บทเรียนจาก Buffett เห็นอะไร ในบริษัท Moody’s ถึงถือหุ้นนี้ ได้นานกว่า 24 ปี

บทเรียนจาก Buffett เห็นอะไร ในบริษัท Moody’s ถึงถือหุ้นนี้ ได้นานกว่า 24 ปี

12 ก.ย. 2024
“ถือจนลูกบวช” คงเป็นคำที่ไม่เกินจริงนัก สำหรับหุ้นของบริษัท Moody’s ที่คุณ Warren Buffett เข้าซื้อมาตั้งแต่ปี 2000 
เพราะถ้าหากมีเด็กน้อยคนหนึ่งเกิดขึ้นมาในวันที่คุณ Warren Buffett เข้าซื้อหุ้น Moody’s ป่านนี้เด็กคนนั้นก็เติบโตจนเป็นหนุ่มวัยทำงานแล้ว
และรู้หรือไม่ว่า ถึงแม้หุ้นตัวนี้จะมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 3.8% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด แต่มันกลับเป็นหนึ่งในการลงทุนที่ดีที่สุด ของคุณ Warren Buffett 
ด้วยอัตราผลตอบแทนรวมปันผลที่สูงถึง 4,400% เลยทีเดียว.. 
และถ้าหากสงสัยว่าหุ้น Moody’s ทำธุรกิจอะไร ถึงกลายเป็นหนึ่งในหุ้นลูกรัก ที่คุณ Warren Buffett ถือมาได้ยาวนานขนาดนี้ ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
บริษัท Moody’s ยืนหยัดมาอย่างยาวนาน เป็นเวลากว่า 115 ปี ด้วยการทำแค่ 2 ธุรกิจหลัก 
ธุรกิจแรกคือ ธุรกิจที่หากินกับความเชื่อมั่น นั่นก็คือการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือ Credit Rating ของหุ้นกู้บริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการออกหุ้นกู้เพื่อกู้เงินจากนักลงทุน 
ส่วนอีกธุรกิจหนึ่งคือ บริการวิเคราะห์ข้อมูล ให้กับบริษัท และสถาบันการเงินต่าง ๆ เพราะ Moody’s เองก็มีข้อมูลของธุรกิจจำนวนมากอยู่ในมือ 
แต่เป็นเวลานานถึง 38 ปี ที่ Moody’s ได้ไปอยู่ในมือของผู้ให้บริการข้อมูลทางธุรกิจระดับโลก อย่างบริษัท Dun & Bradstreet หรือ D&B  
แต่ด้วยความที่ Moody’s แทบจะเป็นตัวแบกของบริษัท ทำให้ผู้ถือหุ้นของ D&B เริ่มเรียกร้องให้มีการแยกบริษัท Moody’s ออกมาเข้าตลาดหุ้น หรือที่เรียกว่า Spin-Off เพื่อปลดล็อกมูลค่าบริษัท 
จนในที่สุดบริษัท D&B ตัดสินใจ Spin-Off บริษัท Moody’s ออกมา IPO เข้าตลาดหุ้นเมื่อปี 2000  
และหนึ่งในนักลงทุนที่เข้าซื้อหุ้นของบริษัท Moody’s ตั้งแต่วันแรกที่ IPO ก็คือคุณ Warren Buffett..
ถึงตรงนี้เราก็คงจะสงสัยกันแล้วว่า หุ้นบริษัทที่ทำธุรกิจดูเข้าใจยากแบบนี้ ไปถูกตาต้องใจอะไรคุณ Warren Buffett เข้า
เราจึงต้องแวะไปพูดถึงอีกหนึ่งประเภทของป้อมปราการทางธุรกิจ หรือ Moat อย่าง “ต้นทุนในการเปลี่ยนย้าย (Switching Cost)”
คุณเคยรู้สึกไม่อยากกินอาหารตามสั่งร้านใหม่ แม้มีหลายร้านถูกกว่า และอาจจะรสชาติดีกว่า ในละแวกใกล้เคียงกัน 
เพียงแต่ว่าตัวคุณนั้น ไม่อยากจะเสี่ยงดวง ว่าร้านอาหารเหล่านั้น จะรสชาติถูกปากไหม 
ถ้าหากร้านตามสั่งเจ้าประจำทำให้คุณรู้สึกแบบนั้นได้ นั่นก็แปลว่าร้านแห่งนี้มี Switching Cost 
เพราะคำว่า Cost ใน Switching Cost ไม่ได้หมายถึงแค่ต้นทุนที่เป็นตัวเงินเท่านั้น  
แต่ยังรวมไปถึงต้นทุนในทางจิตวิทยา ที่ไม่สามารถประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้อีกด้วย อย่างเช่น ความรู้สึกยุ่งยากในการเปลี่ยน หรือแม้แต่ความขี้เกียจที่จะเปลี่ยนก็เช่นเดียวกัน
แล้ว Moody’s มี Switching Cost ที่สูงได้อย่างไร ? 
