สรุปธุรกิจ ThaiBev ของเสี่ยเจริญ “เจ้าพ่อแห่งการเทกโอเวอร์”
22 ส.ค. 2024
รู้หรือไม่ว่า ThaiBev ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ ในตอนแรกเคยคิดจะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย เหมือนบริษัทไทยรายอื่น ๆ
แต่ทว่า ในปี 2548 ช่วงที่ ThaiBev มีแผนจะจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย กลับถูกต่อต้านอย่างหนัก เพราะคนบางกลุ่มมองว่า ThaiBev เป็นบริษัทขายสุรา ซึ่งขัดต่อสังคมไทย ที่เป็นเมืองพุทธ
แต่ในวันนี้นักลงทุนไทย สามารถซื้อหุ้น ThaiBev ผ่านตลาดหุ้นไทยได้แล้ว ผ่านเครื่องมืออย่าง DR ชื่อว่า “THAIBEV19”
แล้วถ้าคุณอยากรู้ว่าเส้นทางธุรกิจของ อาณาจักร ThaiBev เป็นอย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ThaiBev ย่อมาจาก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีผู้ก่อตั้งคือ คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี เศรษฐีอันดับ 2 ของไทย เจ้าของทรัพย์สินกว่า 300,000 ล้านบาท
ที่น่าสนใจก็คือ คุณเจริญ ไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยมาตั้งแต่แรก
เพราะพ่อของเขา เป็นเพียงพ่อค้าขายหอยทอด อยู่แถวโรงเรียนเผยอิง ที่คุณเจริญเรียนอยู่
เมื่อคุณเจริญ เรียนจบชั้น ป.4 ก็ต้องออกจากโรงเรียน มาช่วยที่บ้านทำงานหาเงิน เพื่อส่งเสียน้อง ๆ ที่กำลังเรียนอยู่ ด้วยการรับจ้างเข็นรถ และขายของไปด้วย
จนกระทั่งในปี 2504 เมื่อเขาอายุได้ 17 ปี เขาได้เข้าไปทำงานเป็นเสมียนให้กับห้างหุ้นส่วนจำกัด แพนอินเตอร์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นซัปพลายเออร์ ให้กับโรงงานสุราบางยี่ขัน
โดยโรงงานสุราบางยี่ขันนี้เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของโชคชะตาที่ทำให้เขาได้เจอกับคุณจุล กาญจนลักษณ์ ยอดนักปรุงสุราชั้นเลิศของเมืองไทยในเวลานั้น ผู้ให้กำเนิดสุราแม่โขง และแสงโสม
ด้วยความที่คุณเจริญ เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน คุณจุลจึงรู้สึกถูกชะตากับคุณเจริญเป็นอย่างมาก
จึงได้แนะนำให้คุณเจริญ รู้จักกับคุณเถลิง เหล่าจินดา ผู้ที่กำลังจะมาเปลี่ยนชีวิตของคุณเจริญ อย่างที่คุณเจริญในตอนนั้นก็คงนึกไม่ถึง
คุณเถลิง เหล่าจินดา เป็นเจ้าสัวแห่งกลุ่มสุราทิพย์ และเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท สุรามหานคร ว่ากันว่า ถ้าไม่มีคุณเถลิง และคุณจุล ก็จะไม่มีเจ้าสัวเจริญ และอาณาจักร ThaiBev ดังเช่นทุกวันนี้
คุณเถลิง รู้สึกถูกชะตากับคุณเจริญ จึงชักชวนให้มาทำงานด้วยกัน และในที่สุดคุณเจริญ ก็กลายมาเป็นมือขวาของคุณเถลิง
และนอกจากการเข้ามาในวงการสุรา จะทำให้คุณเจริญ เจอผู้อุปถัมภ์ทั้ง 2 ท่าน ที่ทำให้เขากลายเป็นเศรษฐีแสนล้านแล้ว
เขายังพบเจอกับคู่ชีวิตของเขา คือ คุณวรรณา แซ่จิว ในระหว่างที่เขาต้องออกงานสังคม ตามคุณเถลิง ไปเจรจา พูดคุยกับนักธุรกิจ
โดยคุณวรรณา เป็นลูกสาวของเจ้าสัวกึ้งจู แซ่จิว ผู้กว้างขวางในวงการธุรกิจการเงิน และเป็นอดีตรองประธานกรรมการธนาคารมหานคร
และในปี 2518 ก็เป็นจุดเริ่มต้นชีวิตการเป็นเจ้าสัวของคุณเจริญ เพราะคุณเถลิง คุณจุล และคุณเจริญ ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท TCC Group ซึ่งคือตัวย่อภาษาอังกฤษของชื่อทั้ง 3 คน
และทั้ง 3 คนก็ใช้บริษัทนี้ สร้างอาณาจักรธุรกิจสุราที่ใหญ่ที่สุดในไทย โดยก้าวแรกของ TCC คือการเข้าซื้อบริษัท ธารน้ำทิพย์ ผู้ผลิตธาราวิสกี้
โดยในตอนนั้นบริษัท ธารน้ำทิพย์ กำลังจะล้มละลาย ทั้ง 3 คน จึงมองเห็นโอกาสในการใช้โรงงานสุราของธารน้ำทิพย์ ผลิตสุราชนิดพิเศษ จนเกิดเป็นสุราแบรนด์แสงโสม และหงส์ทองขึ้นมา
