บทเรียนจาก Buffett ทำไมต้องเสียเงิน 1,700,000 ล้าน เพื่อซื้อหุ้นรถไฟ

บทเรียนจาก Buffett ทำไมต้องเสียเงิน 1,700,000 ล้าน เพื่อซื้อหุ้นรถไฟ

30 ก.ค. 2024
ภาพจำของหุ้นที่คุณ Warren Buffett ถือ สำหรับใครหลาย ๆ คน ก็คงหนีไม่พ้น Apple ผู้ผลิต iPhone และ Coca-Cola แบรนด์น้ำอัดลมที่ครองโลก 
แต่อันที่จริงแล้วก็มีหุ้นอีกตัวหนึ่ง ที่ผลิตความมั่งคั่งมหาศาลให้กับคุณ Warren Buffett แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการจ่ายเงินถึง 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2010 (ประมาณ 1.7 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน) 
จนทำให้การซื้อหุ้นในครั้งนี้ กลายเป็นดีลการเข้าซื้อหุ้นที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Berkshire Hathaway ณ ตอนนั้น เลยทีเดียว
ซึ่งหุ้นตัวนั้น ก็ทำธุรกิจที่สุดแสนจะน่าเบื่ออย่าง “ธุรกิจรถไฟ” ที่ให้บริการโดยบริษัท Burlington Northern and Santa Fe Railway หรือ BNSF 
แล้วคุณ Warren Buffett มองเห็นอะไรในหุ้นรถไฟ จนยอมทุ่มเงินอย่างบ้าคลั่งขนาดนี้ ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ในประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ จะดูแลทั้งรถไฟที่ขนส่งผู้โดยสาร และรถไฟขนส่งสินค้า 
แต่สำหรับสหรัฐอเมริกาแล้ว ภาครัฐจะดูแลเพียงแค่รถไฟขนส่งผู้โดยสารเท่านั้น แต่รถไฟขนส่งสินค้า จะดำเนินการโดยเหล่าเอกชน 
นั่นจึงทำให้เกิดบริษัทเดินรถไฟจำนวนมากขึ้นมาทั่วสหรัฐอเมริกา จนกลายเป็นกระดูกสันหลังให้กับการสร้างประเทศ และเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา 
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่มีบริษัทไหนจะยิ่งใหญ่ไปกว่า BNSF 
เพราะบริษัทแห่งนี้มีเครือข่ายรางรถไฟยาวรวมกันกว่า 52,300 กิโลเมตร ครอบคลุมกว่า 28 รัฐทั่วสหรัฐอเมริกา และยังเชื่อมต่อกับประเทศแคนาดาอีกด้วย 
ส่วนโมเดลธุรกิจก็ตรงไปตรงมา นั่นก็คือ BNSF จะเก็บค่าขนส่งสินค้า จากบริษัทต่าง ๆ ที่ขนของผ่านรถไฟของทางบริษัท
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจรถไฟ ก็ถูกมองข้ามโดยเหล่านักลงทุน รวมถึงนักวิเคราะห์ต่าง ๆ ไปนานมากแล้ว เพราะธุรกิจรางรถไฟนั้น ดูมีศักยภาพในการเติบโตที่น้อยมาก 
อีกทั้งยังถูกช่องทางการขนส่งอื่น ๆ เช่น เครื่องบิน หรือรถบรรทุก เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งรายได้อีกด้วย 
นั่นจึงทำให้ ตอนที่คุณ Warren Buffett เริ่มเข้าถือหุ้นของ BNSF ในสัดส่วน 22.6% เมื่อปี 2009 ผู้คนต่างก็คิดว่าเขาเสียสติไปแล้ว 
เพราะอย่าลืมว่าในช่วงปี 2009 คือช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา กำลังตกต่ำหลังวิกฤติ Subprime ซึ่งก็ทำให้ความต้องการจับจ่ายใช้สอยของผู้คนลดลง และส่งผลให้ธุรกิจรถไฟขนส่งสินค้า ซบเซาลงด้วยเช่นกัน 
อย่างไรก็ตาม คุณ Warren Buffett ก็ทำให้ผู้คนงุนงงเข้าไปอีก เพราะเขาตัดสินใจกว้านซื้อหุ้นอีก 77.4% ที่เหลือในปี 2010 แล้วเอาบริษัทออกจากตลาดหุ้นไปเลย ด้วยเงิน 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังที่กล่าวไปตอนต้น
แถมราคาที่เขาจ่ายเพื่อซื้อหุ้น BNSF ก็สูงกว่าตลาดถึง 30% อีกต่างหาก แต่ผู้คนก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่า คุณ Warren Buffett จะทุ่มเงินซื้อกิจการน่าเบื่อ ๆ แบบนี้ทำไม ทั้งที่ก็มีโอกาสการลงทุนอื่น ๆ อีกมาก
ถ้าอ่านถึงแค่ตรงนี้ เราก็อาจจะเห็นด้วยกับคนส่วนใหญ่ ว่าคุณ Warren Buffett ไม่น่ามาเสียผู้เสียคน ด้วยการนำเงินหลักล้านล้านบาท มาเผาทิ้งกับธุรกิจที่ดูไม่มีทีท่าว่าจะเติบโต
อย่างไรก็ตาม การลงทุนที่คุณ Warren Buffett เรียกว่าเป็นการ “เดิมพันหมดหน้าตัก กับชะตากรรมของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา” นี้ ไม่ใช่การลงทุนอย่างบ้าคลั่ง เหมือนที่หลายคนเข้าใจ 
