สรุปธุรกิจ PepsiCo ราชาแห่งเงินปันผล ที่จ่ายเงินให้ ผู้ถือหุ้นทุกคน ติดต่อกัน 50 ปี

สรุปธุรกิจ PepsiCo ราชาแห่งเงินปันผล ที่จ่ายเงินให้ ผู้ถือหุ้นทุกคน ติดต่อกัน 50 ปี

9 ส.ค. 2024
ภาพจำในหัวของคนธรรมดาทั่วไปก็คือ Pepsi เป็นคู่ปรับตลอดกาลของโค้ก แต่ไม่ใช่กับคนที่อยู่ในโลกการเงิน 
เพราะบริษัท PepsiCo เจ้าของ Pepsi และขนมขบเคี้ยวอื่น ๆ ที่เราคุ้นเคยอย่าง Lay’s, Doritos และ Cheetos เป็นที่รู้จักกันในนาม “ราชาแห่งเงินปันผล” 
จากการที่บริษัทแห่งนี้จ่ายเงินปันผลติดต่อกัน 50 ปีไม่มีหยุดหย่อน แถมยังจ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย 
และ PepsiCo ก็เป็นบริษัทหนึ่ง ที่เราสามารถลงทุนได้ ผ่านเครื่องมือ DR ที่เทรดอยู่ในตลาดหุ้นไทย
โดย DR ของ PepsiCo ชื่อว่า PEP80X
แล้ว PepsiCo มีกลยุทธ์การขยายธุรกิจอย่างไร ถึงสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนได้มากขึ้นทุกปี ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
จุดเริ่มต้นของ Pepsi ต้องย้อนกลับไปในปี 1898 มีเภสัชกรชาวอเมริกัน คือ คุณ Caleb D. Bradham ต้องการสร้างเครื่องดื่มสูตรพิเศษ ที่หาได้เฉพาะร้านขายยาของเขา 
โดยในยุคนั้น เทรนด์ฮิตติดร้านขายยาก็คือ การมีตู้โซดาจำหน่ายเครื่องดื่มให้กับลูกค้าอยู่หน้าร้าน
คุณ Bradham เลยคิดค้นน้ำอัดลมสีดำ สูตรพิเศษ ที่มีสรรพคุณในการรักษาอาการอาหารไม่ย่อยขึ้นมา เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้ร้านของเขา
โดยตอนแรกตั้งชื่อว่า Brad’s Drink ตามชื่อของเขา ต่อมาเขาเริ่มคิดว่าจะวางขายในร้านค้าอื่น ๆ ด้วย จึงเปลี่ยนชื่อเป็น Pepsi-Cola 
โดยคำว่า Pepsi มาจากคำว่า Dyspepsia ซึ่งหมายถึง อาการอาหารไม่ย่อย และคำว่า Cola ซึ่งมาจากเครื่องดื่มรสโคล่า เหมือน Coca-Cola ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นมาก่อนหน้านี้ในปี 1886 นั่นเอง
หลังจากนั้นไม่นาน Pepsi ก็ได้รับความนิยมในวงกว้าง วางขายไปได้เพียง 4 ปี คุณ Bradham ก็เริ่มจัดตั้งบริษัท Pepsi-Cola เพื่อทำธุรกิจจำหน่ายน้ำอัดลมโดยเฉพาะ
แต่เส้นทางแห่งความสำเร็จของ Pepsi ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะในช่วงปี 1914 ถึงปี 1918 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น
ราคาน้ำตาล ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการทำน้ำอัดลม ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า ทำให้บริษัท Pepsi-Cola ประสบภาวะล้มละลายในที่สุด
บริษัทเปลี่ยนมือเจ้าของมาหลายคน จนกระทั่งมาลงเอยกับคุณ Charles Guth ประธานบริษัทผลิตลูกกวาด ในปี 1931 เพราะเขาเริ่มเบื่อหน่ายกับงานที่เขาทำ และสนใจเข้าซื้อบริษัท Pepsi-Cola เพื่อสร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง
ในยุคนั้น คงไม่มีใครเชื่อว่าชายคนนี้ จะช่วยวางรากฐานให้บริษัทล้มละลายอย่าง Pepsi ได้กลายเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่อย่างในทุกวันนี้ 
กลยุทธ์การฟื้นคืนชีพ Pepsi ของคุณ Guth คือ การปรับสูตรหัวเชื้อใหม่ ให้หวานขึ้นกว่าเดิม พร้อมกับปรับราคา และปริมาณสินค้า ให้ตอบโจทย์กับสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองในยุคนั้น
กลยุทธ์ของคุณ Guth เริ่มเห็นผลในปี 1936 เพราะปีนั้น Pepsi ขายน้ำอัดลมได้มากถึง 500 ล้านขวด และมีผลกำไรมากถึง 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,600 ล้านบาทในปัจจุบัน)
ถึงตรงนี้แม้ Pepsi จะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว แต่ก็ต้องเจอกับปัญหาใหม่  
เพราะตอนที่คุณ Guth เข้ามาบริหาร Pepsi นั้น คุณ Guth ยังไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานบริษัทของ Loft, Inc. ที่เขาทำงานอยู่เลย..
