สัมภาษณ์พิเศษ คุณอนุรักษ์ บุญแสวง เซียนหุ้น 1,000 ล้าน เจ้าของฉายา “โจ ลูกอีสาน”

สัมภาษณ์พิเศษ คุณอนุรักษ์ บุญแสวง เซียนหุ้น 1,000 ล้าน เจ้าของฉายา “โจ ลูกอีสาน”

10 เม.ย. 2025
ตำนานเรื่องราวของการทบต้น ในโลกการลงทุนนั้น มีการเล่าขานกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ที่เราได้ยินก็เป็นนักลงทุนจากต่างประเทศ
แต่จริง ๆ แล้ว ในประเทศไทยเอง ก็มีอยู่หลายคน ที่เลือกเดินไปบนหนทางนี้ จนมีความมั่งคั่งมาก ได้เหมือนกัน
โดยหนึ่งในนั้น ก็คือนักลงทุนคนหนึ่ง ผู้มีพื้นเพมาจากจังหวัดพังงา ผู้เริ่มต้นลงทุน ด้วยเงินเก็บออมทั้งชีวิตร่วมกับภรรยา จำนวน 800,000 บาท
จนเวลาผ่านไปกว่า 25 ปี นับจากวันที่เริ่มต้น ด้วยผลตอบแทนจากการลงทุนจำนวนมหาศาล ก็ทำให้เงินต้นก้อนนี้ ที่ไม่เคยมีการเติมเงินเข้าไปอีกเลย
กลายมาเป็นความมั่งคั่งกว่า 1,000 ล้านบาท ให้กับนักลงทุนท่านนี้และครอบครัวได้
นักลงทุนท่านนี้ ก็คือ คุณอนุรักษ์ บุญแสวง
หรือที่รู้จักกันในฉายา “โจ ลูกอีสาน”
MONEY LAB ได้มีโอกาสสัมภาษณ์กับพี่โจ ที่มาบอกเล่าเรื่องหลักคิดทางการเงินและแนวทางการลงทุนดี ๆ
โดยสามารถสรุปออกมาเป็นประเด็นที่สำคัญได้ดังนี้
1. อาจารย์ที่เราเลือก จะมีอิทธิพลต่อเรามาก
มีประโยคหนึ่งที่โด่งดังมาก จากพุทธนิกายเซน กล่าวไว้ว่า
“เมื่อศิษย์พร้อม ครูจะปรากฏ”
เพราะเมื่อประมาณเกือบ 30 ปีก่อน ในช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง แนวทางการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ก็ยังไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย คนที่จะสามารถเป็นต้นแบบการลงทุนแบบ VI ในไทย ก็ยังมีอยู่ไม่มาก 
จะมีก็แต่เพียง ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร บิดาการลงทุนแบบเน้นคุณค่าของประเทศไทย ผู้คอยเผยแพร่ความรู้การลงทุนในแนวทางนี้ มาตลอดหลาย 10 ปี ซึ่งพี่โจก็นับถือเป็นอาจารย์คนหนึ่ง
ทำให้ยุคนั้น อาจารย์ด้านการลงทุนที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดของพี่โจ ส่วนใหญ่จึงเป็นคนต่างชาติ 
อย่างเช่น คุณ Warren Buffett ตำนานนักลงทุนของโลก และคุณ Peter Lynch ผู้จัดการกองทุนระดับตำนาน ที่ชี้ให้พี่โจได้เห็นว่า คนธรรมดาก็สามารถประสบความสำเร็จจากการลงทุนได้
แต่คนที่เป็นจุดเริ่มต้นให้พี่โจ ได้เจอกับแนวทางการลงทุน ที่เหมาะสมกับตัวเอง ก็คือคุณ Peter Dennis นักลงทุนชาวออสเตรีย ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย 
