ทำไม ธุรกิจที่มีกำไร บางครั้งถึงยังเจ๊งได้

ทำไม ธุรกิจที่มีกำไร บางครั้งถึงยังเจ๊งได้

1 ก.พ. 2024
ทำไม ธุรกิจที่มีกำไร บางครั้งถึงยังเจ๊งได้ | MONEY LAB
หนึ่งในตัวเลขในบัญชีการเงิน ที่เจ้าของธุรกิจหลายคน มักจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ๆ คงหนีไม่พ้น “กำไร”
เรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจ เพราะเจ้าของกิจการก็ต้องอยากมีกำไรจากการทำธุรกิจอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม การมีกำไรเยอะ ๆ ก็ไม่ได้แปลว่า บริษัทจะอยู่รอดเสมอไป หากเจ้าของกิจการไม่รู้จักบริหาร
“เงินสด” ให้ดี
แล้วทำไม เงินสด ถึงมีความสำคัญไม่แพ้ กำไร ในการทำธุรกิจ ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า เวลาเราขายสินค้าและบริการ เราอาจมีรายได้ได้ 2 วิธี คือ แบบที่เป็นเงินสด และแบบที่ยังไม่ได้รับเป็นเงินสด
กรณีของรายได้ที่ยังไม่ได้รับเป็นเงินสดนั้น จะเกิดจากการที่เราขายสินค้าและบริการเป็นเงินเชื่อ
คือเราส่งมอบสินค้าและบริการไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงินสดเข้ามา
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการซื้อขายกันแล้ว ร้านก็จะมีการบันทึกรายได้ทันที ซึ่งก็ทำให้บริษัทมีโอกาสจะเกิดกำไรได้
จึงทำให้บางครั้ง ร้านบันทึกกำไรไปเรียบร้อยแล้ว ถึงแม้จะยังไม่มีเงินสดเข้ามาเลย
ซึ่งในกรณีนี้ ลูกค้าก็จะกลายเป็นลูกหนี้ที่มีภาระผูกพัน ต้องเอาเงินสดมาจ่ายเราในอนาคต หรือเรียกว่า “ลูกหนี้การค้า”
ด้วยเหตุนี้เอง ร้านที่แม้จะมีกำไรอยู่ตลอดเวลา ก็อาจจะเจ๊งได้ ในกรณีที่บริหารสภาพคล่อง หรือเงินสดในมือ ไม่ดีพอ
ยกตัวอย่างง่าย ๆ ให้เห็นภาพคือ
บริษัท A เริ่มต้นธุรกิจโดยมีเงินสดอยู่ 1,000 บาท
โดยทุก ๆ รายได้ของบริษัท A จะมีต้นทุนสินค้าอยู่ที่ 40% ของรายได้
และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ที่ 1,000 บาทต่อเดือน
เนื่องจากบริษัท A ซื้อวัตถุดิบจากซัปพลายเออร์ จึงทำสัญญากับซัปพลายเออร์ไว้ว่า จะจ่ายเงินค่าวัตถุดิบภายใน 30 วัน ของแต่ละรอบบิล
ส่วนลูกค้าที่ซื้อสินค้าจากบริษัท A นั้น ขอทำสัญญาที่จะจ่ายเงินค่าสินค้าให้บริษัท A ภายใน 60 วัน
สมมติให้รายได้ในแต่ละเดือน เป็นดังนี้
เดือนมกราคม 2,000 บาทเดือนกุมภาพันธ์ 3,000 บาทเดือนมีนาคม 4,000 บาท
ในเดือนมกราคม บริษัท A จะมีต้นทุนสินค้า 40% ของรายได้ คือ 800 บาท แต่สามารถรอจ่ายได้ 30 วัน
และจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน อยู่ที่ 1,000 บาท ซึ่งต้องจ่ายออกไปทันที
และจะบันทึกบัญชีว่า มีกำไรเข้ามาในบริษัท 200 บาท