ด้วยเหตุนี้คุณ Guth จึงโดนบริษัท Loft ฟ้องร้อง กล่าวหาว่านำทรัพยากรของบริษัทไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว
สุดท้ายแล้วคุณ Guth แพ้คดี และบริษัท Pepsi-Cola ก็ตกอยู่ภายใต้บริษัท Loft, Inc. ซึ่งต่อมาทาง Loft, Inc. คงมองเห็นโอกาสในธุรกิจน้ำอัดลม จึงยอมเปลี่ยนชื่อบริษัทตัวเองให้กลายเป็นชื่อ Pepsi-Cola 
ต่อมาหลังจากปี 1960 เมื่อธุรกิจน้ำอัดลมเติบโตอย่างเต็มที่แล้ว บริษัท Pepsi-Cola ก็เริ่มมุ่งเน้นการเติบโตผ่านการเข้าซื้อกิจการมากขึ้น
การเข้าซื้อกิจการที่สำคัญ ๆ ก็เช่น..
- ปี 1965 เข้าซื้อบริษัท Frito-Lay, Inc. เจ้าของขนมแบรนด์ Lay’s, Fritos, Doritos และ Rold Gold Pretzels
ในปีเดียวกันนี้เอง บริษัทได้เปลี่ยนชื่อจาก Pepsi-Cola ให้สั้นลงเป็น PepsiCo
- ปี 1977 ซื้อธุรกิจร้านอาหาร Pizza Hut, Inc.
- ปี 1978 เข้าซื้อ Taco Bell Inc. เชนร้านอาหารเม็กซิโก
- ปี 1986 เข้าซื้อ KFC และ Seven-Up ซึ่งต่อมาคือแบรนด์น้ำอัดลมที่เน้นบุกตลาดต่างประเทศของบริษัท
- ปี 1997 PepsiCo ขายธุรกิจร้านอาหารทั้ง 3 แห่งออกไป ได้รับเงินมา 5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 388,000 ล้านบาทในปัจจุบัน)
- ปี 1998 บริษัทต้องการเจาะตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ จึงตัดสินใจเข้าซื้อแบรนด์น้ำผลไม้ Tropicana
- ปี 2001 เข้าซื้อบริษัทผลิตอาหารเช้าซีเรียล Quaker Oats
ผลจากการเข้าซื้อกิจการอื่นอย่างต่อเนื่อง และหลากหลาย ทำให้สัดส่วนรายได้ในตอนนี้ของ PepsiCo ไม่ได้พึ่งพาการขายน้ำอัดลมอย่างเดียวอีกต่อไป
โดยในปัจจุบันนี้ รายได้ทุก ๆ 100 บาท ของ PepsiCo มาจากการขายขนม และซีเรียล 59 บาท ที่เหลือ 41 บาท มาจากการขายเครื่องดื่ม
กลยุทธ์การเข้าซื้อกิจการอย่างต่อเนื่องนี้เอง ทำให้ PepsiCo มีผลประกอบการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จนสามารถจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นได้ตลอด 50 ปี
เราลองมาดูผลประกอบการในช่วงเกือบ 50 ปีที่ผ่านมาของบริษัทกัน
- ปี 1975 รายได้ 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 484,000 ล้านบาทในปัจจุบัน)
- ปี 1985 รายได้ 8,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 850,000 ล้านบาทในปัจจุบัน)
- ปี 2005 รายได้ 32,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,891,278 ล้านบาทในปัจจุบัน)
- ปี 2023 รายได้ 91,471 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,298,764 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าในระยะเวลาเกือบ 50 ปี PepsiCo สร้างรายได้ให้เติบโตมาได้ตลอด และนั่นก็ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เงินปันผลต่อหุ้นก็เพิ่มขึ้น 8.2% ต่อปีเลยทีเดียว..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำ ให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ลงทุน 
#DRx
#สรุปDRวันละตัว
References
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.