ผู้เขียนบทความแนะนำแนวทางการลงทุนในหุ้นของบริษัทคุณภาพดี ราคาถูก ที่พี่โจได้เข้าไปอ่าน
โดยพี่โจได้กล่าวไว้ว่า อาจารย์ที่เราเลือก จะมีอิทธิพลต่อแนวทางการลงทุนของเรามากเลย
เพราะถ้าเราเลือกอาจารย์ ที่เน้นลงทุนแบบปลอดภัย เราก็มักจะมีแนวทางการลงทุนที่ปลอดภัย แต่ถ้าเราเลือกอาจารย์ ที่เน้นลงทุนแบบเสี่ยง ๆ เราก็มักจะมีรูปแบบการลงทุนที่เสี่ยงตามไปด้วย
2. หนังสือการลงทุนแนะนำ ที่ทุกคนควรอ่าน
ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนได้แบบนี้ พี่โจเอง ก็เหมือนกับนักลงทุนหลายคน ที่ต้องก้าวผ่านความไม่รู้ ด้วยการสั่งสมความรู้และประสบการณ์ ให้มากขึ้นเสียก่อน
ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุด ที่เราจะเก่งขึ้นได้ โดยใช้เวลาไม่นานก็คือการเรียนรู้จากคนเก่ง ๆ ผ่านการอ่านหนังสือดี ๆ ที่คนเก่ง ๆ เหล่านี้ กลั่นกรองออกมา
สำหรับหนังสือการลงทุน ที่พี่โจแนะนำว่า นักลงทุนทุกคนควรต้องอ่าน มีอยู่ 4 เล่ม คือ
- ก้าวเล็ก ๆ ในตลาดหุ้น ก้าวที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต ของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
- One Up on Wall Street ของคุณ Peter Lynch
- The Psychology of Investing ของคุณ John Nofsinger
- The Most Important Thing ของคุณ Howard Marks
3. การจัดพอร์ตที่ดี จะช่วยเพิ่มผลตอบแทน และลดความเสี่ยง
พี่โจเอง เป็นนักลงทุนที่ เน้นที่การป้องกันความเสี่ยง ก่อนจะไปแสวงหาผลตอบแทน เพราะถ้าเราปิดความเสี่ยงได้ นอกจากจะลดความเสี่ยง ที่เราจะเสียหายจากการลงทุน 
ยังช่วยเพิ่มโอกาสที่เราจะทำผลตอบแทนได้สูง ๆ แบบทบต้นไปได้ ในระยะยาวด้วย
สำหรับการจัดพอร์ตที่ดีในแบบพี่โจนั้น ควรจะมีหุ้นไม่น้อยกว่า 3 บริษัท และตัวที่มั่นใจที่สุด ก็ไม่ควรเกิน 40% ของพอร์ต
โดยพี่โจได้ให้คำแนะนำว่า ถ้าเราเก่งจริง เราก็ไม่จำเป็นต้องไปรับความเสี่ยงเยอะก็ได้ เพราะไม่ว่าเราจะเดินเร็วหรือเดินช้า สุดท้ายเราก็จะไปถึงเหมือนกันอยู่ดี
เพราะในอดีต ก็เคยมีนักลงทุนที่ทำให้พอร์ตเติบโตแบบก้าวกระโดด ด้วยผลตอบแทนที่สูงมาก จากวิธีเสี่ยง ๆ เช่น การ All In และการใช้เงินกู้มาร์จิน
แต่สุดท้ายพอถึงจุดที่ผิดพลาด เงินที่หามาได้นั้น ก็มลายหายไปในเวลาเพียงสั้น ๆ และมีอยู่หลายคน ที่สุดท้ายแล้ว ก็ไม่สามารถกู้พอร์ตกลับมาได้ และต้องหายออกไปจากตลาดหุ้น ตลอดกาล..
