สัมภาษณ์พิเศษ พี่นุช นักลงทุน VI บ้าน ๆ แต่ผลตอบแทน ไม่ธรรมดา

สัมภาษณ์พิเศษ พี่นุช นักลงทุน VI บ้าน ๆ แต่ผลตอบแทน ไม่ธรรมดา

4 ธ.ค. 2024
เรื่องราวของคนธรรมดา ที่ไม่ได้มีต้นทุนชีวิตอะไรมากนัก แต่กลับสามารถร่ำรวย และได้มีชีวิตที่มีความสุข น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คน ได้เป็นอย่างดี
ซึ่งในประเทศไทยของเราเอง ก็มีอยู่ท่านหนึ่ง
ที่เริ่มต้นจากอาชีพพยาบาล รายได้น้อย
และครอบครัวก็ไม่ได้มีทรัพย์สินอะไร
แต่ด้วยความขยัน ประหยัด หมั่นหาความรู้
และนำเงินที่อดออมมาได้จากการทำงาน ไปลงทุนอยู่เสมอ
วันนี้นักลงทุนคนนั้น ประสบความสำเร็จในการลงทุน มีอิสรภาพทางการเงิน และได้มีชีวิตที่รื่นรมย์ มีความสุขในทุกวัน
เรากำลังพูดถึง คุณวราพรรณ วงศ์สารคาม หรือ “พี่นุช”
โดยพี่นุชได้เริ่มเข้ามาลงทุนในปี 2553 ด้วยความคาดหวังที่ต่ำมาก เพราะต้องการผลตอบแทน แค่มากกว่าเงินฝากประจำของธนาคารเท่านั้นเอง
แม้จะคาดหวังน้อย แต่พี่นุชกลับเต็มที่ในเรื่องการลงทุนเสมอ จนผลลัพธ์ที่ได้จากการลงทุน ต้องเรียกได้ว่า เปลี่ยนชีวิตไปมากกว่าที่เคยฝันไว้เสียอีก
โดย MONEY LAB ได้มีโอกาสสัมภาษณ์กับพี่นุช ที่ได้มาบอกเล่าถึงปรัชญาการลงทุน และการใช้ชีวิต
ที่สามารถสรุปออกมาเป็นประเด็นที่สำคัญ ได้ดังนี้
1. ลงทุนในหุ้นที่เราถนัด และเข้าใจเป็นอย่างดี
หลายคนมักจะมองว่าพี่นุช เป็นนักลงทุนหุ้นปันผล จากการให้สัมภาษณ์ตามรายการต่าง ๆ แต่อันที่จริงแล้ว หุ้นอีกประเภทหนึ่งที่พี่นุชค่อนข้างถนัด คือหุ้นวัฏจักร
แน่นอนว่าการลงทุนในหุ้นวัฏจักร ก็ย่อมมีความเสี่ยงจากความผันผวนสูง ทำให้พี่นุชจะลงทุนแต่หุ้นของบริษัทที่สามารถเข้าใจและเห็นภาพอนาคตของกิจการได้อย่างชัดเจน
โดยพี่นุชจะศึกษาข้อมูลของบริษัทให้ละเอียดมาก ซึ่งข้อมูลทั้งหมดที่ใช้ ก็จะเป็นข้อมูลมือสองเท่านั้น เช่น
- ข้อมูลจากในเว็บบอร์ด Thai VI ที่มีนักลงทุนท่านอื่น นำมาแบ่งปัน
- อ่านเว็บบอร์ด Pantip เพื่อไว้หาไอเดียในการลงทุน และศึกษาจิตวิทยามวลชน ว่าผู้คนคิดอย่างไรในเวลานั้น
- อ่านรายงานประจำปีของบริษัท รวมถึงอ่านข่าวทุกข่าวที่เกี่ยวข้อง
พี่นุชแนะนำว่า ถึงเราจะได้รับข้อมูลมาเยอะขนาดนี้ แต่เราก็ไม่ควรจะเชื่อทุกอย่าง เราจะต้องมีวิจารณญาณกับข้อมูลเหล่านั้นเสมอ
เพราะการตัดสินใจลงทุน สุดท้ายก็จะขึ้นอยู่กับว่า เราคิดอย่างไรกับข้อมูลเหล่านั้น
2. ต้องมี Margin of Safety อย่างน้อย 30% เสมอ
