สรุป 3 ข้อ เทคนิคทำงานให้ดี และมีความสุข แบบ อ.นภดล ร่มโพธิ์ Nopadol's Story

สรุป 3 ข้อ เทคนิคทำงานให้ดี และมีความสุข แบบ อ.นภดล ร่มโพธิ์ Nopadol's Story

30 ธ.ค. 2024
ในช่วงปีเก่ากำลังจะจากไป และปีใหม่กำลังจะเข้ามาเยือน หลายคนอาจจะเคยแอบคิด และถามตัวเองอยู่บ้างว่า

“ชีวิตของเรามีความสุขไหม และงานที่เรากำลังทำอยู่ คือสิ่งที่ใช่สำหรับเราจริงหรือเปล่า ?”
คำถามนี้ หากคิดดูเร็ว ๆ ก็น่าจะเป็นคำตอบที่เราควรจะตอบได้ไม่ยาก แต่หากให้ใช้เวลาลองคิดให้ละเอียดลึกซึ้งดูอีกที ก็อาจจะกลายเป็นคำถามที่ตอบได้ยากกว่าที่คิด
คงจะเป็นเรื่องที่ดีกับเราไม่น้อยเลย ถ้าจะมีใครสักคนที่ค้นพบเคล็ดลับในการตอบคำถามนี้ มาช่วยชี้ทางสว่าง พร้อมทั้งแนะนำหนทาง เพื่อให้เราได้พบกับคำตอบของคำถามนี้
คนคนนั้นก็คือ
“ศ. ดร.นภดล ร่มโพธิ์”
อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของเพจดังอย่าง Nopadol's Story
และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน OKRs อันดับต้น ๆ ของประเทศไทยด้วย
หากสงสัยว่า อาจารย์นภดล มีเคล็ดลับอะไร ที่สามารถทำให้ชีวิตมีความสุข มีความเบิกบานในทุกวัน และยังสร้างสรรค์ผลงานดี ๆ ออกมาได้ตลอด
MONEY LAB จะมาช่วยสรุปหลักการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในแบบของอาจารย์นภดล ให้เข้าใจแบบง่าย ๆ
สำหรับหลักการทำงานให้ดีและมีความสุข ของอาจารย์นภดล ร่มโพธิ์ สรุปออกมาได้เป็น 3 ข้อ
1. เข้าใจฮอร์โมนความสุข ทั้ง 3 แบบ
ฮอร์โมนความสุขจะมีอยู่ทั้งหมด 3 แบบ โดยจะเกิดขึ้นเมื่อเราทำกิจกรรมที่แตกต่างกัน
- เซโรโทนิน จะเกิดขึ้นตอนที่เราได้กินอิ่ม นอนหลับ และออกกำลังกาย
ฮอร์โมนตัวนี้จะช่วยให้เรามีการนอนหลับที่ดีขึ้น แถมยังช่วยให้เรามีความทรงจำที่ดีด้วย
- ออกซิโทซิน จะเกิดขึ้นตอนที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว
ฮอร์โมนตัวนี้จะช่วยให้เราเกิดความรักความผูกพัน แถมพอเกิดขึ้นแล้ว จะไม่ค่อยหายไปตามกาลเวลาด้วย
- โดพามีน จะเกิดขึ้นตอนเราทำเป้าหมายที่ต้องการสำเร็จ
แต่ฮอร์โมนตัวนี้พอเกิดขึ้นแล้ว ก็มักจะอยู่กับเราไม่นาน และเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เรามักจะเสพติดความสำเร็จกัน
การที่คนส่วนใหญ่ เสพติดความสำเร็จจากการทำงานกันมาก จริง ๆ แล้วก็เป็นผลมาจาก การเสพติดตัวฮอร์โมนโดพามีนนั่นเอง
ซึ่งพอโดพามีนเป็นฮอร์โมนที่ไม่ได้อยู่กับเราอย่างยั่งยืน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อยู่กับเราไม่นาน แถมยังเป็นความสุขที่จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีการทำตามเงื่อนไขไปเรื่อย ๆ
แม้ในตอนนี้เราจะยังมีความสุขดี แต่ในระยะยาว ความสุขแบบนี้ก็ไม่จีรังยั่งยืน หากเราไปโฟกัสในด้านนี้มากเกินไป ก็จะทำให้เราเสียสมดุลของชีวิต เสียสุขภาพ และอาจจะถึงขั้นเสียความสัมพันธ์ดี ๆ ไปได้เลย
อาจารย์นภดล เลยแนะนำว่า เราควรจัดระเบียบชีวิตของเราเสียใหม่ ไม่ควรไปโฟกัสที่ด้านโดพามีนเป็นหลัก แต่เราควรโฟกัสในด้านเซโรโทนิน และออกซิโทซิน เป็นหลักแทน
นั่นคือ เราควรทำให้สุขภาพของเรา และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ดีเสียก่อน
พอทำทั้ง 2 ด้านนี้ได้ดีแล้ว เราก็จะรู้สึกมีพลังเหลือเฟือ สามารถทำงานได้อย่างสบายใจขึ้น และเดี๋ยวผลงานที่ออกมา ก็จะดีขึ้นมากตามไปด้วย
2. หาแรงจูงใจภายในให้เจอ
ถ้าเราได้ทำงานที่เติมเต็มแรงจูงใจภายในของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารักที่จะทำมาตลอด เราก็จะเพลิดเพลินกับสิ่งที่ทำอยู่ในทุกวัน การทำงานนี้ของเรา ก็จะทำให้เรามีความสุขมาก
