ทำไม GULF ถึงมีบริษัทลูกนับ 100 บริษัท

ทำไม GULF ถึงมีบริษัทลูกนับ 100 บริษัท

27 ธ.ค. 2024
หากใครเคยอ่านรายงานประจำปีของบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF
น่าจะเคยเห็นโครงสร้างองค์กรที่ซับซ้อน ชวนปวดหัว เพราะนอกจาก GULF จะมีหลายธุรกิจแล้ว ในแต่ละส่วนธุรกิจ ก็มีบริษัทย่อย อยู่ข้างในมากมาย รวมกันมากถึงร้อยกว่าบริษัท
หลายคนอาจคิดว่าการมีบริษัทย่อยรวมกันมากกว่า 100 แห่ง จะทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายมหาศาล แต่การตั้งบริษัทย่อยมากขนาดนี้ กลับเป็นเรื่องที่ส่งผลดีต่อบริษัทมากกว่า
แล้วการที่ GULF ตั้งบริษัทย่อยมากขนาดนี้ จะช่วยส่งผลดีกับบริษัทได้อย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุนให้เข้าใจง่าย ๆ
ก่อนอื่นต้องพูดถึงธุรกิจหลักของ GULF ก่อนว่า GULF มีจุดเริ่มต้นมาจากธุรกิจโรงไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค
ซึ่งธุรกิจแบบนี้ มักจะมีลักษณะการทำธุรกิจเป็นรายโครงการไป ยกตัวอย่างเช่น..
โรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง จะมีเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าไม่เหมือนกัน บางแห่งใช้ก๊าซธรรมชาติ บางแห่งก็ใช้ถ่านหิน หรือบางแห่งก็ใช้พลังงานสะอาดไปเลย
นอกจากนี้โรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง ก็ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่เท่ากัน
โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 90 เมกะวัตต์ขึ้นไป ขณะที่โรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก จะผลิตไฟฟ้าได้ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์เท่านั้น
กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ต่างกัน เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้รายได้ของโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งแตกต่างกัน
ยิ่งไปกว่านั้น โรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง อาจมีการทำสัญญาขายไฟให้กับลูกค้าที่ไม่เหมือนกัน ทั้งราคาขายไฟต่อหน่วย และอายุสัญญา
สิ่งเหล่านี้ ทำให้ความเสี่ยงของการลงทุนในโรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง มีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน แม้จะเป็นธุรกิจประเภทเดียวกันก็ตาม
ด้วยความที่ธุรกิจโรงไฟฟ้า เป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยเงินลงทุนสูงมาก การลงทุนในแต่ละโครงการจึงอาจจะต้องมีการขอกู้ยืมเงิน หรือระดมทุนจากผู้ถือหุ้นเพิ่มเติม
และเมื่อมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ก็ย่อมส่งผลให้แต่ละโครงการมีต้นทุนทางการเงินที่ต่างกัน
ซึ่งบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่อย่าง GULF ก็มีโรงไฟฟ้าในเครืออยู่หลายแห่งด้วยกัน
การรวมโรงไฟฟ้าทุกแห่ง เข้ามาไว้ภายใต้บริษัทเดียวกัน ก็อาจทำให้ความเสี่ยงของโรงไฟฟ้าที่ใกล้ล้มละลาย ส่งผลกระทบกับทั้งบริษัทได้เลย 
พอเรื่องเป็นแบบนี้ นักลงทุนก็จะคาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น เพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่นักลงทุนมองว่าสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทสูงขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้น บริษัทที่มีโรงไฟฟ้าหลายแห่งอย่าง GULF จึงต้องจัดตั้งบริษัทขึ้นมา เพื่อรับผิดชอบโรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง เป็นรายโครงการไป
และจำกัดความเสี่ยงไว้ ไม่ให้กระทบกับสถานะทางการเงินของบริษัทแม่โดยตรง และจะทำให้ความเสี่ยงโดยรวมของบริษัทลดลงในที่สุด
ซึ่งก็จะทำให้เวลาบริษัทระดมทุน บริษัทจะมีต้นทุนทางการเงินที่ถูกลงนั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น หากโรงไฟฟ้าบางแห่ง เกิดประสบภาวะล้มละลายขึ้นมา บริษัทก็จะสามารถจำกัดความเสียหายไว้แค่ทุนจดทะเบียนของบริษัทย่อยเท่านั้น แต่ไม่ส่งผลกระทบกับบริษัทแม่ ซึ่งมักจะมีทุนจดทะเบียนมากกว่า
นอกจากนี้โรงไฟฟ้าบางแห่ง ยังต้องอาศัยการร่วมลงทุนกับบริษัทอื่นด้วย ทำให้การตั้งบริษัทย่อยแบบนี้ ช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้กับโครงสร้างเงินลงทุนของโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งได้ดี
เพราะเมื่อถึงวันที่เราต้องการถอนเงินลงทุนจากโรงไฟฟ้าโครงการนี้ เราก็ขายหุ้นของเราในบริษัทย่อยได้เลย
ตัวอย่างโรงไฟฟ้าแบบนี้ที่ GULF ไปร่วมลงทุนกับบริษัทอื่น ก็เช่น..
- บริษัท Pak Beng Power Company Limited ซึ่งรับผิดชอบโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวที่ GULF ร่วมทุนกับบริษัทจีน คือ China Datang Overseas Investment โดย GULF ถือหุ้นในโครงการนี้ 49%
- บริษัท กัลฟ์ เอ็มพี1 จำกัด ซึ่งทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากหลังคา (Solar Rooftop) โดยร่วมทุนกับกลุ่ม WHA และ GULF ถือหุ้นในบริษัทนี้ 70%
ดังนั้นแล้ว การสร้างบริษัทย่อยขึ้นมาหลายบริษัทของ GULF จึงทำไปเพื่อจำกัดความเสี่ยงของโครงการโรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง
ทำให้การระดมทุนในแต่ละโครงการ มีความยืดหยุ่น และมีต้นทุนทางการเงินที่สะท้อนความเสี่ยงของแต่ละโครงการจริง ๆ 
ซึ่งไม่เพียงแต่ธุรกิจโรงไฟฟ้าอย่าง GULF เท่านั้น ที่เน้นสร้างบริษัทย่อยมากมายขนาดนี้
เพราะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เอง ก็นิยมสร้างบริษัทย่อยขึ้นมา เพื่อรับผิดชอบการลงทุนในแต่ละโครงการไป เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรตรวจสอบให้ดีว่า หากธุรกิจที่ไม่ได้มีการลงทุนเป็นรายโครงการ เหมือนธุรกิจโรงไฟฟ้า และอสังหาริมทรัพย์ 
แต่กลับมีบริษัทย่อยเยอะแยะมากมาย ก็คงต้องตรวจสอบให้ดีว่าบริษัททำแบบนั้นไปเพื่ออะไร 
เพราะหากมองอีกมุมหนึ่ง การทำโครงสร้างบริษัทให้มีความซับซ้อน โดยไม่จำเป็น ก็สามารถกลายเป็นอีกช่องทาง ให้ผู้บริหารใช้ในการยักยอกเงินออกจากบริษัทได้เหมือนกัน..
#ธุรกิจ
#หุ้นไทย
#บริษัทลูก
References
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.