ต่อมาในปี 2526 รัฐบาลในสมัยนั้นเปิดประมูลโรงงานผลิตสุราในต่างจังหวัดทั้งหมด 12 แห่ง เพื่อให้เอกชนเข้ามาบริหาร
ผลปรากฏว่า กลุ่ม TCC ของคุณเจริญ ก็สามารถเข้าไปบริหารโรงงานทั้ง 12 แห่งได้สำเร็จ
และในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ที่คุณเถลิง ตัดสินใจวางมือจากธุรกิจสุรา และปล่อยให้คุณเจริญ ขึ้นมากุมบังเหียนกลุ่ม TCC แทนเขา
กลุ่ม TCC ภายใต้การบริหารของคุณเจริญ เริ่มมีการกระจายธุรกิจออกไปยังอุตสาหกรรมอื่น นอกเหนือจากธุรกิจสุราด้วย เช่น อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจการเงิน
และในปี 2534 กลุ่ม TCC ก็ร่วมทุนกับกลุ่ม Carlsberg ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ของโลกสัญชาติเดนมาร์ก ในการก่อสร้างโรงงานผลิตเบียร์ช้าง ที่อยุธยา
นับเป็นก้าวแรกของกลุ่ม TCC ในการเข้าสู่ธุรกิจเบียร์ ซึ่งตอนนั้นมีกลุ่มบุญรอดฯ เจ้าของเบียร์สิงห์ เป็นเจ้าตลาดอยู่ก่อนแล้ว
พอมาถึงปี 2546 คุณเจริญรวมกลุ่มธุรกิจสุรา และเบียร์ เข้ามาไว้ในบริษัทเดียวกัน ชื่อว่า ThaiBev
และนำบริษัทไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ ในปี 2549
ในช่วงหลังปี 2550 เป็นต้นไป ThaiBev ใช้กลยุทธ์ในการเข้าซื้อกิจการอื่น ค่อนข้างมาก จนคุณเจริญ ได้รับฉายาว่าเป็น “เจ้าพ่อแห่งการเทกโอเวอร์” ในที่สุด
ดีลการเข้าซื้อกิจการที่สร้างความฮือฮา ก็อย่างเช่น
- ดีลซื้อ OISHI แบรนด์เครื่องดื่มชาเขียว จากคุณตัน ภาสกรนที
- ดีลเข้าซื้อเสริมสุข อดีตตัวแทนผลิตและจัดจำหน่ายของเป๊ปซี่ในไทย ซึ่งต่อมามีความขัดแย้งกัน
จนคุณเจริญ อาศัยจังหวะเข้าไปเทกโอเวอร์ มาเป็นของตัวเอง และเริ่มต้นทำน้ำอัดลมของตัวเอง ชื่อว่า เอส โคล่า
- ดีลเข้าซื้อ F&N บริษัทสัญชาติสิงคโปร์ ผู้ได้รับสิทธิ์ขายสินค้าตรา Nestlé หนึ่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดีลนี้ใช้เงินกว่า 300,000 ล้านบาท
นอกจากนี้แล้ว F&N ยังมีธุรกิจเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ และอสังหาริมทรัพย์ เป็นของตัวเองอีกด้วย
- ปี 2562 คว้าสิทธิ์บริหารร้านสตาร์บัคส์ในประเทศไทย ร่วมกับกลุ่มทุนจากฮ่องกง
ผลจากการเข้าซื้อกิจการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตอนนี้ ThaiBev มีสินค้า 4 กลุ่มหลัก ที่สร้างรายได้มากกว่า 279,000 ล้านบาท ในปี 2566 ดังนี้..
1. ธุรกิจสุรา คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 43%
เช่น แม่โขง, หงส์ทอง, แสงโสม และอื่น ๆ
2. ธุรกิจเบียร์ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 43%
เช่น ช้าง, อาชา, ไซง่อน และอื่น ๆ
3. ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 7%
เช่น เอส โคล่า, น้ำดื่มคริสตัล, โออิชิ กรีนที และเครื่องดื่มในเครือ F&N
4. ธุรกิจร้านอาหาร คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 7%
เช่น โออิชิ, ชาบูชิ, Hyde & Seek, ศูนย์อาหาร Food Street และ KFC บางสาขาในไทย
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ในปี 2566 ThaiBev มีกำไรสุทธิ 27,434 ล้านบาท แต่มีกำไรจากธุรกิจสุรามากถึง 22,073 ล้านบาท
ขณะที่ธุรกิจเบียร์ ที่แม้จะมีสัดส่วนรายได้พอ ๆ กัน กลับสร้างกำไรให้ ThaiBev เพียง 2,358 ล้านบาท
แสดงให้เห็นว่าธุรกิจสุรา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเครือ ThaiBev ยังคงเป็นธุรกิจที่สร้างผลกำไรสูงที่สุดให้กับเครือ ThaiBev เสมอมา..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำ ให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
References