเพิ่มขึ้น
และเมื่อราคาดีดตัวขึ้น ปริมาณการซื้อขายควรลดลง นั่นคือสัญญาณที่บ่งบอกว่าแนวโน้มขาลงยังดำเนินต่อไป
6. แนวโน้มราคาจะยังอยู่จนกว่าจะมีสัญญาณกลับตัว
คุณ Dow มองว่าแนวโน้มหลักที่เกิดขึ้นจะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีสัญญาณว่าแนวโน้มนั้นสิ้นสุดลง
สำหรับแนวโน้มขาขึ้น คือ ราคาจะทำจุดสูงสุดใหม่ และจุดต่ำสุดใหม่ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง
หากราคาไม่สามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้ และกลับลงมาทำ จุดต่ำสุดที่ต่ำกว่าจุดต่ำสุดก่อนหน้า นั่นถือเป็นสัญญาณ สำคัญที่บ่งบอกว่าแนวโน้มกำลังจะเปลี่ยนจากขาขึ้น ไปเป็นขาลง
จากหลักการทั้ง 6 ข้อจะเห็นว่า แม้ Dow Theory จะถือกำเนิดมานานกว่า 100 ปี แต่หลักการเหล่านี้ ยังคงใช้ได้ดีจนถึงปัจจุบัน
เพราะพฤติกรรมของนักลงทุนและจิตวิทยาตลาด ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก
แม้ว่าในยุคนี้ที่มีเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคมากมาย ให้เลือกใช้ แต่ก็เชื่อว่า Dow Theory ยังคงเป็นจุดเริ่มต้น สำคัญที่ควรศึกษา เพราะช่วยให้เราเข้าใจการเคลื่อนไหว ของตลาดในภาพรวม
และเมื่อนำไปใช้ร่วมกับเครื่องมืออื่น ๆ จะทำให้เรามองเห็นทิศทางตลาดได้ชัดเจน ช่วยประกอบการตัดสินใจลงทุนให้แม่นยำมากขึ้นนั่นเอง..
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#DowTheory
References -https://www.investopedia.com/articles/financial-theory/08/charles-dow.asp?utm_source=perplexity
-หนังสือ Technical Analysis of The Financial Markets : เทคนิคอล อนาไลซิส (2018)
โดย John J. Murphy