4C กลุ่มตระกูลมหาเศรษฐีไทย เจ้าของทรัพย์สินมูลค่า 3,000,000,000,000 บาท

4C กลุ่มตระกูลมหาเศรษฐีไทย เจ้าของทรัพย์สินมูลค่า 3,000,000,000,000 บาท

15 ก.ค. 2024
เราอาจจะรู้จักกลุ่มแชโบล ซึ่งเป็นเหล่ามหาเศรษฐีผู้มีอิทธิพล จากประเทศเกาหลีใต้ หรือกลุ่มเคเรตสึ ที่อยู่เบื้องหลังเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น 
แต่อันที่จริงแล้ว ประเทศไทยของเราก็มีกลุ่มคล้าย ๆ แบบนั้นเช่นเดียวกัน ซึ่งถึงแม้จะยังไม่มีชื่อเรียกเท่ ๆ แต่สินทรัพย์ที่ถือครองรวมกัน ก็ไม่แพ้กลุ่มทุนจากประเทศพัฒนาแล้วเหล่านั้นเลย  
เพราะกลุ่มคนเพียง 4 ตระกูลนี้ ก็ครอบครองทรัพย์สินมากถึง 3,000,000,000,000 บาทเอาไว้ (อ่านว่า 3 ล้านล้านบาท) คิดเป็น 16% ของ GDP ไทยทั้งประเทศ
MONEY LAB จะขอเรียกกลุ่มคนทั้ง 4 ตระกูล ในบทความสั้น ๆ ว่า “4C”
และถ้าคุณอยากรู้ว่า กลุ่มมหาเศรษฐีทั้ง 4 ตระกูลนี้ เป็นใครบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
C ที่ 1 คือ คุณเฉลิม อยู่วิทยา (Chalerm Yoovidhya) ทรัพย์สิน 1.32 ล้านล้านบาท
คุณเฉลิม อยู่วิทยา เป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของกระทิงแดง เขาเป็นลูกชายของคุณเฉลียว อยู่วิทยา ผู้ก่อตั้งกระทิงแดง
ปัจจุบันคุณเฉลิม อยู่วิทยา เป็นเจ้าของ 2 บริษัท คือ บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทหัวหอกหลักในการผลิต และจัดจำหน่ายกระทิงแดงในไทย
กับบริษัท Red Bull GmbH ซึ่งเป็นบริษัทหัวหอกหลักในการจัดจำหน่ายกระทิงแดงในตลาดต่างประเทศ โดยบริษัทนี้ครอบครัวอยู่วิทยา ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 51 
บริษัท Red Bull GmbH ถือว่าเป็นแหล่งขุมทรัพย์สำคัญของตระกูลอยู่วิทยา เพราะเมื่อปีที่แล้ว ทำรายได้มากถึง 417,249 ล้านบาทเลยทีเดียว 
ที่น่าสนใจก็คือ ถ้าเราลองเทียบรายได้ของ Red Bull GmbH กับรายได้ และอัตรากำไรสุทธิ ของ CBG และ OSP ซึ่งทำธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังเหมือนกัน
จะเห็นได้ว่าในปี 2566
CBG มีรายได้ 19,045 ล้านบาท กำไร 1,924 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 9.98%
OSP มีรายได้ 26,644 ล้านบาท กำไร 2,402 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 9.09%
เนื่องจาก Red Bull GmbH ไม่เปิดเผยตัวเลขกำไรสุทธิ เพราะฉะนั้น ถ้าเราสมมติให้อัตรากำไรสุทธิ เท่ากับทั้ง 2 บริษัทที่ประมาณ 9% และระดับ P/E ที่ 30 เท่า เหมือนทั้ง 2 บริษัท
Red Bull GmbH จะมีกำไรสุทธิประมาณ 37,500 ล้านบาท และมีมูลค่าบริษัทสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว
และหากครอบครัวอยู่วิทยาถือหุ้นในบริษัทนี้รวมกันมากถึง 51% ก็จะมีความมั่งคั่งจากบริษัทนี้บริษัทเดียวมากถึง 574,000 ล้านบาท
C ที่ 2 คือ ตระกูลเจียรวนนท์ (Chearavanont Family) ทรัพย์สิน 1.06 ล้านล้านบาท
ไม่น่าจะมีคนไทยคนไหน ไม่รู้จักอาณาจักรธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอย่าง CP อีกแล้ว
อาณาจักรธุรกิจของตระกูลเจียรวนนท์ ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจการเกษตร โทรคมนาคม ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจการเงิน
ความมั่งคั่งหลักของตระกูลเจียรวนนท์ ก็คือการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของไทยและฮ่องกง ไม่ว่าจะเป็น..