หุ้นทุกตัวที่พี่นุชซื้อ จะซื้อเมื่อตอนที่ราคาถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริงเท่านั้น โดยจะต้องมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย หรือ “Margin of Safety” อย่างน้อย 30%
เช่น หากเราพบว่า หุ้น A มีมูลค่าที่แท้จริง 10 บาทต่อหุ้น เราก็จะซื้อหุ้น A ตอนที่ราคาต่ำกว่า 7 บาทต่อหุ้น เท่านั้น
แม้จะพบหุ้นที่น่าสนใจ แต่ถ้าราคาขึ้นมามากแล้ว หรือเห็นว่ามีพฤติกรรมการไล่ราคากัน พี่นุชก็จะไม่เข้าไปลงทุนเด็ดขาด เพราะเป็นเรื่องที่เสี่ยงเกินไป
สำหรับพี่นุชแล้ว ก่อนที่จะลงทุนนั้น จะต้องคำนึงถึงเรื่องความเสี่ยงเป็นอย่างแรก โดยจะบอกตัวเองไว้เสมอว่า “ต้องอย่าขาดทุน และทุกการลงทุน จะต้องเน้นรักษาเงินต้นไว้ก่อน”
ในการลงทุน เราอาจจะมีการตกรถได้ในหลาย ๆ ครั้ง ก็ไม่เป็นไร เพราะเราไม่จำเป็นต้องได้รับผลตอบแทนเยอะมาก ๆ ก็ได้ เพียงแต่เราต้องยืนระยะในการลงทุน ให้ได้นานที่สุด
ถ้าทำแบบนี้ได้เป็นเวลานาน เงินของเราก็จะทบต้นไปเรื่อย ๆ แล้วสักวัน พอร์ตของเราก็จะใหญ่ขึ้นเอง
3. รู้ว่าเมื่อไรควรจะพอ
เป้าหมายทางการเงินสำหรับชีวิตของแต่ละคนนั้น ไม่เหมือนกัน บางคนอยากจะรวยมากเป็นหลายร้อยหลายพันล้านบาท
แต่ก็มีบางคนที่ แค่อยากจะมีอิสรภาพทางการเงิน และได้อยู่อย่างสุขสบาย ไม่ต้องเคร่งเครียดจากการทำงานอีกแล้ว
สำหรับพี่นุชนั้น จะอยู่ในประเภทหลัง ที่เน้นลงทุนเพื่อให้มีอิสรภาพทางการเงิน โดยจะต้องมีเงินปันผลครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของครอบครัว
ในช่วง 5 ปีแรกที่ลงทุน พี่นุชจะเน้นลงทุนแต่หุ้นวัฏจักร ซึ่งเป็นช่วงที่ได้รับผลตอบแทนแบบทบต้นเยอะมาก เลยทำให้พอร์ตเติบโตเร็วมาก
แต่พอถึงจุดหนึ่ง เงินปันผลจากการลงทุน และเงินบำนาญจากการรับราชการมาทั้งชีวิต ที่ต่อให้ลาออกจากงานตอนนี้ รวมกันแล้ว ก็ยังมากพอสำหรับค่าใช้จ่ายของครอบครัว
พี่นุชก็เลือกจะเปลี่ยนรูปแบบการลงทุน มาเน้นหุ้นปันผลเป็นหลัก เพราะไม่ได้ต้องการเร่งสร้างความร่ำรวยอีกต่อไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม พี่นุชก็ยังมีการแบ่งเงินบางส่วนมาลงทุนในหุ้นวัฏจักรอยู่บ้าง เป็นครั้งคราว ถ้าเห็นโอกาสที่ชัดเจน
4. จัดพอร์ตการลงทุนแบบเน้นสร้างกระแสเงินสด และหมั่นลงทุนเพิ่มสม่ำเสมอ
ทุกวันนี้ พอร์ตการลงทุนของพี่นุช จะแบ่งเป็น
- พอร์ตหุ้นปันผล 70%
- พอร์ตหุ้นวัฏจักร 30%