บริษัท Moody’s และคู่แข่งอย่าง S&P Global มีส่วนแบ่งบริษัทจัดอันดับ Credit Rating ในตลาดโลก เสมอกันอยู่ที่เจ้าละ 40% มาเนิ่นนาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทั้ง 2 เจ้าแทบจะแย่งชิงลูกค้าจากอีกฝ่ายไม่ได้เลย
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า แม้จะเป็นบริษัทจัดอันดับ Credit Rating เหมือนกัน แต่วิธีการประเมินและข้อมูลของบริษัทที่จะใช้ก็แตกต่างกัน 
นั่นจึงทำให้ ถ้าหากลูกค้าของ Moody’s เปลี่ยนไปใช้บริการของ S&P Global ก็มีความเสี่ยงที่อันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทตัวเอง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ 
ในกรณีที่แย่ที่สุดก็คือ ถ้าหากทาง S&P Global เกิดจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทนั้น ต่ำกว่าที่ Moody’s เคยให้ขึ้นมา ความเชื่อมั่นของทั้งนักลงทุน และเจ้าหนี้ต่าง ๆ ที่กำลังถือหุ้นกู้ของบริษัทอยู่ คงลดลงมหาศาล 
แต่นอกจากเรื่อง Switching Cost แล้ว สิ่งที่คุณ Warren Buffett น่าจะมองเห็นในตัวของ Moody’s ก็มีอีก 3 อย่าง 
1. รายใหม่เข้ามาแข่งได้ยาก
การจะเป็นบริษัทผู้จัดอันดับ Credit Rating ไม่ใช่ว่าใครก็จะเป็นได้ เพราะต้องผ่านทั้งกฎระเบียบอันแสนยุ่งยาก แถมยังต้องสั่งสมความเชื่อมั่นมานานหลาย 10 ปี ก่อนที่จะไปประเมินความน่าเชื่อถือให้กับบริษัทอื่น ๆ ได้
และต่อให้มีผู้เล่นรายใหม่ ๆ เข้ามาในตลาด ก็อาจจะไม่สามารถดึงลูกค้าไปจาก Moody’s และอีก 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง S&P Global และ Fitch ได้ 
เพราะถ้าบริษัทไหนเปลี่ยนไปใช้บริษัทจัดอันดับ Credit Rating หน้าใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก ความเชื่อมั่นในสายตานักลงทุน และเจ้าหนี้ของบริษัทนั้น ก็คงจะลดลงมากเป็นแน่
2. บริการของ Moody’s คือสิ่งที่จำเป็นต้องขายแพง
คุณ Warren Buffett และคู่หูผู้ล่วงลับ อย่างคุณ Charlie Munger เคยตอบคำถามของนักศึกษาท่านหนึ่ง เมื่อตอนไปบรรยายที่มหาวิทยาลัย Harvard ว่า 
Moody’s นั้นสามารถคิดค่าบริการสูง ๆ จากลูกค้าที่มาขอให้จัดอันดับหุ้นกู้ได้ ก็เป็นเพราะผู้คนมองว่า ค่าบริการที่สูงนั้น เป็นการสะท้อนถึงความน่าเชื่อถือของ Moody’s  
เหมือนกับที่มหาวิทยาลัย Harvard มีค่าเทอมสุดแสนแพง แต่ผู้คนก็ยังยอมที่จะจ่ายเพื่อให้ได้เข้ามาเรียน นั่นก็เป็นเพราะว่า ผู้คนมองว่าค่าเทอมแสนแพงนั้น เป็นการสะท้อนคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย Harvard 
เพราะถ้าลองให้ทางมหาวิทยาลัยลดค่าเทอมลง จำนวนนักศึกษาเข้าใหม่คงจะลดลง แทนที่จะมากขึ้น เนื่องจากผู้คนจะมองได้ว่า 
คุณภาพของมหาวิทยาลัย Harvard อาจจะลดลงตามค่าเทอมหรือไม่ และทางมหาวิทยาลัยกำลังมีปัญหาอะไรหรือเปล่า
เช่นเดียวกันนี้เอง Moody’s จึงไม่จำเป็นต้องลดค่าบริการลงแต่อย่างใด เพราะแทนที่จะเป็นผลดีว่ามีลูกค้ามากขึ้น จะกลับกลายเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของตัว Moody’s เอง 
3. มีธุรกิจหลักที่เติบโตได้อย่างมั่นคง 
รายได้ธุรกิจจัดอันดับ Credit Rating หุ้นกู้ ค่อนข้างขึ้นอยู่กับวัฏจักรเศรษฐกิจ เพราะบริษัทส่วนใหญ่จะออกหุ้นกู้ใหม่กันมาก ในช่วงดอกเบี้ยต่ำ
ถ้ามีแค่นี้ Moody’s ก็คงเป็นหุ้นวัฏจักรที่คุณ Warren Buffett ไม่น่าจะถือมานานได้ขนาดนี้ 
แต่อย่าลืมว่า Moody’s ยังมีอีกหนึ่งธุรกิจหลักคือ บริการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งยอดขายไม่ได้ขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ 
แถมถ้าลูกค้าซื้อบริการวิเคราะห์ข้อมูลไป ก็ต้องจ่ายเงินเป็นแบบ Subscription ไม่ใช่จ่ายเงินเป็นครั้ง ๆ เหมือนการจัดอันดับหุ้นกู้ ทำให้กระแสรายได้ของ Moody’s ผันผวนน้อยลง
โดยสัดส่วนรายได้ของ Moody’s ในปัจจุบันนี้ จะแบ่งเป็น 
- บริการวิเคราะห์ข้อมูล 52%
- บริการจัดอันดับ Credit Rating 48% 
จะเห็นได้ว่า แม้ทุกวันนี้บริษัท Moody’s จะยังเป็นยักษ์ใหญ่ด้านการจัดอันดับ Credit Rating อยู่ แต่ในวันนี้รายได้จากบริการวิเคราะห์ข้อมูล เริ่มแซงรายได้จากการจัดอันดับ Credit Rating แล้ว
ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้เอง เราก็คงเข้าใจแล้วว่า ทำไมคุณ Warren Buffett ถึงเข้าซื้อ Moody’s ตั้งแต่วันแรกที่ IPO และถือมาได้จนถึงปัจจุบันนี้ 
และจากเรื่องราวนี้เอง เราก็สามารถสรุปบทเรียนได้ว่า 
การทำความเข้าใจลักษณะธุรกิจ และการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้าหากเราไม่ได้เข้าใจลักษณะธุรกิจของ Moody’s 
เราจะไม่รู้เลยว่า ธุรกิจอย่าง Moody’s นั้น มีปราการอย่าง Switching Cost สูง และยังเป็นสินค้าและบริการไม่กี่อย่างบนโลก ที่ถ้าหากลดราคา จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี
เพราะฉะนั้น ถ้าหากในวันหนึ่งเราสามารถหาบริษัทที่มีคุณภาพดีขนาดนี้  
เราก็คงลงทุนอย่างสบายใจ และถือหุ้นนานจนลูกบวชได้ ไม่ต่างกับคุณ Warren Buffett ที่ถือหุ้น Moody’s กว่า 24 ปี นั่นเอง..  
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#บทเรียนจากBuffett
References
-Warren Buffett: Moat of Moody's & Harvard Business School | BRK 2000【C:W.B Ep.187】
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.