ทำไม ราคาทอง จะขึ้นหรือลง ร้านทอง ก็ยังมีกำไร
4 เม.ย. 2024
ทำไม ราคาทอง จะขึ้นหรือลง ร้านทอง ก็ยังมีกำไร | MONEY LAB
ตอนนี้ราคาทองคำ อยู่ในระดับที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์
โดยทองรูปพรรณ 96.5% มีราคา 40,400 บาท ต่อ 1 บาททอง
เมื่อราคาทองคำสูงขึ้น เราก็มักได้เห็นปรากฏการณ์ที่คนจำนวนมาก แห่เอาทองที่ตัวเองเคยซื้อเก็บไว้ตอนราคาต่ำ ไปขายคืนร้านทอง และทำกำไร
พอเป็นแบบนี้ หลายคนก็อาจจะคิดว่า ร้านทองน่าจะขาดทุนแน่ ๆ
แต่จริง ๆ แล้ว ร้านทองนั้นไม่ได้รับผลกระทบมากนัก จากราคาทองที่ขึ้นหรือลง ถ้าบริหารความผันผวนอย่างถูกวิธี
แล้วร้านทอง มีวิธีการบริหารอย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจ โมเดลธุรกิจของร้านทอง กันก่อน
โมเดลธุรกิจของร้านทอง ก็ไม่ต่างอะไรกับร้านรับแลกเงินตราต่างประเทศ หรือนายหน้าค้าหลักทรัพย์
ที่ทำหน้าที่เป็นเพียงตัวกลาง ในการจับออร์เดอร์มาชนกัน ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย และกินค่าธรรมเนียม หรือจากส่วนต่างราคา
นั่นหมายความว่า ร้านทองที่ตั้งใจจะเป็นเพียงแค่ตัวกลางในการซื้อขายทอง ก็จะได้กำไรจากส่วนต่างของราคาทองเสมอ ไม่ว่าช่วงเวลานั้น ราคาทองจะขึ้นหรือลง
รวมถึงยังมีรายได้เพิ่มเติมจากค่ากำเหน็จ และดอกเบี้ยจากการรับจำนำทอง ด้วยเช่นกัน
แต่เนื่องจากราคาทองผันผวนและเปลี่ยนแปลงทุกวัน ทำให้อาจเกิดเหตุการณ์ที่ ร้านทองขายทองออกไปในราคาต่ำ แต่ต้องรับซื้อกลับมาในราคาสูง
ซึ่งวิธีการบริหารความผันผวนจากราคาทอง ก็สามารถอธิบายได้ง่าย ๆ แบบนี้
ในช่วงที่ร้านทองมีออร์เดอร์ฝั่งซื้อและฝั่งขายพอ ๆ กัน ร้านทองก็จะได้กำไร จากส่วนต่างของการซื้อมาขายไป ปกติ
อย่างไรก็ตามในช่วงที่ราคาทองขึ้นนั้น คนส่วนใหญ่ก็ย่อมแห่นำทองที่เคยซื้อเก็บไว้ตอนราคาต่ำ ๆ มาขายคืนให้กับร้าน
สิ่งที่ร้านทองส่วนใหญ่ทำก็คือ เอาทองไปขายต่อกับร้านอื่น หรือเชนร้านทองที่ใหญ่กว่าอีกที
แต่ต้องทำในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน เพื่อไม่ให้ราคาเปลี่ยนแปลง
จะเห็นได้ว่า การทำแบบนี้ก็เท่ากับว่า ร้านทองไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาทองเลย
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ รับซื้อมาเท่าไร ก็ขายออกไปเท่านั้น แล้วกินส่วนต่างราคาเพียงเล็กน้อย แต่เน้นจำนวนมากแทน
นอกจากนี้ ร้านทองหลายแห่งยังบริหารความเสี่ยงด้วยการ เปิดสัญญาฟิวเจอร์ส หรือสัญญาที่ผู้ซื้อและผู้ขาย ตกลงกำหนดราคาและวันส่งมอบทองคำกันล่วงหน้า
โดยร้านทองสามารถล็อกราคาทองผ่านสัญญาฟิวเจอร์ส
ซึ่งจะทำให้ทางร้านสามารถลดความเสี่ยงด้านราคาที่ผันผวนของทองได้เช่นกัน
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนก็อาจสงสัยว่า แล้วทำไมในอดีต เวลาที่ราคาทองอยู่ในช่วงขาขึ้น เราถึงเห็นร้านทองหลายแห่งปิดกิจการไป
สาเหตุหลัก ๆ ก็มาจาก “สภาพคล่อง” หรือการที่ร้านเตรียมเงินสดเอาไว้ไม่เพียงพอ ต่อความต้องการขายทองของลูกค้า
เพราะนอกจากเงินสดที่ต้องเตรียมไว้รับซื้อทองแล้ว ร้านทองก็ยังมีต้นทุนอีกหลายอย่างในการดำเนินธุรกิจ ไม่ต่างจากธุรกิจอื่น ๆ
ซึ่งวิธีการเอาตัวรอดของร้านทอง จากปัญหาขาดสภาพคล่อง ก็มีหลายข้อด้วยกัน เช่น
สำหรับร้านทองเล็ก ๆ ก็อาจตัดสินใจปิดรับซื้อทองชั่วคราว เพื่อระบายทองที่อยู่ในสต็อกก่อน ให้กลับมามีเงินสดอีกครั้ง
หรือบางร้าน ก็อาจนำทองไปเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อกู้เงินสดจากธนาคาร
อีกวิธีที่ร้านทองนิยมทำกันก็คือ การรับซื้อทอง และออกเช็คหรือตั๋วให้กับลูกค้าแทนเงินสด โดยระบุว่าลูกค้าจะสามารถนำมาขึ้นเงินสดได้ในภายหลัง
วิธีนี้ก็จะทำให้ร้านไม่ต้องจ่ายเงินสดออกไปในทันที ในขณะที่ลูกค้าก็ไม่ได้เสียโอกาส ที่จะนำทองมาขายในวันที่ได้ราคาดีด้วย
กล่าวโดยสรุปแล้วก็คือ สำหรับร้านทอง ที่เน้นการกินส่วนต่างราคาซื้อขายทอง ไม่ว่าราคาทองจะขึ้นหรือลง ก็อาจไม่ได้รับผลกระทบเท่าไร
ส่วนในช่วงที่ราคาทองเป็นขาขึ้นอย่างในปัจจุบันนั้น ก็ยิ่งทำให้บรรยากาศคึกคัก และร้านทองอาจจะได้กำไรเพิ่มขึ้นด้วย จากจำนวนการซื้อขายที่มากขึ้นกว่าปกติ
แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ การหาวิธีรับมือกับความผันผวนของราคา และรักษาสภาพคล่องให้ดี นั่นเอง..
References