อธิบาย Rule of 40 วิธีประเมินคุณภาพ หุ้นเทคโนโลยี แบบนักลงทุนชั้นนำ
9 ธ.ค. 2024
ปัญหาที่นักลงทุนไทยหลายคนเจอกันบ่อย ๆ เมื่อออกไปลงทุนในต่างประเทศ นั่นก็คือ การประเมินคุณภาพธุรกิจ มักใช้วิธีการเดียวกับการประเมินคุณภาพธุรกิจในตลาดหุ้นไทยไม่ได้
ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่า ธุรกิจหลายแห่งในต่างประเทศ มีโมเดลธุรกิจที่ต่างจากธุรกิจที่เราคุ้นเคยกันในไทย
โดยเฉพาะธุรกิจเทคโนโลยี ที่เน้นสร้างการเติบโต และขยายตลาดให้เร็วที่สุด แต่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการทำกำไรมากนัก
เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากประสบความสำเร็จในการลงทุนหุ้นเทคโนโลยี เราก็ต้องเรียนรู้วิธีการลงทุน ของผู้ที่ประสบความสำเร็จมาก่อน อย่างกลุ่มนักลงทุน Venture Capitalist หรือ VC นั่นเอง
ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือประเมินคุณภาพธุรกิจ ที่เป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุน VC คือ หลักการที่เรียกว่า “Rule of 40”
แล้วหลักการ Rule of 40 คืออะไร และจะช่วยให้เราประเมินคุณภาพธุรกิจได้อย่างไรบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุนให้เข้าใจง่าย ๆ
Rule of 40 เป็นเครื่องมือวัดคุณภาพธุรกิจ ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นมาโดยคุณ Brad Feld นักลงทุน VC ชั้นนำ และผู้ก่อตั้ง Techstars ซึ่งเป็นกองทุน VC ชื่อดังในสหรัฐฯ
ส่วนใหญ่แล้ว Rule of 40 จะถูกใช้งานอย่างแพร่หลายกับการประเมินคุณภาพของธุรกิจซอฟต์แวร์
วิธีการใช้งาน Rule of 40 เริ่มจากการนำ อัตราการเติบโตของรายได้ มาบวกกับอัตรากำไร
ซึ่งอัตรากำไรที่ว่านี้ ส่วนใหญ่จะใช้กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA Margin
ที่เป็นกำไรจากการดำเนินงาน ซึ่งถูกบวกค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสดอย่าง ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคืน ทำให้เราได้กำไรส่วนที่เป็นเงินสดของกิจการ
เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าบริษัทเทคโนโลยี มักจะยังไม่ทำกำไรในช่วงที่กำลังเติบโต
หรือสามารถใช้ตัวเลขอัตรากำไรสุทธิ อัตรากำไรจากการดำเนินงาน หรือแม้แต่กระแสเงินสดอิสระต่อรายได้รวมก็ได้
ขึ้นอยู่กับนักลงทุนแต่ละคน ว่าจะให้ความสำคัญกับอะไร
หากให้ความสำคัญกับกำไรจากธุรกิจหลัก ก็ใช้ EBITDA Margin หรือไม่ก็อัตรากำไรจากการดำเนินงาน
หากให้ความสำคัญกับสภาพคล่อง ก็ใช้กระแสเงินสดอิสระต่อรายได้รวม
แต่มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรนำอัตรากำไรขั้นต้น มาบวกกับการเติบโตของรายได้
เนื่องจากธุรกิจซอฟต์แวร์ โดยธรรมชาติแล้ว จะมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงมาก ในระดับ 80% ขึ้นไป
ดังนั้นการนำอัตรากำไรขั้นต้นมาใช้ จะทำให้เราได้ผลลัพธ์ที่ดูดีเกินจริง
สุดท้าย เมื่อเราบวกการเติบโตของรายได้ และอัตรากำไรออกมาแล้ว ได้ตัวเลขไม่น้อยกว่า 40 ก็ถือว่าเป็นบริษัทที่ผ่านเกณฑ์
ซึ่งถ้าหากเราลองนำ Rule of 40 ไปใช้ประเมินธุรกิจบ่อย ๆ จะเริ่มสังเกตเห็นว่ามีบริษัท 3 ประเภทที่เข้าเกณฑ์ Rule of 40
1. บริษัทที่เน้นการเติบโต
บริษัทแบบนี้มักจะอยู่ในช่วงเพิ่งเริ่มก่อตั้ง และอยากสร้างฐานลูกค้าเร็ว ๆ หรือต้องการที่จะรีบเป็นเจ้าตลาด
หลายบริษัทในกลุ่มนี้ มักจะยังไม่สร้างผลกำไร ทำให้การเติบโตของรายได้ควรมากกว่า 40% ขึ้นไป ถึงจะผ่านเกณฑ์ Rule of 40
เช่น Grab ในปี 2023 ที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตของรายได้อยู่ที่ 65% และมี EBITDA Margin อยู่ที่ -11%
ทำให้ตัวเลข Rule of 40 ของ Grab เท่ากับ 65% + (-11%) = 54% ถือว่าผ่านเกณฑ์
จากตรงนี้จะเห็นได้ว่า Rule of 40 นั้น ไม่จำเป็นต้องใช้กับบริษัทที่มีอัตรากำไรเป็นบวกเสมอไป เพราะแม้ว่าธุรกิจยังไม่ทำกำไร แต่ก็สามารถทดแทนได้ ด้วยการทำให้รายได้ของธุรกิจเติบโตในระดับสูง
2. บริษัทที่รักษาสมดุลระหว่างการเติบโต และอัตรากำไรไปพร้อม ๆ กัน
เมื่อบริษัทมีฐานลูกค้า และมีรายได้สูงมาในระดับหนึ่งแล้ว การเร่งสร้างการเติบโตอาจทำได้ยากมากขึ้น
ดังนั้นธุรกิจที่เติบโตมาได้ระดับหนึ่งแล้ว ก็ควรให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีอัตรากำไรที่ดีขึ้น
เช่น Microsoft ในปี 2023 ที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตของรายได้อยู่ที่ 16% และมี EBITDA Margin อยู่ที่ 54%
ทำให้ตัวเลข Rule of 40 ของ Microsoft เท่ากับ 16% + 54% = 70% ถือว่าผ่านเกณฑ์
3. บริษัทขนาดใหญ่ที่การเติบโตต่ำ แต่มีอัตรากำไรสูง
สุดท้าย เมื่อบริษัทครองส่วนแบ่งตลาดได้อย่างเต็มที่ และกลายเป็นผู้ชนะแล้ว มักจะมีการเติบโตของรายได้ที่ต่ำ
แต่ก็สามารถสร้างอัตรากำไรที่สูงได้ ผ่านการบริหารต้นทุน และลดค่าใช้จ่ายบางส่วนที่เคยสูงออกไป เช่น ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด เป็นต้น
เช่น Oracle ในงบปี 2023 ที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตของรายได้อยู่ที่ 6% แต่มี EBITDA Margin อยู่ที่ 42%
ทำให้ตัวเลข Rule of 40 ของ Oracle เท่ากับ 6% + 42% = 48% ถือว่าผ่านเกณฑ์
จะเห็นได้ว่า แม้หลักการ Rule of 40 จะใช้งานค่อนข้างง่าย แต่ก็มีข้อจำกัด คือ เรื่องการประเมินมูลค่า
เพราะถึงแม้ Rule of 40 จะเป็นตัวช่วยกรองธุรกิจที่มีการเติบโตของรายได้ และคุณภาพของธุรกิจผ่านอัตรากำไรได้ แต่ก็ไม่ได้บอกเราว่า ราคาหุ้นตอนนี้ถูกหรือแพง
ดังนั้นนักลงทุนควรใช้หลักการ Rule of 40 เป็นหนึ่งในเครื่องมือประเมินคุณภาพธุรกิจ
ร่วมกับการใช้เครื่องมือประเมินมูลค่าอื่น ๆ พร้อมกับวิเคราะห์โมเดลธุรกิจ คู่แข่ง รวมถึงกฎระเบียบต่าง ๆ เพิ่มเติมด้วย
และอีกสิ่งที่สำคัญคือ โครงสร้างค่าใช้จ่ายของบริษัทว่า ค่าใช้จ่ายของบริษัทเป็นอย่างไร บริษัทมีแนวโน้มควบคุมค่าใช้จ่ายได้หรือไม่
ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว บริษัทซอฟต์แวร์ มักจะมีค่าใช้จ่ายที่ผู้บริหารควบคุมได้ง่าย เช่น งบการขายและการตลาด หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าตอบแทนพนักงาน
แต่ถ้าหากบริษัทมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่ควบคุมไม่ได้ อย่างมีนัยสำคัญแล้ว เช่น ต้นทุนทางการเงิน ที่อิงกับดอกเบี้ยในตลาด หรือต้นทุนการรับสินค้าเข้ามาขาย ในกรณีที่เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้า
การปรับปรุงอัตรากำไรให้สูงขึ้น ในวันที่ธุรกิจมีการเติบโตน้อยลง เพื่อสร้างการเติบโตต่อไป ก็อาจเป็นไปได้ยาก..
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#Ruleof40
References