บริหารความมั่งคั่ง ของประเทศอย่างไร ไม่ให้ล้มละลาย บทเรียนจาก 2 ประเทศเศรษฐีน้ำมัน

บริหารความมั่งคั่ง ของประเทศอย่างไร ไม่ให้ล้มละลาย บทเรียนจาก 2 ประเทศเศรษฐีน้ำมัน

13 พ.ย. 2024
คุณอยากเกิดมามีเงิน 10 ล้านบาท หรือเป็นหนี้ 5 ล้านบาท ? 
คำถามนี้ดูเป็นเรื่องสิ้นคิด เพราะถ้าเลือกได้ ใคร ๆ ก็อยากจะเกิดมามีเงิน 10 ล้านบาท มากกว่าจะเริ่มต้นติดลบด้วยการเป็นหนี้อยู่แล้ว
แต่นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น กับประเทศผู้ร่ำรวยทรัพยากรน้ำมัน อย่างนอร์เวย์ และเวเนซุเอลา 
เพราะในขณะที่ประชาชนชาวนอร์เวย์ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยชรา มีความมั่งคั่งที่รัฐสร้างให้ เฉลี่ยแล้วตกคนละ 10 ล้านบาท 
แต่ชาวเวเนซุเอลาผู้น่าสงสาร ที่เลือกเกิดไม่ได้ กลับมีหนี้จากภาครัฐให้ต้องร่วมกันชดใช้ ถึงคนละเกือบ 5 ล้านบาท 
แล้ว 2 ประเทศที่ร่ำรวยไปด้วยทรัพยากรน้ำมันเหมือนกัน เลือกทางเดินอย่างไร ทำไมผลสุดท้าย ถึงออกมาได้แตกต่างกันถึงเพียงนี้ 
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ด้วยปริมาณน้ำมันดิบสำรองที่มากถึง 304,000 ล้านบาร์เรล ทำให้เวเนซุเอลา เป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลก 
ส่วนนอร์เวย์นั้น แม้จะมีปริมาณน้ำมันดิบสำรองอยู่ที่ 8,100 ล้านบาร์เรล ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศในกลุ่ม OPEC ก็อาจจะไม่ได้มากมายนัก 
แต่ถ้าไม่นับรัสเซียแล้ว นอร์เวย์ก็ถือว่าเป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำมัน มากที่สุดในทวีปยุโรปเลย 
ด้วยการมีทรัพยากรธรรมชาติอันแสนล้ำค่า ที่มากจนล้นเหลือขนาดนี้ ก็ทำให้ทั้ง 2 ประเทศต่างก็สร้างรายได้ จากการขายน้ำมันได้เป็นกอบเป็นกำ 
ซึ่งแต่ละประเทศต่างก็มีการตั้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อมาดูแลการขายน้ำมัน เหมือนกับที่บ้านเรามีบริษัท ปตท. 
โดยของเวเนซุเอลาก็คือบริษัท PDVSA ที่เกิดจากการยึดบริษัทน้ำมันต่างชาติ ที่ดำเนินธุรกิจในเวเนซุเอลา อย่าง Shell, Mobil Corporation และ Standard Oil มาเป็นของตัวเอง ในปี ค.ศ. 1976 
ส่วนของนอร์เวย์นั้น รัฐบาลได้ตั้งบริษัท Statoil ที่ตอนหลังจะเปลี่ยนชื่อเป็น Equinor และเข้าตลาดหุ้นในเวลาต่อมา ขึ้นมาดูแล 
โดยบริษัทแห่งนี้ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการขุดเจาะน้ำมัน จากบรรดาบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ เช่น Esso ที่มาทำธุรกิจในนอร์เวย์ ตามเงื่อนไขในสัมปทาน 
แต่อนิจจาที่ทรัพยากรอันมีค่า ไม่ได้นำพามาแต่ความมั่งคั่ง เพราะยังสามารถส่งผลเสียให้กับเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ ได้อีกด้วย
นั่นก็คือการทำให้ประเทศนั้น ๆ เกิด “โรคดัตช์” หรือ Dutch Disease..
