
บทเรียนจาก มหาเศรษฐีญี่ปุ่น (อดีต) คนรวยสุดในโลก ที่ความมั่งคั่งหายไป 600,000 ล้านบาท
25 มี.ค. 2025
หลายคนอาจจะเคยเห็น การแข่งขันกันทำธุรกิจระหว่างพี่ต่างพ่อ น้องต่างแม่ หรือระหว่างลูกบุญธรรม กับลูกแท้ ๆ จากในซีรีส์ หรือในหนัง
ซึ่งก็มักจะจบลงด้วยชัยชนะของตัวละครที่คิดดี ทำดี และความพ่ายแพ้ของตัวละครที่เจ้าเล่ห์ ชอบเอาเปรียบคนอื่น แม้ตัวละครที่คิดดี ทำดี จะมีแต้มต่อในช่วงแรกที่น้อยกว่าก็ตาม
รู้ไหมว่า เรื่องราวแบบนี้ เคยเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริงมาแล้ว โดยเป็นเรื่องราวระหว่าง คุณ Yoshiaki Tsutsumi อดีตมหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่น ที่เคยดำรงตำแหน่งคนที่รวยที่สุดในโลก 7 ปีซ้อน คือตั้งแต่ปี 1987-1994
และคุณ Seiji Tsutsumi พี่ชายต่างแม่ของคุณ Yoshiaki ผู้ก่อตั้ง MUJI ร้านค้าปลีกของใช้เบ็ดเตล็ดชื่อดัง ที่คนไทยน่าจะรู้จักกันดี
เรียกได้ว่า ถ้าเรื่องราวนี้ถูกเอาไปสร้างเป็นหนัง ก็น่าจะเป็นหนังชีวิตที่น่าสนใจไม่น้อยเลย
แล้วเรื่องราวระหว่างพี่น้องคู่นี้เป็นอย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
คุณ Yoshiaki Tsutsumi เกิดในครอบครัวตระกูลนักธุรกิจใหญ่ของญี่ปุ่น คือตระกูล Tsutsumi เจ้าของบริษัท Seibu Railway
โดยมีผู้นำตระกูลคือคุณ Yasujiro Tsutsumi ซึ่งเป็นพ่อของคุณ Yoshiaki เอง คุณ Yasujiro เป็นผู้สร้างอาณาจักรธุรกิจของ Seibu Railway ให้แข็งแกร่ง
ด้วยการกว้านซื้อที่ดินมากมายในโตเกียว และตามทำเลดี ๆ ในราคาถูก ๆ จากตระกูลเก่าแก่ที่สูญเสียอำนาจ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง
หลังจากนั้นคุณ Yasujiro ก็นำที่ดินไปพัฒนา สร้างรางรถไฟ รีสอร์ต โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และสนามกอล์ฟ จนบริษัท Seibu Railway เป็นหนึ่งในบริษัทที่ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น และกลายเป็นคนที่ร่ำรวยที่สุดในญี่ปุ่น
มีคุณพ่อผู้ร่ำรวยขนาดนี้ ชีวิตของคุณ Yoshiaki น่าจะเป็นชีวิตที่หลายคนอิจฉา แต่จุดด่างพร้อยเดียวในชีวิตของเขา ก็มีอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นก็คือเขาเป็นลูกนอกสมรสของคุณ Yasujiro
เนื่องจากคุณ Yasujiro มีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสด้วยมากถึง 3 คน และมีภรรยาที่เกิดขึ้นอย่างลับ ๆ อีกเป็นจำนวนมาก และคุณ Yoshiaki เอง ก็เป็นหนึ่งในทายาทที่เกิดจากภรรยาลับคนหนึ่งเท่านั้น
จนกระทั่งคุณ Yoshiaki อายุได้ 7 ขวบ เขาก็ได้เจอกับคู่แข่งตลอดกาลของเขา นั่นคือคุณ Seiji ลูกชายคนโตของคุณ Yasujiro ที่เกิดกับภรรยาคนที่ 3 ที่ชื่อคุณ Misao
โดยคุณ Seiji มีศักดิ์เป็นพี่ชายต่างแม่ของคุณ Yoshiaki เพราะตอนนั้นคุณ Seiji อายุได้ 14 ปีแล้ว