เราจึงควรถามตัวเองอยู่เสมอว่า งานที่เรากำลังทำอยู่นี้ ตอบโจทย์แรงจูงใจภายในของเราหรือไม่
โดยจะทำได้ ผ่านการถามคำถาม 3 ข้อ คือ
- งานนี้สำหรับเรา มีอิสระมากน้อยแค่ไหน และเรายังพอเลือกสิ่งที่เราต้องทำ ได้บ้างหรือเปล่า ?
- งานนี้เราได้ใช้ความสามารถที่เราถนัดบ้างหรือไม่ และงานนี้จะช่วยทำให้เราเก่งขึ้นได้หรือเปล่า ?
- งานนี้มีความเชื่อมโยงกับอะไรบ้าง มีคุณค่าอะไรกับใคร และเป็นงานที่จะช่วยทำให้ชีวิตใคร ดีขึ้นบ้างหรือเปล่า ?
หากเราสามารถตอบคำถามออกมาว่า “ใช่” ได้ครบทุกข้อ ก็หมายความว่า งานนี้เหมาะกับเรา เป็นงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตเรา นั่นเอง
แต่ถ้าคำตอบที่ได้ เราพบว่า ส่วนใหญ่คือคำตอบว่า “ไม่” ก็หมายความว่า งานนี้คงจะไม่เหมาะกับเรา เราก็ควรเปลี่ยนไปทำงาน ที่ทำแล้วตอบโจทย์ชีวิตเรามากกว่า
หรือหากเราไม่อยากเปลี่ยนงาน เราก็ควรลองหาความหมายของงานที่เราทำอยู่ให้เจอ ก็น่าจะช่วยให้เราทำงาน ได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
3. ปรับมุมมองชีวิต ให้โฟกัสแต่เรื่องดี ๆ
อาจารย์นภดล เชื่อว่า หากเราฝึกสมองของเราให้สนใจแต่เรื่องอะไรก็ตาม เราก็จะสังเกตเห็นแต่เรื่องแบบนั้น
เฉกเช่นเดียวกัน หากเราโฟกัสแต่เรื่องดี ๆ ที่สร้างพลังบวก ชีวิตเราก็จะเจอแต่เรื่องดี ๆ และมีความสุขความสบายใจ แทบจะตลอดวันเลย
ซึ่งสิ่งที่อาจารย์นภดล มักจะทำทุกวันก่อนจะนอน เพื่อช่วยฝึกสมองให้โฟกัสแต่เรื่องดี ๆ ก็คือ “การเขียน Gratitude Journal” หรือก็คือ “การเขียนขอบคุณ” นั่นเอง
โดยในทุกวัน อาจารย์นภดล จะเขียนอยู่ 4 เรื่อง คือ
- ขอบคุณสิ่งดี ๆ ที่คนอื่นทำให้เรา
- ขอบคุณตัวเอง ที่ทำสิ่งดี ๆ ให้คนอื่น
- ขอบคุณที่เราได้เห็นคนอื่นเจอเรื่องดี ๆ
- ขอบคุณที่เราได้พัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น
และเมื่อเวลาผ่านไป พออาจารย์นภดล ได้ทำแบบนี้มาสักพัก ก็พบว่า ตัวเองรู้สึกมีความสุขง่ายขึ้นมาก แม้กับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม
ซึ่งเราก็สามารถนำวิธีการนี้มาปรับใช้กับชีวิตเราได้ ด้วยการเขียนขอบคุณอย่างน้อย 3 เรื่องในทุกวัน โดยจะเป็นเรื่องอะไรก็ได้
หรือถ้าเราไม่อยากเขียน เราก็อาจจะใช้วิธีในการนึกขอบคุณแทนก็ได้เช่นเดียวกัน
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่าเราน่าจะเข้าใจกันดีขึ้นแล้วว่า ศ. ดร.นภดล ร่มโพธิ์ แห่งเพจ Nopadol's Story มีหลักการอย่างไร ถึงสามารถประสบความสำเร็จทั้งในการทำงาน และมีความสุขในทุก ๆ วัน ได้แบบนี้
โดยเราสามารถสรุปหลักการดังกล่าวอีกครั้ง สั้น ๆ ว่า
1. ดูแลสุขภาพ และความสัมพันธ์ให้ดี เพราะทั้ง 2 ด้านนี้จะเป็นรากฐานสำคัญ ให้เรามีพลังในการทำงานให้ดีขึ้น
2. หาแรงจูงใจในการทำงานให้เจอ
3. เขียนขอบคุณเรื่องดี ๆ ทุกคืนก่อนนอน อย่างน้อย 3 เรื่อง
ทาง MONEY LAB ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้น่าจะมีประโยชน์ต่อทุกคน ที่กำลังวางแผนจะทำให้ชีวิตในปีใหม่ ที่กำลังจะมาถึงนี้ ดีขึ้นกว่าเดิมได้ ไม่มากก็น้อย
ขอให้เพื่อน ๆ ทุกคนโชคดี และถ้าบทความนี้ เพื่อน ๆ คิดว่าเป็นประโยชน์ MONEY LAB ก็อยากให้เพื่อน ๆ ลองส่งให้คนที่เพื่อน ๆ รัก ได้อ่านดู
เพราะ MONEY LAB เชื่อว่า “ความรัก” ถ้ายิ่งส่งต่อออกไป ก็จะยิ่งเพิ่มพูน..
Reference
- MBA Thammasat Talk ครั้งที่ 9: ทำงานให้ดีและมีความสุข โดย ศาสตราจารย์ ดร.นภดล ร่มโพธิ์ ณ วันที่ 15/12/2567
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.