คำว่า Dutch Disease ถูกพูดถึงครั้งแรกในปี ค.ศ. 1977 โดยนิตยสาร The Economist เพื่อใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศเนเธอร์แลนด์ในช่วงทศวรรษ 1960 ตามชื่อ
โดยเนเธอร์แลนด์ ค้นพบแหล่งก๊าซโกรนิงเงิน ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และหนึ่งในแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อปี ค.ศ. 1959 
ฟัง ๆ ดูแล้ว เหมือนเป็นข่าวดีต่อเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ เพราะตอนนี้จะมีทั้งแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ให้ใช้ และยังเป็นแหล่งสร้างรายได้มหาศาลเข้าประเทศด้วย
แต่ในอีกด้านหนึ่ง การที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ พึ่งพิงรายได้หลักมาจากการส่งออกก๊าซธรรมชาติมาก ๆ เข้า กลับส่งผลเสียอย่างร้ายแรงอยู่ 2 เรื่อง นั่นก็คือ 
1. ภาคอุตสาหกรรมการส่งออกอื่น ๆ ถูกละเลย เพราะรัฐบาลนำเงินไปทุ่มให้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อส่งออกก๊าซธรรมชาติให้ได้มากที่สุด 
2. เงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้ามา จากการส่งออกก๊าซธรรมชาติ จะทำให้ค่าเงินของเนเธอร์แลนด์ ณ ขณะนั้นอย่าง กิลเดอร์ แข็งค่าขึ้นมาก
จนทำให้ภาคการส่งออกโดยรวมของประเทศเนเธอร์แลนด์ ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ 
เพราะนอกจากสินค้าส่งออกของเนเธอร์แลนด์ จะดูแพงขึ้นในสายตาของประเทศอื่น ๆ แถมยังคุณภาพแย่กว่า เพราะไม่ได้รับการพัฒนา 
ทำให้ในตอนนั้น นักเศรษฐศาสตร์หลายคนก็กังวลว่า ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ก๊าซธรรมชาติของประเทศหมดไป หรือราคาลดลงอย่างรวดเร็ว 
ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็จะไม่มีแหล่งรายได้จากภาคอุตสาหกรรมส่งออกอื่น ๆ ที่ถูกทำลายไป และอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะสร้างกลับคืนมา
แล้ว โรคดัตช์ เกี่ยวกับ 2 ประเทศที่เราพูดมาอย่างไร ? 
ถ้าจะบอกว่าเวเนซุเอลา เป็นภาพฉายซ้ำของเนเธอร์แลนด์ ในช่วงทศวรรษ 1960 ก็คงไม่ผิดนัก แต่ต่างกันเล็กน้อยตรงที่ ผลลัพธ์ของประเทศเวเนซุเอลา แย่กว่านั้นหลายเท่า 
เพราะเงินจากการขายน้ำมันของบริษัท PDVSA นอกจากจะไม่ได้นำไปพัฒนาภาคอุตสาหกรรมส่งออกอื่น ๆ แล้ว เงินทุนเหล่านั้น ก็ไม่ได้นำไปพัฒนาภาคอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลาด้วยเช่นกัน 
ถ้าถามว่าเงินที่ได้จากการขายน้ำมันเหล่านั้นหายไปไหน ก็คงต้องไปทวงถามกับชาวเวเนซุเอลา ที่ตอนนั้นมีชีวิตอย่างสุขสบาย ภายใต้สวัสดิการต่าง ๆ ที่ประธานาธิบดี Hugo Chavez จัดให้อย่างอู้ฟู่
รวมไปถึงเหล่ารัฐวิสาหกิจอื่น ๆ อันแสนจะไร้ประสิทธิภาพ ที่ก็ได้เงินจากการขายน้ำมันของรัฐไปอุ้มเช่นเดียวกัน 
โดยตอนนั้นรัฐบาลเวเนซุเอลา แทบไม่ต้องกังวลเรื่องการเก็บภาษีเลย เพราะอย่างไรเสียก็มีบริษัท PDVSA ที่เป็นเหมือน ATM ให้พวกเขากดเงินมาเนรมิต โครงสร้างพื้นฐาน และรัฐสวัสดิการต่าง ๆ ให้ประชาชน
แต่ก็อย่างที่เราทราบกันดีว่า ราคาน้ำมันเป็นสิ่งที่ผันผวนสูงมาก แต่การจะริบสวัสดิการคืน เพราะรายได้จากการขายน้ำมันได้น้อยลง ก็คงกระทบความมั่นคงต่อสถานะเก้าอี้ ของประธานาธิบดี Hugo Chavez 