- CPF ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และอาหาร 
มูลค่าบริษัท 197,700 ล้านบาท กลุ่ม CP ถือหุ้นรวมกัน 50.05%
- CPALL ธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง เจ้าของร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven
มูลค่าบริษัท 496,000 ล้านบาท กลุ่ม CP ถือหุ้นรวมกัน 35.51%
- TRUE ธุรกิจโทรคมนาคม
มูลค่าบริษัท 305,700 ล้านบาท กลุ่ม CP ถือหุ้นรวมกัน 20.95%
- CPAXT เจ้าของธุรกิจค้าปลีก Lotus’s และธุรกิจค้าส่ง MAKRO
มูลค่าบริษัท 285,600 ล้านบาท กลุ่ม CP ถือหุ้นรวมกัน 84.73%
- Ping An Insurance บริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดในจีน
มูลค่าบริษัท 3,500,000 ล้านบาท กลุ่ม CP เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 2 ถือหุ้นรวมกัน 5.05% 
นอกจากนี้แล้วตระกูลเจียรวนนท์ ยังมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นอกตลาดหุ้นอย่าง Magnolia Quality Development Corporation หรือ MQDC เจ้าของโครงการ ICONSIAM และ True Digital Park อีกด้วย
จะเห็นได้ว่ากลุ่มธุรกิจของตระกูลเจียรวนนท์ ล้วนเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าหลักแสนล้าน ไปจนถึงหลักล้านล้านบาท ที่ส่วนใหญ่ก็ล้วนอยู่ในตลาดหุ้น
C ที่ 3 คือ คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี (Charoen Sirivadhanabhakdi) 
ทรัพย์สิน 3.68 แสนล้านบาท
คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นผู้นำตระกูลสิริวัฒนภักดี ผู้สร้างอาณาจักรธุรกิจด้วยตัวเองได้ใน Generation เดียว
แม้ว่าคุณเจริญ จะเป็นเจ้าของธุรกิจมากมาย ไม่ต่างอะไรจากตระกูลเจียรวนนท์ แต่ความมั่งคั่งหลักของเขามาจาก 3 ธุรกิจหลัก คือ
1. ธุรกิจสุรา ภายใต้บริษัท ThaiBev ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ มูลค่าบริษัท 299,000 ล้านบาท ตระกูลสิริวัฒนภักดี ถือหุ้นรวมกัน 67.86%
ที่น่าสนใจก็คือ ThaiBev เคยจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย แต่โดนคัดค้านไม่ให้เข้า เพราะ ThaiBev ทำธุรกิจสุรา ซึ่งขัดกับประเทศไทยที่เป็นเมืองพุทธ
2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
- AWC เจ้าของตึกสำนักงานเอ็มไพร์สาทร และเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ รวมถึงโครงการอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ
มูลค่าบริษัท 112,000 ล้านบาท ตระกูลสิริวัฒนภักดี ถือหุ้นรวมกัน 75.0%
- FPT เจ้าของโครงการสามย่านมิตรทาวน์