4. เคล็ดวิชา “การทบต้นใน”
พี่โจเคยพูดอยู่บ่อย ๆ ว่า ตัวเองน่าจะเป็นนักลงทุนที่ทำผลตอบแทนได้เยอะ และมีความเสี่ยงที่น้อยกว่านักลงทุนส่วนใหญ่
เพราะว่าพี่โจเลือกถือหุ้นหลายตัว โดยไม่ได้ให้น้ำหนักกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป จนถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้นมา ก็จะทำให้พอร์ตเสียหายร้ายแรงได้
ปัจจุบันนี้ พี่โจถือหุ้นอยู่ทั้งหมดประมาณ 110 บริษัท โดยแบ่งเป็น
- หุ้นไทยประมาณ 40 บริษัท
- หุ้นฮ่องกงประมาณ 70 บริษัท
เมื่อเราได้เห็นจำนวนหุ้นที่พี่โจถือ มีมากขนาดนี้ เราก็คงจะมีคำถามตามมาว่า
“การถือหุ้นจำนวนมาก โดยไม่ได้ให้น้ำหนักกับหุ้นตัวไหนมากเกินไป พี่โจทำอย่างไร ถึงทำผลตอบแทนแบบทบต้น ได้มากขนาดนี้ เป็นเวลาต่อเนื่องหลายปี ?”
คำตอบของพี่โจก็คือ “การทบต้นใน” 
วิธีที่พี่โจใช้มาตลอด นับตั้งแต่ปีที่ 2 ที่เข้ามาลงทุน ซึ่งหากให้ลองนับเวลาดู ก็ถือว่าพี่โจใช้วิธีแบบนี้ มานานกว่า 20 ปีแล้ว
การทบต้นในนั้น พี่โจได้ยกตัวอย่าง โดยให้เราลองคิดภาพตามว่า เรากำลังเล่นเกมตีตัวตุ่นอยู่
ถ้าเราเจอตัวตุ่นโผล่มาตรงไหน เราก็เอาค้อนตีตุ่นตัวนั้น พอตีไปแล้ว ก็จะมีตุ่นตัวใหม่โผล่ขึ้นมา เราก็ตีตุ่นตัวใหม่นั้นต่อ ทำแบบนี้ซ้ำไปเรื่อย ๆ
เพื่อให้เห็นภาพ ก็จะขอยกตัวอย่างสำหรับการลงทุน เช่น สมมติเราถือหุ้นอยู่ 10 ตัว โดยให้น้ำหนักในพอร์ต ตัวละ 10% เท่ากันหมด
ถ้าวันหนึ่ง มีหุ้นตัวหนึ่ง ราคาเพิ่มขึ้นไปเยอะมาก เราก็จะขายหุ้นตัวนั้นออก และเอาเงินไปซื้อหุ้น 9 ตัวที่เหลือเพิ่ม
หรือถ้าเกิดเราได้เจอหุ้นตัวอื่น ที่มีโอกาสมากกว่า เราก็อาจจะซื้อหุ้นตัวนั้นเพิ่มเข้ามา แทนตัวที่ขายไป 
แล้วเราก็จะทำกระบวนการแบบนี้ วนไปเรื่อย ๆ เพื่อให้วงจรของการทบต้น ทำงานได้ต่อเนื่อง
5. เรื่องที่นักลงทุน ต้องระวังมากเป็นพิเศษ
มีอยู่ 3 เรื่องหลัก ๆ ที่พี่โจมองว่านักลงทุนควรต้องระมัดระวังไว้ ประกอบด้วย
- ระวังการใช้มาร์จิน
การใช้มาร์จินเอง ถ้าเราใช้ได้ถูกวิธี ก็จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนได้มากเลย เพราะในช่วงวิกฤติโรคระบาดเอง พี่โจก็ได้ใช้มาร์จินซื้อหุ้นราคาถูก ๆ และได้ผลตอบแทนสูงมาก เมื่อราคาฟื้นกลับมา
แต่การใช้มาร์จินเอง ถ้าเกิดเราพลาด จนถึงขั้นโดน Margin Call หรือ Forced Sell เราก็มีโอกาสจะสูญเสียเงินไปเยอะมากเช่นกัน
- ระวังการ All In