ทำให้เวลาไหนที่ราคาน้ำมันตกลง รัฐบาลเวเนซุเอลาก็ต้องกู้เงินเพิ่ม เพื่อรักษาให้สวัสดิการต่าง ๆ ของประชาชน ยังมีอยู่ต่อไป 
แต่ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่ประชาชนชาวเวเนซุเอลา จะสุขสบายภายใต้การนำของประธานาธิบดี Hugo Chavez ประมาณ 9 ปี หรือก็คือปี ค.ศ. 1990
รัฐบาลนอร์เวย์ที่มองการณ์ไกลว่า รายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินี้ มีความผันผวนขึ้นลงตามราคาโลก ทำให้การวางอนาคตเศรษฐกิจของประเทศ ไว้บนสิ่งที่ผันผวนแบบนี้ คงจะไม่เหมาะนัก 
ทางรัฐบาลจึงได้ตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของนอร์เวย์ขึ้นมา โดยเป็นการแบ่งรายได้จากส่วนแบ่งสัมปทาน, ภาษี และค่าธรรมเนียมจากน้ำมัน ไปลงทุนในสินทรัพย์การเงินต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย
โดยผลตอบแทนที่ได้จากกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาตินี้ ก็จะถูกนำไปใช้จ่ายเป็นสวัสดิการให้กับประชาชน รวมถึงช่วยสนับสนุนเป็นงบประมาณของภาครัฐอีกด้วย 
และตอนจบของเรื่องนี้ หลายคนก็ทราบกันดีว่า ราคาน้ำมันได้ตกลงอย่างรุนแรงในปี ค.ศ. 2014 จนทำให้รายได้ของรัฐบาลเวเนซุเอลาลดลงอย่างมาก 
แถมกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็มีหนี้ท่วมหัวแล้ว จนต้องพิมพ์เงินออกมาใช้หนี้ และนำไปสู่เงินเฟ้อหลักล้านเปอร์เซ็นต์ พร้อมกับกลายเป็นดินแดนอภิมหาเงินเฟ้อ ที่วันนี้ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้
ในขณะที่กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของนอร์เวย์ เดินหน้าสร้างความมั่งคั่งให้กับประชาชนชาวนอร์เวย์อยู่เรื่อย ๆ โดยในช่วง 27 ปีที่ผ่านมานี้ มูลค่าสินทรัพย์ในกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของนอร์เวย์ โตขึ้นมาถึง 8,485 เท่า
นอกจากนี้ ความหวังของเวเนซุเอลา ที่จะให้น้ำมันกลับมานำเศรษฐกิจอีกครั้งก็ริบหรี่ ด้วยอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลา ขาดการพัฒนามานาน
จนทำให้ในปี ค.ศ. 2023 ประเทศเวเนซุเอลา ที่มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองมากกว่านอร์เวย์ประมาณ 37 เท่า กลับโดนนอร์เวย์แซงหน้าในเรื่องการผลิตน้ำมัน ด้วยกำลังการผลิตน้ำมันของนอร์เวย์ที่มากกว่าเวเนซุเอลาถึง 2.45 เท่า
จากเรื่องทั้งหมดนี้เองจะเห็นได้ว่า แม้ทั้ง 2 ประเทศจะมีทรัพยากรน้ำมันมหาศาลเหมือนกัน 
แต่ด้วยการบริหารจัดการ และวิสัยทัศน์ของผู้นำที่แตกต่างกัน ก็ได้ทำให้เศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ แตกต่างกันลิบลับ
นอกจากนี้ เรื่องนี้ยังสอนตัวเราเอง ในเรื่องของการบริหารความมั่งคั่งของเราเองได้ด้วยว่า 
แม้เริ่มต้นจะมีสินทรัพย์มากแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าใช้จ่ายเกินตัวไปในเรื่องไม่เป็นเรื่อง และจมไม่ลงจนต้องกู้หนี้ยืมสิน แบบรัฐบาลเวเนซุเอลา สุดท้ายแล้วก็จะจบลงที่การมีหนี้ท่วมหัวให้ใช้  
แต่ถ้าเริ่มต้นเรามีมาก แต่ก็ยังนำสินทรัพย์ที่มี ไปต่อยอดสร้างความมั่งคั่งเพิ่มอีกเรื่อย ๆ แบบที่รัฐบาลนอร์เวย์ แบ่งรายได้จากน้ำมันไปลงทุน 
ความมั่งคั่งที่หาได้ก็จะไม่หมดไปได้ง่าย ๆ และมีความมั่งคั่ง เพียงพอให้ใช้ได้จนชั่วชีวิต..
#เศรษฐกิจ
#เศรษฐศาสตร์
#DutchDisease
References
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.