มูลค่าบริษัท 33,600 ล้านบาท ตระกูลสิริวัฒนภักดี ถือหุ้นรวมกัน 81.83%
และบริษัทนอกตลาดหุ้นอย่าง TCC Assets เจ้าของโครงการมิกซ์ยูส One Bangkok ที่มีมูลค่าโครงการกว่า 120,000 ล้านบาท
3. ธุรกิจค้าปลีก ภายใต้บริษัท BJC เจ้าของห้าง Big C ในไทย
มูลค่าบริษัท 84,000 ล้านบาท ตระกูลสิริวัฒนภักดี ถือหุ้นรวมกัน 74.42%
แม้แต่ละบริษัทของตระกูลสิริวัฒนภักดี ไม่ได้ใหญ่โตเท่าธุรกิจของตระกูลเจียรวนนท์
แต่ตระกูลสิริวัฒนภักดี ก็เลือกที่จะถือหุ้นในบริษัทของตัวเองในสัดส่วนที่สูงกว่าตระกูลเจียรวนนท์
ทำให้ตระกูลสิริวัฒนภักดี มีทรัพย์สินมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศได้ไม่ยากนัก
C ที่ 4 คือ ตระกูลจิราธิวัฒน์ (Chirathivat Family) ทรัพย์สิน 3.64 แสนล้านบาท
ตระกูลจิราธิวัฒน์ น่าจะเป็นหนึ่งในตระกูลนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนที่เก่าแก่ที่สุดตระกูลหนึ่งของเมืองไทย
ถ้าให้ลองย้อนไปที่จุดเริ่มต้นของตระกูลนี้ ก็น่าจะต้องย้อนไปไกลถึง 100 ปีที่แล้ว จากจุดเริ่มต้นจากร้านหนังสือบนถนนสี่พระยา สู่อาณาจักรศูนย์การค้าเซ็นทรัล โรงแรมเซ็นทารา และธุรกิจอื่น ๆ อีกมากมายในปัจจุบัน
ตระกูลจิราธิวัฒน์ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท 3 แห่งในตลาดหุ้นไทย คือ
- CPN เจ้าของศูนย์การค้าเครือเซ็นทรัล
มูลค่าบริษัท 246,800 ล้านบาท ตระกูลจิราธิวัฒน์ ถือหุ้นรวมกันประมาณ 38.0%
- CRC เจ้าของห้างค้าปลีก และค้าส่งในเครือเซ็นทรัล
มูลค่าบริษัท 177,900 ล้านบาท ตระกูลจิราธิวัฒน์ ถือหุ้นรวมกันประมาณ 50.3%
- CENTEL เจ้าของโรงแรมเครือเซ็นทารา และร้านอาหารในเครือเซ็นทรัล
มูลค่าบริษัท 53,300 ล้านบาท ตระกูลจิราธิวัฒน์ ถือหุ้นรวมกันประมาณ 48.0%
นอกจากนี้ตระกูลจิราธิวัฒน์ ยังมีบริษัทนอกตลาดหุ้นอย่าง บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของห้างหรูมากกว่า 40 แห่ง ทั่วยุโรปอีกด้วย
จะเห็นได้ว่า ความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของกลุ่มตระกูลมหาเศรษฐี 4C ของไทย ล้วนมีที่มาจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
บางที สิ่งนี้อาจจะเป็นสูตรสำเร็จในการสร้างความมั่งคั่งของเศรษฐีไทยก็ได้ คือ ขายสินค้าที่คนส่วนมากต้องใช้
แล้วพอปั้นธุรกิจให้โตเต็มที่แล้ว ก็นำเงินไปลงทุนต่อในต่างประเทศ หรือเริ่มธุรกิจใหม่ที่ยังไม่เคยทำ ตามรูปแบบการสร้างความมั่งคั่งของกลุ่ม 4C..
#ธุรกิจ
#หุ้นไทย
#เจ้าสัวไทย
References
- รายงานประจำปี 2566 ของแต่ละบริษัท
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.