ถ้าเราเลือกหุ้นได้ถูกตัว ที่ราคาขึ้นไปหลายเท่า โดยถือหุ้นแค่ตัวเดียวในพอร์ต เราก็จะได้รับผลตอบแทนกลับมาสูงมาก ยิ่งถ้าบวกกับการใช้มาร์จินด้วยแล้ว เงินของเราจะเพิ่มพูนขึ้นอย่างมหาศาล
แต่มองอีกมุมหนึ่ง ถ้าหากเราคิดผิด หุ้นที่เราคิดว่า ควรจะขึ้นไปได้หลายเท่า กลับมีมูลค่าลดลงไปหลายเปอร์เซ็นต์แทน ในตอนนั้น ความมั่งคั่งที่เราสั่งสมมา ก็คงจะหายไปเยอะมาก หรือถึงขั้นหมดตัวแถมมีหนี้สิน ถ้าใช้มาร์จิน
- ระวังพอร์ตที่เอาไปฝากไว้ในชื่อคนอื่น
พี่โจได้เล่าเรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาว่า ในอดีตเคยมีคู่รักอยู่คู่หนึ่ง ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แล้วฝ่ายหญิงได้ฝากเงินให้ฝ่ายชาย ช่วยลงทุนให้
แต่วันหนึ่ง ฝ่ายชายก็นอกใจไปมีคนอื่น และนำเงินที่ฝ่ายหญิงฝากให้ลงทุน ไปใช้กับผู้หญิงคนใหม่แทน ซึ่งฝ่ายหญิงที่เป็นแฟนเก่า ก็เสียเงินก้อนนั้นไป และทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน
6. มหัศจรรย์การทบต้น
พี่โจก็ได้ใช้สมการของการทบต้นแบบง่าย ๆ ด้วยการมองว่า จากเงินเก็บที่มีอยู่ประมาณหลักแสนบาทนี้ ถ้าทำผลตอบแทนได้เฉลี่ย 20% ต่อปี พอตอนอายุ 60 ปี ก็น่าจะมีเงินสัก 100 ล้านบาทได้
โดยตัวเลขผลตอบแทนที่คาดหวัง 20% นี้ มาจากตัวเลขที่เรียกว่า Earning Yield หรือผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่นักลงทุนจะได้ จากการลงทุนในตลาดหุ้น
โดยเป็นการคำนวณส่วนกลับของ P/E Ratio ของตลาด
ซึ่งช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่พี่โจเริ่มเข้ามาลงทุน ตลาดหุ้นไทยยังมี P/E เฉลี่ย อยู่ที่ประมาณ 5 เท่า
ทำให้ Earning Yield ของหุ้นไทยในตอนนั้น ก็คือ
(⅕) x 100% = 20% นั่นเอง
แต่สิ่งที่มาช่วยเร่งกระบวนการทบต้นในการลงทุนให้พี่โจ จนสามารถถึงเป้าหมายได้ ตั้งแต่อายุ 30 กว่า ๆ ก็มาจาก 2 ปัจจัยหลัก
ปัจจัยแรก คือ การที่พี่โจและภรรยา สามารถเก็บออม จากการทำงานพิเศษตอนไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เป็นเวลาสั้น ๆ มาเป็นเงินลงทุนตั้งต้น ได้ประมาณ 800,000 บาท
และปัจจัยที่ 2 ก็คือ การหาหุ้นคุณภาพเพื่อลงทุน ก็ทำให้ในช่วงเวลา 10 ปีแรก พี่โจสามารถทำผลตอบแทนจากการลงทุนแบบทบต้น ได้เฉลี่ยประมาณ 50% ต่อปี
แต่ด้วยปัจจุบัน สภาพเศรษฐกิจและสภาพของตลาดหุ้นไทย ไม่ได้เป็นยุคทองแบบในอดีตอีก โอกาสที่นักลงทุนหน้าใหม่ในยุคนี้ จะสามารถร่ำรวยได้อย่างรวดเร็วแบบสมัยก่อน ก็มีน้อยลง