สำหรับพอร์ตหุ้นปันผลนั้น จะมีหุ้นอยู่ประมาณ 7-8 ตัว พอได้รับเงินปันผลมา หลังหักค่าใช้จ่ายสำคัญไปแล้ว ก็จะนำกลับไปลงทุนในพอร์ตหุ้นปันผลเพิ่ม เพื่อจะได้เงินปันผลมากขึ้นในปีต่อไป
แต่สำหรับพอร์ตหุ้นวัฏจักรนั้น บางช่วงก็อาจจะไม่ได้ซื้อหุ้นเลยก็ได้ ถ้าหาหุ้นตัวที่น่าสนใจจริง ๆ ไม่เจอ
แต่ถ้าเกิดเจอหุ้นที่น่าสนใจ เมื่อลงทุนได้รับผลตอบแทนกลับมาพอสมควรแล้ว ก็จะขายหุ้นวัฏจักร และแบ่งเงินจากในพอร์ตหุ้นวัฏจักร ไปซื้อหุ้นในพอร์ตปันผลเพิ่ม
แต่ในทางกลับกัน พี่นุชจะไม่ขายหุ้นในพอร์ตปันผล เพื่อไปซื้อหุ้นในพอร์ตวัฏจักรเพิ่มเด็ดขาด
พี่นุชบอกว่า หุ้นในพอร์ตวัฏจักร จะมีหรือไม่มีก็ได้ เพราะบางทีอาจจะยังไม่ถึงรอบของหุ้นวัฏจักร ที่พี่นุชสนใจ 
แต่สำหรับหุ้นในพอร์ตปันผลนั้น จะต้องมีอยู่เสมอ เพราะเป็นสิ่งที่สร้างกระแสเงินสด และเป็นแหล่งรายได้ของครอบครัว นั่นเอง
โดยหลักเกณฑ์ในการกรองหาหุ้นปันผลดี ๆ ของพี่นุช จะเป็นดังนี้
- บริษัทต้องมีกิจการที่แข็งแกร่ง มั่นคง เปลี่ยนแปลงได้ยาก สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ในระยะยาว
- มีคุณภาพรายได้และกำไรดี โดยต้องมีรายได้แบบ Recurring Income หรือเป็นธุรกิจที่มีรายได้ประเภท ที่ลูกค้าจะมีการมาซื้อสินค้าซ้ำบ่อย ๆ
- ต้องมีผู้บริหารที่น่าไว้ใจ
- บริษัทต้องมีหนี้น้อย และมีกระแสเงินสดที่ดี
- กำไรสุทธิต้องมีแนวโน้มเติบโต อย่างน้อย 5% ต่อปี
- อัตราการจ่ายเงินปันผล ต้องมากกว่า 5% ต่อปีขึ้นไป
5. หาต้นแบบในการลงทุนและใช้ชีวิตที่ดีให้เจอ
การเรียนรู้จากอาจารย์ที่เก่ง มีความรู้ ประสบความสำเร็จ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเรา จะช่วยให้ชีวิตเรามีหลักยึด และเจริญก้าวหน้า ไปได้มากเลย
สำหรับพี่นุชเอง ก็มีอาจารย์ที่เป็นต้นแบบด้านการลงทุนหลัก ๆ อยู่ 3 ท่าน ประกอบด้วย
- คุณอนุรักษ์ บุญแสวง หรือพี่โจ ลูกอีสาน
- ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร บิดาการลงทุนแบบเน้นคุณค่าของประเทศไทย
- รศ. ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา
สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มเข้ามาลงทุน การหาอาจารย์ที่สามารถเป็นต้นแบบที่ดีให้กับเราได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่แพ้การศึกษาหุ้นเลย
6. หนังสือการลงทุนที่อยากแนะนำ
ก่อนที่พี่นุชจะประสบความสำเร็จในการลงทุน มีอิสรภาพทางการเงินแบบนี้ได้ ก็มีวิธีการเหมือนกับหลาย ๆ คน คือต้องผ่านการฝึกฝน หาความรู้เรื่องการลงทุนมาไม่น้อย