ว่ากันว่า ตั้งแต่วันแรกที่คุณ Yoshiaki และคุณ Seiji ได้เจอกัน ทั้ง 2 คนก็ดูจะไม่ชอบหน้าซึ่งกันและกัน จนนำมาสู่การเป็นคู่แข่งทางธุรกิจกันในอนาคต ถึงแม้จะอยู่ในตระกูลเดียวกันก็ตาม
แต่ถึงแม้คุณ Yoshiaki จะเป็นลูกนอกสมรส เขาก็ได้โอกาสเข้าไปช่วยงานพ่อของเขาอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมแล้ว โดยเริ่มจากงานง่าย ๆ อย่างการเดินถือเอกสารตามพ่อ
ฝั่งผู้เป็นพ่ออย่างคุณ Yasujiro เอง ก็เลี้ยงดูลูกชายนอกสมรสอย่างคุณ Yoshiaki ด้วยความเข้มงวด ราวกับว่าจะแต่งตั้งให้เขาขึ้นมากุมบังเหียนธุรกิจทั้งหมดในอนาคต
เมื่อเรียบจบ คุณ Yoshiaki ก็เข้ามาทำงานในบริษัท Kokudo Corporation ซึ่งเป็นบริษัทอีกแห่ง ที่พ่อของเขาเป็นประธานบริษัทอยู่
ส่วนคุณ Seiji ก็เข้าไปทำงานเป็นเลขาฯ ให้กับคุณ Yasujiro ใน Seibu Railway ซึ่งเป็นบริษัทแม่
ตอนนั้นหลายฝ่ายต่างคาดการณ์กันว่า คุณ Seiji น่าจะกลายมาเป็นผู้สืบทอดทางธุรกิจในอนาคต จากตำแหน่งและสถานะทางสังคมที่เหนือกว่าคุณ Yoshiaki อย่างชัดเจน
แต่ความเป็นจริงกลับไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะหลังจากที่คุณ Yasujiro จากโลกนี้ไปในปี 1964
ผู้ที่มาสืบทอดธุรกิจรางรถไฟ และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของครอบครัวกลับเป็นคุณ Yoshiaki ซึ่งขณะนั้นอายุได้เพียง 30 ปีเท่านั้น
ส่วนคุณ Seiji ได้รับเพียงแค่ห้างสรรพสินค้าที่ชื่อ Seibu เพียงแห่งเดียว
นับตั้งแต่วันที่มีการประกาศพินัยกรรม แบ่งสมบัติกัน ทั้งคุณ Yoshiaki และคุณ Seiji ต่างขยายอาณาจักรธุรกิจแข่งกัน และแยกบริษัทออกจากกันอย่างชัดเจน
คุณ Yoshiaki เดินหน้าบริหารบริษัทใหญ่อย่าง Seibu Railway ด้วยการต่อยอดที่ดินที่บริษัทมี พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายอย่าง เช่น โรงแรม สกีรีสอร์ต และรางรถไฟ
จนกระทั่งในปี 1987 นิตยสาร Forbes จัดอันดับให้เขา กลายเป็นผู้มีความมั่งคั่งมากที่สุดของโลก ติดต่อกัน 7 ปี จนถึงปี 1994 ด้วยความมั่งคั่งที่ถูกประเมินไว้คร่าว ๆ ว่าอยู่ที่ราว 636,000 ล้านบาท
แต่แล้วความมั่งคั่งของคุณ Yoshiaki ก็ค่อย ๆ ลดลง จากเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เข้าสู่ยุคทศวรรษที่สาบสูญ จากเหตุการณ์ฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น
มิหนำซ้ำ เขายังถูกตำรวจจับในข้อหาซื้อขายหุ้น โดยใช้ข้อมูลวงใน และปกปิดการถือหุ้นในสัดส่วนที่เกินกว่ากฎของตลาดหุ้นญี่ปุ่นกำหนดไว้
เนื่องจากเขาใช้บริษัทนอมินี ในการเข้าถือหุ้นของบริษัท Seibu Railway มากถึง 88% ซึ่งเกินกว่าที่กฎของตลาดหุ้นญี่ปุ่นกำหนดไว้ว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ห้ามถือหุ้นในบริษัทเกิน 80% มิฉะนั้นจะต้องออกจากตลาดหุ้นไป
เรื่องอื้อฉาวในครั้งนี้ ทำให้เขาถูกตัดสินโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน และถูกปรับเงินเป็นจำนวน 1,000,000 บาท
แค่นั้นยังไม่พอ บริษัท Seibu Railway ของเขาก็ต้องถูกถอดออกจากตลาดหุ้น และเขาก็ถูกบริษัทตัวเองฟ้องร้อง เรียกค่าเสียหายมากกว่า 5,800 ล้านบาทอีกด้วย
แต่ถึงแม้จะเคยถูกจัดอันดับว่าเป็นคนที่รวยที่สุดในโลก แต่ความมั่งคั่งอันมหาศาล ส่วนใหญ่ก็อยู่ในสินทรัพย์อื่น ๆ รวมไปถึงหุ้น ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมีเงินสดจำนวนมากตามไปด้วย
ทำให้เขาต้องยอมขายหุ้นของบริษัทตัวเองออกไป เพื่อชดใช้ค่าเสียหาย จนทุกวันนี้เหลือความมั่งคั่งอยู่แค่เพียง 17,000 ล้านบาท
ส่วนคุณ Seiji แม้จะได้รับสืบทอดแค่ธุรกิจเล็ก ๆ อย่างห้างสรรพสินค้า Seibu แต่คุณ Seiji ก็ปลุกปั้นให้กลายเป็นเครือข่ายห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นได้สำเร็จ ในปี 1990
นอกจากนี้เขายังก่อตั้งบริษัทอีกแห่ง เพื่อขยายเข้าสู่ธุรกิจห้างสรรพสินค้า ที่จับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อน้อยกว่าฐานลูกค้าเดิมของเขา ชื่อว่าบริษัท The Seiyu, Ltd.
จากนั้นก็ขยายธุรกิจเข้าสู่อุตสาหกรรมการเงิน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และสันทนาการ จนมีบริษัทในเครือมากกว่า 100 บริษัท
คุณ Seiji จึงรวบรวมบริษัททั้งหมด เข้ามาอยู่ภายใต้บริษัทแม่ที่ชื่อว่า Saison Group Conglomerate
บริษัทแห่งนี้เคยสร้างความฮือฮาให้กับวงการโรงแรมทั่วโลกมาแล้ว เพราะในปี 1988 คุณ Seiji นำบริษัทนี้เข้าซื้อ Inter-Continental Hotel Group เชนโรงแรมหรูระดับโลก
และนอกจากคุณ Seiji จะเป็นผู้ก่อตั้ง MUJI ร้านค้าปลีกของใช้เบ็ดเตล็ด ที่คนไทยรู้จักกันดีแล้ว เขายังเป็นผู้พลิกฟื้นร้านอาหาร Yoshinoya ให้รอดพ้นจากภาวะล้มละลาย
ทำให้แม้ในช่วงแรกความมั่งคั่งของคุณ Seiji จะน้อยกว่าคุณ Yoshiaki อย่างเทียบไม่ติด แต่ในตอนสุดท้าย ความมั่งคั่งของคุณ Seiji กลับมีมากกว่า
เพราะเขาสามารถรักษาความมั่งคั่งของตัวเองไว้ได้ตลอดมา จนกระทั่งในวันที่เขาจากไป ความมั่งคั่งที่เขามีนั้น ก็อยู่ที่ประมาณ 60,000 ล้านบาท
ในขณะที่น้องชายต่างแม่ของเขาอย่างคุณ Yoshiaki กลับสูญเสียความมั่งคั่งไปกว่า 619,000 ล้านบาท และแทบไม่มีทางที่จะกลับไปยิ่งใหญ่เหมือนเดิมได้อีกแล้ว
เรื่องราวของ 2 เศรษฐีนี้เอง ก็เป็นกรณีศึกษาที่ทำให้เราได้กลับมานั่งคิดทบทวนกันว่า การรักษาความมั่งคั่ง ไว้ให้อยู่กับเราไปได้ตลอดรอดฝั่ง อาจจะสำคัญพอ ๆ กับการสร้างความมั่งคั่งก็ได้
เพราะเมื่อไรก็ตามที่เราเลือกที่จะสร้างความมั่งคั่ง โดยการทำผิดกฎหมาย สิ่งที่เราสร้างมาทั้งหมด ก็อาจพังทลายลงไปได้
แต่หากเรายึดมั่นทำในสิ่งที่ถูกต้อง แม้อาจไม่ได้ร่ำรวยมากเท่าคนอื่น แต่ความมั่งคั่งจะยังคงอยู่กับเราไปได้ตลอด เหมือนที่เกิดขึ้นกับคุณ Seiji นั่นเอง..
#ธุรกิจ
#ประวัติธุรกิจ
#เศรษฐีญี่ปุ่น
References