พี่โจจึงมองว่า ถ้าเรายังขยันตั้งใจในการหาหุ้น ก็เชื่อว่าผลตอบแทนระดับ 15% ต่อปี น่าจะยังพอทำได้ แต่หากไม่ได้ขยันมาก การมองหาหุ้นดี ๆ ที่จ่ายเงินปันผลดี ๆ ให้กับเรา ก็น่าจะทำให้เราได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 10% ต่อปี
นอกจากนี้ การลงทุนในหุ้นต่างประเทศ เริ่มเข้าถึงได้ง่าย พี่โจก็ได้แนะนำนักลงทุนรุ่นใหม่ว่า ถ้าเราเห็นว่า โอกาสในประเทศไทยมีน้อย เราก็ควรไปลงทุนในต่างประเทศ
เพราะถ้าพี่โจเป็นคนที่เริ่มลงทุนในยุคนี้ พี่โจก็จะแบ่งเงิน 50% ไปลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกง และอีก 50% จะลงทุนในตลาดหุ้นไทย
โดยพี่โจมักจะชอบพูดปนติดตลกอยู่บ่อย ๆ ว่า “ที่ไหนมีความคุ้มค่า ที่นั่นก็จะมีผม”
7. วิธีรับมือในช่วงที่หุ้นตก
พี่โจมีคำแนะนำสำหรับรับมือเวลาหุ้นตกอยู่ โดยแบ่งเป็น 2 กรณี
- ตลาดหุ้นก็ปกติดี แต่เราพลาดเอง
ถ้าเรารู้ตัวว่าเราผิด เราต้องรีบขายหุ้นนั้นทันที อย่ายอมให้อคติมาบดบัง การใช้เหตุและผลของเราเด็ดขาด
ถ้าขายแล้วจะขาดทุน ก็ต้องยอมขาดทุน ต่อให้เหลือเงินน้อย ก็ยังดีกว่าไม่เหลือเลย
- หุ้นของเราลง ตามสภาพตลาดหุ้นที่ไม่ดี
ถ้าเราเชื่อว่า หุ้นที่เราถืออยู่นี้ เป็นหุ้นของบริษัทที่ดีมากจริง ๆ และราคาก็ยังถูกมาก หากเรายังพอมีเงินเหลืออยู่บ้าง เราก็ควรซื้อหุ้นเพิ่ม
แต่ถ้าเกิดในระหว่างทาง เราไปเจอหุ้นตัวใหม่ ที่มีโอกาสจะทำผลตอบแทนได้มากกว่า เราก็ควรเปลี่ยนหุ้น
หรือถ้าในช่วงนั้น ราคาหุ้นเกิดต่ำมากจนเกินไป จนดูไม่มีเหตุผลแล้ว ก็อาจจะใช้มาร์จินดู แต่ต้องระวังมาก ๆ 
8. หาตัวเองให้เจอ และเริ่มให้เร็ว
พี่โจมีความฝันที่อยากจะเป็นนักลงทุนมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลายแล้ว เพราะในตอนนั้น พี่โจได้เห็นญาติตัวเอง เล่นหุ้นแบบเก็งกำไร แล้วได้เงินเยอะในบางวัน
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้พี่โจหันมาสนใจเรื่องการลงทุน จนทำให้ตะลุยอ่านหนังสือพิมพ์ด้านธุรกิจให้ได้เยอะที่สุด
จากการทบต้นของความรู้ ผ่านการอ่านเรื่องราวของธุรกิจมาหลายต่อหลายปี ประกอบกับการอดทน กินอยู่อย่างประหยัด เพื่อเก็บออมเงินให้ได้มาก ๆ
จนเมื่อเวลาที่เหมาะสมมาถึง สิ่งต่าง ๆ ที่พี่โจได้ทำสะสมมา ก็ได้สุกงอมเต็มที่ ผลลัพธ์ของความเพียรนี้เอง ก็ได้สร้างผลตอบแทนอันมหาศาล คืนกลับมาสู่ชีวิตของพี่โจและครอบครัวได้
จนทำให้วันนี้ พี่โจ นักลงทุนผู้มีความฝัน ที่ต้องอดทนผ่านบททดสอบของชีวิตมามากมาย ก็ได้มีความมั่งคั่ง ถึงหลัก 1,000 ล้านบาท