ซึ่งแหล่งความรู้สำคัญ ก็คงจะหนีไม่พ้น การได้อ่านหนังสือการลงทุนดี ๆ จากปรมาจารย์ด้านการลงทุน ที่ประสบความสำเร็จ เป็นตัวอย่างให้เห็นแล้ว
โดยพี่นุชได้แนะนำหนังสือการลงทุน ที่เราควรอ่าน ทั้งหมด 6 เล่ม คือ
- ตีแตก ของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
- Buffettology ของคุณ David Clark และคุณ Mary Buffett
- One Up on Wall Street และ Beating the Street ของคุณ Peter Lynch
- The Intelligent Investor ของคุณ Benjamin Graham
- หนังสือชุดหุ้นห่านทองคำ ของคุณเทพ รุ่งธนาภิรมย์
7. คำแนะนำเรื่องการเงิน และการใช้ชีวิตจากพี่นุช
สำหรับข้อสุดท้ายนี้ ทาง MONEY LAB ได้มีคำถามทิ้งท้ายให้กับพี่นุช
และคำตอบนั้น MONEY LAB เชื่อว่า จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ ไม่น้อยเลย
คำถามมีอยู่ว่า
“ถ้าวันหนึ่งในอนาคต พี่นุชไม่ได้ส่งต่อความมั่งคั่งให้กับทายาท แต่ส่งต่อเป็นหลักการในการจัดการด้านการเงิน การลงทุน และการใช้ชีวิตแทน พี่นุชจะมีคำแนะนำอย่างไร ?”
คำตอบของพี่นุชนั้น สามารถสรุปออกมาได้ดังนี้
- เรียนรู้วิธีให้เงินทำงานให้เรา
- แม้จะมีเงินน้อย แต่ถ้าทำถูกวิธี เงินก็จะเติบโต แต่ในทางกลับกัน ต่อให้มีเงินมาก ถ้าทำผิดวิธี เงินก็จะน้อยลง
- อย่าเปรียบเทียบกับใคร แล้วชีวิตจะมีความสุข
- อย่าไปฟังเสียงรอบข้างเยอะ โดยเฉพาะในด้านลบ เพราะจะขัดขวางความเจริญ จงเชื่อมั่นในตัวเอง
สุดท้ายแล้ว การลงมือทำจะเปลี่ยนชีวิตเรา ไม่ว่าจะถูกหรือผิด เพราะถ้าผิด ก็จะได้เรียนรู้ แต่ถ้าถูก ชีวิตเราก็จะเปลี่ยนไป
ทั้งหมดนี้ คือประเด็นสำคัญที่ทาง MONEY LAB ได้สรุปมาให้ จากการสัมภาษณ์กับพี่นุช หรือคุณวราพรรณ วงศ์สารคาม
โดยทางเพจก็มีความหวังอยู่บ้างว่า เนื้อหาของบทความนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่าน ทั้งที่ติดตาม MONEY LAB มานาน หรือจะเพิ่งเริ่มมาติดตามก็ตาม
บทความนี้ ขอมอบให้กับ ทุกท่านที่มีความฝันอยากจะประสบความสำเร็จ มีอิสรภาพทางการเงิน และขอให้ทุกท่าน ได้มีชีวิตที่มีความสุขความเจริญ ยิ่ง ๆ ขึ้นไป..
สุดท้ายนี้ ทาง MONEY LAB ก็อยากขอขอบคุณพี่นุช หรือคุณวราพรรณ วงศ์สารคาม ในการให้โอกาสสัมภาษณ์ ไว้ ณ ที่นี้ด้วย
#ลงทุน
#หุ้นไทย
#คนสร้างพอร์ต
Reference
- สัมภาษณ์คุณวราพรรณ วงศ์สารคาม เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2567
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.