เพราะธุรกิจแบบ BNSF นั้น มีป้อมปราการ หรือ Moat ที่เรียกว่า “ขนาดมีประสิทธิภาพ (Efficient Scale)” 
โดยคำว่า ขนาดมีประสิทธิภาพ หมายความว่า ขนาดของบริษัทนั้นใหญ่มากพอที่จะครอบคลุมตลาด จนทำให้คู่แข่งรายใหม่ ๆ ไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้ หรือเข้ามาแข่งขันไปก็ไม่คุ้มค่า
ยกตัวอย่างใกล้ ๆ ก็เช่น บริษัท AOT เจ้าของสนามบินแทบจะทั้งหมดในไทย ที่ถ้าใครจะแข่งขันได้อย่างสูสี 
ก็คงต้องลงทุนสร้างสนามบินที่ใหญ่ และดีกว่า สนามบินสุวรรณภูมิ หรือสนามบินดอนเมืองเท่านั้น ทำให้หลายปีที่ผ่านมา AOT ก็อยู่แบบไร้คู่แข่งมาตลอด เพราะคงไม่มีใครที่กล้าพอที่จะเสียเงินลงทุนมากขนาดนั้น
BNSF ของคุณ Warren Buffett ก็เช่นกัน เพราะก็คงไม่มีใครในสหรัฐอเมริกา ที่จะมาสร้างเครือข่ายรางรถไฟที่ยาว และครอบคลุมขนาดนั้น เพื่อแข่งกับ BNSF อีกแล้ว 
แต่นอกจากเรื่องของ Moat แล้ว ยังมีอีก 3 สิ่งที่ทำให้คุณ Warren Buffett สนใจ BNSF นั่นก็คือ 
- มี Economies of Scale
ถ้าหารต้นทุนในการขนส่งสินค้าต่อหน่วยออกมา การขนส่งผ่านทางรถไฟ ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในวิธีขนส่งสินค้าที่ถูกที่สุดแล้ว เพราะรถไฟนั้น สามารถบรรทุกของได้เยอะกว่ารถบรรทุกมาก 
อีกทั้งการที่ BNSF มีเครือข่ายรถไฟอยู่ใน 28 รัฐทั่วสหรัฐอเมริกา ก็ทำให้ในแต่ละวัน รวมแล้วบริษัท BNSF ก็จะสามารถขนของได้จำนวนมหาศาล จนกดต้นทุนขนส่งเฉลี่ยให้ต่ำลงไปอีก 
- มีอำนาจในการขึ้นราคา
การขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว สำหรับประเทศอันกว้างใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา 
และด้วยความที่เครือข่ายรถไฟของ BNSF ครอบคลุมแทบจะครึ่งประเทศของสหรัฐอเมริกา ทำให้บริษัทมีอำนาจต่อรอง ที่จะทำให้สามารถขึ้นราคาได้ ถ้าหากต้นทุนอย่างเช่น น้ำมัน ราคาขึ้น
- มีทีมบริหารที่ดี 
ในสหรัฐอเมริกาเอง ไม่ได้มีเพียงแค่ BNSF เจ้าเดียวที่ทำกิจการรถไฟขนส่งสินค้า แต่สิ่งที่ทำให้คุณ Warren Buffett เลือก BNSF ก็เพราะว่าทางบริษัทมีทีมบริหารที่ดี 
เพราะธุรกิจแบบนี้ แม้จะเหมือนเสือนอนกิน แต่ถ้ามีผู้บริหารที่ไม่ตั้งใจทำงาน และใช้เงินทุนอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้บริษัทไม่สามารถเติบโตต่อไปได้ในอนาคต 
ผลตอบแทนจากการลงทุนใน BNSF นั้น เป็นสิ่งยืนยันว่าคุณ Warren Buffett คิดถูก 
เพราะในช่วงปี 2020 ได้มีการคาดการณ์ว่าบริษัท BNSF น่าจะมีมูลค่ากิจการประมาณ 7 ล้านล้านบาท เลยทีเดียว 
และนอกจากมูลค่ากิจการที่เพิ่มขึ้น จนแซงหน้าเงินลงทุนที่คุณ Warren Buffett จ่ายไปแล้ว 
บริษัท BNSF ยังทำหน้าที่เป็นหุ้นห่านทองคำของ Berkshire Hathaway ด้วยการจ่ายเงินปันผล ตั้งแต่ปี 2010 มาจนถึงปี 2022 รวมแล้วกว่า 1.8 ล้านล้านบาท 
จากเรื่องราวทั้งหมดนี้เอง เราก็สามารถสรุปบทเรียนได้ว่า 
บางครั้งเราต้องมองให้ทะลุฉากหน้าอันแสนน่าเบื่อของบางธุรกิจ เพื่อมองเห็นความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริงของธุรกิจนั้น 
เหมือนอย่างเช่น ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ที่ภายนอกจะดูน่าเบื่อ แต่อันที่จริงแล้วก็มีปราการแข็งแกร่ง ในแบบที่ธุรกิจอื่น ๆ ไม่สามารถมีได้
อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่า การลงทุนในธุรกิจแบบนี้นั้น มักจะเป็นในรูปของการเฟ้นหาหุ้นห่านทองคำ มากกว่า “หุ้นเปลี่ยนชีวิต” ที่ราคาจะวิ่งขึ้นไปหลายร้อยเด้ง  
และต้องไม่ลืมด้วยว่า ธุรกิจที่เราไปลงทุนนั้น ต้องมีทีมบริหารที่ดี เพราะถึงแม้จะเป็นธุรกิจผูกขาด ที่ไม่มีคู่แข่ง
แต่ถ้าผู้บริหารไม่ตั้งใจทำธุรกิจเสียอย่าง ก็ไม่มีทางที่จะสร้างผลตอบแทนมหาศาล กลับคืนมาให้กับผู้ถือหุ้นอย่างเราได้.. 
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#บทเรียนจากBuffett
References
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.