และได้กลายมาเป็นต้นแบบที่ดี ทั้งด้านการใช้ชีวิตและการลงทุน ให้กับนักลงทุนรุ่นหลัง อีกหลายต่อหลายคน
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่า พวกเราคงได้เข้าใจถึงวิธีคิด ความเชื่อ และความศรัทธา ในแบบของผู้ชายที่ชื่อ คุณอนุรักษ์ บุญแสวง หรือพี่โจ ลูกอีสาน กันดีขึ้นแล้ว
แต่บทความก็ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะ MONEY LAB ได้มีคำถามพิเศษ เป็นคำถามสุดท้าย ซึ่งเชื่อว่า คงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านอยู่บ้าง
คำถามมีอยู่ว่า
“ถ้าวันหนึ่งในอนาคต พี่โจไม่ได้ส่งต่อความมั่งคั่งให้กับทายาทหรือครอบครัว แต่ส่งต่อเป็นหลักการในการจัดการด้านการเงินและการลงทุนแทน พี่โจจะมีคำแนะนำอย่างไร ?”
คำตอบของพี่โจ สามารถสรุปออกมาได้ดังนี้
- หลักการพื้นฐานทั่วไป คือ หาเงินให้เยอะกว่าที่จะใช้
- กินอยู่อย่างประหยัด ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น
- ก่อนจะใช้จ่ายอะไร ให้คิดถึงคุณค่าที่เราจะได้รับเป็นหลัก
และสุดท้าย วิธีการลงทุนแบบง่าย ๆ ที่ไม่ต้องใช้ความพยายามมากนัก ก็คือการซื้อและถือกองทุนอิงดัชนี ค่าธรรมเนียมถูก ไปเรื่อย ๆ โดยแบ่งเป็น
กองทุนอิงดัชนีหุ้นสหรัฐอเมริกา 50%
กองทุนอิงดัชนีหุ้นยุโรป 20%
กองทุนอิงดัชนีหุ้นจีน 20%
กองทุนอิงดัชนีหุ้นไทย 10%
และทั้งหมดนี้ คือประเด็นสำคัญที่ทาง MONEY LAB ได้สรุปมาให้ จากการสัมภาษณ์กับคุณอนุรักษ์ บุญแสวง
ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้ น่าจะช่วยเพิ่มความหวังในชีวิต ให้กับนักลงทุนหน้าเก่า ที่กำลังท้อแท้กับการลงทุน 
และสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ ที่ฝันอยากจะมีอิสรภาพทางการเงิน ได้ไม่มากก็น้อย..
สุดท้ายนี้ ทาง MONEY LAB ก็อยากขอขอบคุณพี่โจ หรือคุณอนุรักษ์ บุญแสวง ในการให้โอกาสสัมภาษณ์ ไว้ ณ ที่นี้ด้วย
Reference
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณอนุรักษ์ บุญแสวง เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2568
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.
เราได้ปรับปรุงนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อปกป้องข้อมูลที่สำคัญของคุณ โปรดอ่านและทำความเข้าใจนโยบายความเป็นส่วนตัวของเราเพิ่มเติม หากท่านใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเรา