สรุปธุรกิจ Ping An เครื่องจักรผลิตเงินสด 12,000,000,000 ของกลุ่ม CP

สรุปธุรกิจ Ping An เครื่องจักรผลิตเงินสด 12,000,000,000 ของกลุ่ม CP

6 ก.ย. 2024
12,646,951,871 บาท คือ เงินปันผลที่ กลุ่ม CP ได้จากบริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดของจีน ชื่อว่า Ping An Insurance (Group)
โดยกลุ่ม CP เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ของ Ping An โดยถือหุ้นในสัดส่วน 5.84% คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 160,000 ล้านบาท
ข่าวดีก็คือ ถ้าใครอยากนอนอยู่เฉย ๆ แล้วมีเงินปันผลเข้ามาทุกปี แบบกลุ่ม CP ก็สามารถซื้อหุ้น Ping An ได้ง่าย ๆ 
ผ่านการซื้อ DR ที่มีชื่อว่า “PINGAN80” ในแอปฯ Streaming
แล้วถ้าใครอยากรู้ว่า กลุ่ม CP เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ของบริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดในจีนอย่าง Ping An ได้อย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
Ping An Group เป็นบริษัทประกันแห่งแรกของจีน ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1988 โดยคุณปีเตอร์ หม่า ที่เมืองเซินเจิ้น
ในช่วงเวลานั้น จีนกำลังมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางด้านเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จากการเปลี่ยนผู้นำมาเป็นคุณเติ้ง เสี่ยวผิง
ที่มองเห็นถึงความสำคัญในการเปิดประเทศ ต้อนรับนักลงทุนต่างชาติ และให้อิสระแก่เอกชนในการประกอบธุรกิจมากขึ้น
เซินเจิ้น ซึ่งเป็นเมืองท่าติดทะเล ที่อยู่ติดกับฮ่องกง เลยได้รับเลือก ให้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนในยุคแรก ๆ
และ Ping An จึงเริ่มต้นทำธุรกิจประกันให้กับคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในเมืองเซินเจิ้น
ก่อนที่จะขยายธุรกิจออกไปทั่วประเทศจีน จนปัจจุบัน Ping An กลายเป็นบริษัทโฮลดิง ที่ประกอบธุรกิจการเงินครบวงจร รวมไปถึงธุรกิจเทคโนโลยีด้วย 
ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร, ประกัน, หลักทรัพย์, แพลตฟอร์ม Telemedicine อย่าง Ping An Good Doctor และแพลตฟอร์มทางการเงินอย่าง Lufax
ส่วนกลุ่ม CP เริ่มเข้ามาลงทุนใน Ping An จากการซื้อหุ้นต่อจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 เดิม คือ ธนาคาร HSBC ในปี 2013
ดีลในเวลานั้น HSBC ขายหุ้นคิดเป็นสัดส่วน 15.6% ของหุ้น Ping An ทั้งหมด ให้กับกลุ่ม CP คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 323,000 ล้านบาท
ที่น่าสนใจก็คือ HSBC ตั้งราคาขายหุ้น Ping An ให้ CP ต่ำกว่าราคาตลาดถึง 20% เนื่องจากในตอนนั้น HSBC กำลังประสบปัญหาทางการเงิน
จึงต้องมีการขายหุ้น Ping An ออกมา เพื่อรีบนำเงินไปเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจตัวเอง
ปัจจุบันนี้ Ping An กลายมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากถึง 3,371,212 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ CP ซื้อหุ้นต่อจาก HSBC เกือบ 63%
ซึ่งนอกจากกลุ่ม CP จะได้รับผลตอบแทนในรูปของส่วนต่างราคาหุ้นแล้ว กลุ่ม CP ยังได้รับเงินปันผลเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปีอีกด้วย เห็นได้จาก
ปี 2015 Ping An จ่ายปันผล 0.58 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหุ้น
ปี 2019 Ping An จ่ายปันผล 2.24 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหุ้น
ปี 2023 Ping An จ่ายปันผล 2.7 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหุ้น
หรือก็คือเงินปันผลที่ CP ได้รับจาก Ping An เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 21% ต่อปี เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซาของจีน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการควบคุมธุรกิจเทคโนโลยีรายใหญ่อย่างเข้มงวดของรัฐบาลจีน
ก็ทำให้ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของ Ping An ซึ่งมีทั้งธุรกิจการเงิน และธุรกิจเทคโนโลยีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เห็นได้จากกำไรจากการดำเนินงานในแต่ละธุรกิจของ Ping An ในปี 2023 ที่ผ่านมา..
- ธุรกิจประกันชีวิต มีกำไรจากการดำเนินงาน 509,576 ล้านบาท ลดลง 3% จากปีก่อน
- ธุรกิจประกันภัย มีกำไรจากการดำเนินงาน 43,030 ล้านบาท ลดลง 11% จากปีก่อน
- ธุรกิจธนาคาร มีกำไรจากการดำเนินงาน 223,149 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อน
- ธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน มีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 2,735 ล้านบาท พลิกจากกำไรจากปีก่อน ที่กำไร 18,267 ล้านบาท
- ธุรกิจเทคโนโลยี มีกำไรจากการดำเนินงาน 14,314 ล้านบาท ลดลง 55% จากปีก่อน
ปัญหาเศรษฐกิจจีนที่ซบเซา จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลประกอบการของ Ping An หดตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้สะท้อนออกมาในราคาหุ้นของ Ping An ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง ให้ปรับตัวลดลงมากถึง 65% จากจุดสูงสุดเดิมในปี 2021
แต่ถึงอย่างนั้น Ping An ก็ยังคงสามารถจ่ายปันผลต่อหุ้นเพิ่มขึ้นได้ติดต่อกันมา 12 ปีแล้ว เนื่องจากธุรกิจประกัน เป็นธุรกิจที่สามารถสร้างกระแสเงินสดได้ดี
และที่ผ่านมาบริษัทก็จ่ายปันผลออกมาในสัดส่วนไม่เกิน 50% เมื่อเทียบกับกำไรที่บริษัททำได้ทั้งหมด เพราะต้องการกันเงินบางส่วนไปลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยี
จึงเป็นที่น่าติดตามต่อไปว่า เมื่อเศรษฐกิจจีนผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากไปแล้ว ผลประกอบการของ Ping An จะสามารถกลับมาเติบโตได้หรือไม่ ?
และถ้า Ping An สามารถกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง Ping An ก็น่าจะยังคงเป็นเครื่องจักรผลิตเงินสด ที่สามารถจ่ายปันผลให้กับกลุ่ม CP ได้เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำ ให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
References
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.