ซึ่งในความเป็นจริง เงินสดจากการขายสินค้ายังไม่ได้เข้ามาในบริษัทแต่อย่างใด เนื่องจากระยะเวลาที่เก็บเงินจากลูกค้านั้นคือ 60 วัน
ทำให้ตอนนี้ เงินสดที่บริษัทมีในมือตั้งต้น 1,000 บาท หายไปหมดเลย
ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ บริษัทก็ยังเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้ เพราะยังไม่ครบ 60 วัน แต่บริษัทครบกำหนดต้องจ่ายค่าต้นทุนสินค้าให้ซัปพลายเออร์ รอบเดือนมกราคมแล้ว
ดังนั้น บริษัท A จึงมีเงินสดไม่เพียงพอ ที่จะชำระค่าใช้จ่ายรวม 1,800 บาท ที่มาจาก
ค่าต้นทุนสินค้ารอบเดือนมกราคม 800 บาทค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเดือนกุมภาพันธ์ 1,000 บาท
ต่อมาเดือนมีนาคม สถานการณ์ของบริษัทก็ยิ่งแย่ลง ถึงแม้จะได้เงินค่าสินค้าจากลูกค้ารอบเดือนมกราคมมาแล้ว 2,000 บาท
เพราะบริษัทมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเข้ามาอีกในเดือนนี้ 2,200 บาท จาก
ค่าต้นทุนสินค้ารอบเดือนกุมภาพันธ์ 1,200 บาทค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเดือนมีนาคม 1,000 บาท
จะเห็นได้ว่า ถ้าดูแต่งบกำไรขาดทุน บริษัท A มีอัตราการเติบโตของรายได้และกำไรที่ดีทุกเดือน
เดือนมกราคม รายได้ 2,000 บาท กำไร 200 บาทเดือนกุมภาพันธ์ รายได้ 3,000 บาท กำไร 800 บาทเดือนมีนาคม รายได้ 4,000 บาท กำไร 1,400 บาท
แต่ในความเป็นจริงแล้ว บริษัทไม่สามารถเก็บเงินสดได้ในทันที
ด้วยต้นทุนสินค้าที่เพิ่มเป็นเงาตามตัวของรายได้ที่เพิ่มขึ้น และความไม่สอดคล้องกันระหว่าง ระยะเวลาการชำระเงินให้เจ้าหนี้ และเก็บเงินลูกหนี้
ทำให้แม้บริษัทจะมีรายได้และกำไรเติบโตดี
บริษัท A ก็อาจเจอปัญหาสภาพคล่อง ทำให้ต้องพึ่งพาการกู้ยืมจากแหล่งเงินทุนอื่น เพื่อมาชำระหนี้
ซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการบริหาร บริษัท A ก็อาจต้องปิดกิจการไปในที่สุด
สรุปก็คือ เงินสดนั้นมีความสำคัญไม่แพ้ตัวเลขกำไรในการดำเนินธุรกิจเลย ดังนั้น ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนก็ควรจับตาดูสถานการณ์เงินสดหมุนเวียน ในกิจการของตัวเองเสมอ
โดยการดูภาพรวมง่าย ๆ ของเงินสดในกิจการนั้น ก็สามารถดูผ่าน “งบกระแสเงินสด” นั่นเอง..
Sponsored by JCB
สัมผัสประสบการณ์ที่มากกว่ากับ บัตรเครดิต JCB
ที่มาพร้อมสิทธิพิเศษดี ๆ เพลิดเพลินทั้ง กิน เที่ยว ช้อป ในไทยและต่างประเทศ
พร้อมกับการให้บริการสุดพิถีพิถันทุกรูปแบบ
Facebook : JCB Thailand
LINE : @JCBThailand (https://bit.ly/JCBTHLine)
JCBThailand #JCBCard
JCBOwnHappinessOwnStory #อีกขั้นของความสุขในรูปแบบที่เป็นตัวคุณ
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.