ทำไม ธุรกิจร้านขายยา ถึงไม่มีเจ้าตลาด

ทำไม ธุรกิจร้านขายยา ถึงไม่มีเจ้าตลาด

4 มี.ค. 2024
ทำไม ธุรกิจร้านขายยา ถึงไม่มีเจ้าตลาด | MONEY LAB
ถ้าถามว่า ร้านขายยาใกล้บ้าน ที่เราไปครั้งล่าสุด ชื่อร้านอะไร ? หลายคนอาจจะจำชื่อร้านไม่ได้ เพราะเรียกติดปากเพียงว่า “ร้านขายยาแถวบ้าน”
นี่ก็คงยืนยันได้ในระดับหนึ่งว่า ธุรกิจร้านขายยา ยังไม่มีแบรนด์ดังครอบครองตลาดอยู่
ซึ่งก็ตรงกับข้อมูลของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2565 ที่ว่า ประเทศไทยมีร้านขายยาแผนปัจจุบัน จำนวน 18,551 แห่ง
ซึ่งกว่า 75% จากทั้งหมดนี้ เป็นร้านขายยาเดี่ยว หรือร้านขายยาที่เป็นผู้ประกอบการรายเล็กและกลาง
ในขณะที่เหลืออีก 25% คือร้านขายยาสาขาของผู้ประกอบการรายใหญ่
แล้วเพราะอะไร ธุรกิจร้านขายยาในประเทศไทย ถึงไม่มีเจ้าตลาด ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน ให้เข้าใจง่าย ๆ
หลายครั้งเวลาที่เราป่วย หากไม่ไปโรงพยาบาล เราก็มักจะเลือกไปซื้อยา จากร้านขายยาใกล้บ้าน โดยไม่ได้สนใจนักว่า ร้านขายยานั้นเป็นของบริษัทอะไร
สนใจแค่เพียงว่า มียาที่เราต้องการหรือตัวยาที่ใกล้เคียง และมีเภสัชกรคอยให้คำปรึกษา
นั่นก็หมายความว่า ในมุมมองของผู้บริโภค ร้านขายยาแต่ละร้านแทบไม่มีความแตกต่างกันเลย
ความแตกต่างหลัก ๆ ที่เราพอจะเห็นได้จากร้านขายยารายใหญ่ ก็คือ เวลาเปิดร้านที่อาจจะยาวนานกว่า หรือการตกแต่งร้านที่ดูสะอาดสะอ้านน่าเข้ามากกว่า
ด้วยความคล้ายกันนี้ ทำให้ยังไม่มีร้านขายยาร้านไหน ชนะร้านอื่น ๆ ได้แบบเด็ดขาด
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ลองเปรียบเทียบกับธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ที่มีเจ้าตลาดอยู่
แม้ว่าสินค้าส่วนใหญ่ในร้านสะดวกซื้อแต่ละร้านจะคล้ายกัน ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมร้านขายยา
อย่างไรก็ตาม แต่ละร้านก็ยังสามารถสร้างความแตกต่างได้ เช่น การออกแบบสินค้า ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
อย่างเช่น ถ้าพูดถึง Lawson108 หลายคนก็ต้องนึกถึงโอเด้ง ที่ร้านอื่นไม่มีขาย
หรือถ้านึกถึงอาหารพร้อมทานอร่อย ๆ ก็ต้องนึกถึง 7-Eleven
นอกจากเรื่องชนิดของสินค้าแล้ว ก็ยังมีเรื่องของการจัดโปรโมชัน และการทำการตลาดในรูปแบบต่าง ๆ
ซึ่งสำหรับร้านขายยา จะทำการตลาดแบบร้านค้าปลีกไม่ได้ จึงทำได้แค่ซื้อมาและขายไปเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของบุคลากรด้วย
ตามกฎหมายแล้ว การที่จะเปิดร้านขายยาแผนปัจจุบันได้นั้น จะต้องมีเภสัชกรประจำร้านอยู่เสมอ พร้อมป้ายชื่อและรูปของเภสัชกรคนนั้น
แต่จากข้อมูลของสภาเภสัชกรรม ปัจจุบันมีเภสัชกรอยู่มากกว่า 45,000 คนทั่วประเทศ
และก็มีบัณฑิตจบใหม่ในสายนี้ เพิ่มขึ้นปีละเกือบ 2,000 คน
ทำให้อาจพูดได้ว่า จำนวนบุคลากรมีมากกว่าจำนวนงาน ที่รองรับเภสัชกรเหล่านี้ได้
ดังนั้นเภสัชกรหลาย ๆ คน จึงอาจตัดสินใจมาตั้งร้านขายยาของตัวเอง นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ปัจจุบัน เราจะไม่ได้เห็นบริษัทร้านขายยารายไหน สามารถครองตลาดได้เลย
ซึ่งถ้าหากสักวันหนึ่ง จะมีบริษัทไหน ที่เข้ามาครองตลาดนี้ได้นั้น ก็อาจจะต้องเป็นร้านขายยา ที่สามารถสร้างความแตกต่างจากร้านอื่น ๆ ได้อย่างชัดเจน
เช่น มีสินค้าบางอย่างที่มีขายเฉพาะในร้านตัวเองเท่านั้น, มีเครือข่ายและซัปพลายเชนที่ใหญ่พอ จนเกิดความได้เปรียบด้านราคา
หรือการเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง และมีสาขาครอบคลุมในทุกพื้นที่
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ ในตลาดหุ้นไทย มีธุรกิจร้านขายยาอยู่ 1 บริษัท ก็คือ บริษัท เฮลท์ลีด จำกัด (มหาชน)
โดยผลประกอบการของบริษัทที่ผ่านมา คือ
ปี 2564
รายได้ 1,216 ล้านบาท
กำไร 80 ล้านบาท
ปี 2565
รายได้ 1,538 ล้านบาท
กำไร 118 ล้านบาท
ปี 2566
รายได้ 1,659 ล้านบาท
กำไร 75 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า อัตรากำไรสุทธิของบริษัท ล่าสุดอยู่ที่ 4% เท่านั้น
ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของธุรกิจแบบร้านค้าปลีก ที่จะมีอัตรากำไรค่อนข้างต่ำ..
Sponsored by JCB
สัมผัสประสบการณ์ที่มากกว่ากับ บัตรเครดิต JCB
ที่มาพร้อมสิทธิพิเศษดี ๆ เพลิดเพลินทั้ง กิน เที่ยว ช้อป ในไทยและต่างประเทศ
พร้อมกับการให้บริการสุดพิถีพิถันทุกรูปแบบ
Facebook : JCB Thailand
LINE : @JCBThailand (https://bit.ly/JCBTHLine)JCBThailand #JCBCard
JCBOwnHappinessOwnStory #อีกขั้นของความสุขในรูปแบบที่เป็นตัวคุณ
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.