สรุป 6 วิธีที่ทำให้ สรรพากรรู้รายได้เรา แม้ยังไม่ได้ยื่นภาษี

สรุป 6 วิธีที่ทำให้ สรรพากรรู้รายได้เรา แม้ยังไม่ได้ยื่นภาษี

4 ก.พ. 2025
“ไม่ยื่นภาษีคงไม่เป็นไร กรมสรรพากรคงไม่รู้หรอก” เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีความคิดนี้ผ่านมาในหัว
แต่รู้หรือไม่ว่า ? การละเลยเรื่องภาษีทำให้หลายคนต้อง เผชิญกับการถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง พร้อมเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มที่รวมแล้วมากกว่าภาษีที่ต้องจ่ายจริงแต่แรก
เพราะในยุคนี้ทุกธุรกรรมการเงินล้วนเชื่อมโยงถึงกันหมด กรมสรรพากรเองก็มีช่องทางตรวจสอบรายได้ของเรา แม้ว่าเราจะไม่ได้รายงานก็ตาม
แล้วถ้าหากสงสัยว่ากรมสรรพากรรู้รายได้ของเราได้อย่างไร และรู้ได้จากช่องทางใดบ้าง ? 
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
วิธีที่กรมสรรพากรใช้ตรวจสอบรายได้ของเรา คือ
1. ข้อมูลจากการหักภาษี ณ ที่จ่าย
ฟรีแลนซ์ที่รับจ้างแล้วได้รับเงินจากบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเงินสด เงินโอน บริษัทจะหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ และส่งข้อมูลสำคัญอย่าง ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน รวมถึงจำนวนเงินที่จ่ายให้กับกรมสรรพากร
ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลของกรมสรรพากร ทำให้กรมสรรพากรรู้รายได้ของเรา แม้ว่าเราจะได้รับเงินนั้น เป็นเงินสดก็ตาม
2. ข้อมูลจากสถาบันการเงิน
สถาบันการเงินไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ธนาคารเท่านั้น แต่ยังรวมผู้ให้บริการ e-Wallet อย่าง mPAY, TrueMoney, Rabbit LINE Pay ด้วย 
โดยสถาบันการเงินเหล่านี้ มีหน้าที่รายงานธุรกรรมให้กรมสรรพากร เมื่อพบว่าในช่วงวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคมของปีนั้น
- มีจำนวนเงินเข้าทุกบัญชีรวมกัน ตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป โดยไม่จำกัดจำนวนเงิน หรือ
- มีเงินเข้าทุกบัญชีรวมกัน ตั้งแต่ 400 ครั้งขึ้นไป
และมียอดรวมตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป
3. ข้อมูลจากการร้องเรียน
นอกจากการตรวจสอบเองแล้ว กรมสรรพากรได้เปิดให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบกิจการที่อาจมีการเลี่ยงภาษี รวมถึงเสียภาษีไม่ถูกต้อง ด้วยการแจ้งเบาะแสได้ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรโดยตรง
4. ข้อมูลจากการดึงข้อมูลผ่านเว็บไซต์
กรมสรรพากรได้นำเทคโนโลยีดึงข้อมูลผ่านเว็บไซต์ หรือที่เรียกว่า Web Scraping มาใช้เพื่อตรวจสอบรายได้จากการขายของออนไลน์ ทั้งการขายแบบทั่วไป และการไลฟ์สด
โดยเทคโนโลยีนี้สามารถดึงข้อมูลราคา และจำนวนสินค้าที่ขายได้จากแพลตฟอร์ม E-commerce ยอดนิยมอย่าง Shopee และ Lazada ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ไม่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว แพลตฟอร์มออนไลน์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย เช่น Shopee, Lazada, LINE MAN และ Grab เอง ก็มีหน้าที่ส่งข้อมูลรายได้เป็นบัญชีพิเศษให้กรมสรรพากรโดยตรงอยู่แล้ว
5. ข้อมูลจากระบบ Big Data และ Data Analytics
กรมสรรพากรใช้ระบบ Big Data และ Data Analytics เพื่อช่วยคัดกรองผู้ประกอบการที่อาจหลีกเลี่ยงภาษี
โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เช่น การไฟฟ้าและการประปา เพื่อวิเคราะห์การใช้น้ำหรือไฟฟ้า เทียบกับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจในลักษณะเดียวกัน
และยังช่วยตรวจจับความผิดปกติได้ด้วย เช่น หากเห็นว่ามีรายได้จากการขายสินค้าจำนวนมาก แต่ไม่มีข้อมูลการยื่นภาษีเลย ก็อาจจะถูกเรียกมาตรวจสอบเพิ่มเติมได้
6. ข้อมูลจากการสุ่มตรวจ
เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรมีการสุ่มตรวจตามร้านค้าต่าง ๆ ทั้งแบบมีหน้าร้านและออนไลน์ 
นอกจากนี้ ยังมีการสุ่มตรวจสอบการโพสต์ข้อความและรูปภาพที่แสดงทรัพย์สินมีค่า อย่างเช่น รถยนต์ เงินสด หรือกระเป๋าแบรนด์เนม เพื่อประเมินความสอดคล้องกับรายได้ที่ยื่นภาษีด้วย
ถึงตรงนี้จะเห็นว่า ไม่ว่าเราจะยื่นภาษีหรือไม่ ข้อมูลรายได้ของเราก็ถูกบันทึกอยู่ในระบบของกรมสรรพากรเรียบร้อยแล้ว
ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ครอบคลุมแทบทุกด้าน ทำให้กรมสรรพากรสามารถตรวจสอบรายได้ของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับรายได้จากเงินเดือน รวมถึงข้อมูลจากโครงการของรัฐ ข้อมูลเหล่านี้ล้วนถูกบันทึกและรายงานเข้าสู่ระบบโดยตรงอยู่แล้ว
แต่หากเราเป็นฟรีแลนซ์ที่รับงานกับบริษัท กรมสรรพากรก็สามารถรู้ได้ผ่านการหักภาษี ณ ที่จ่าย
หรือหากเราขายของ รายได้จากการโอนเงินเข้าบัญชี รวมถึงข้อมูลจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็ทำให้กรมสรรพากรรู้รายได้ของเราได้เช่นกัน
และถึงแม้ว่าเราจะพยายามหลีกเลี่ยง ก็ยังมีโอกาสถูกตรวจพบได้จากการสุ่มตรวจของเจ้าหน้าที่ หรือการแจ้งเบาะแสจากคนอื่น ๆ อยู่ดี
ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำคือ การยื่นภาษีทุกปี เพราะหากเรายื่นภาษี แม้จะมีข้อผิดพลาด กรมสรรพากรจะสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้เพียง 2 ปี และในบางกรณีขยายเวลาได้สูงสุด 5 ปี
แต่หากเราไม่ยื่นภาษีเลย กรมสรรพากรจะมีสิทธิ์ตรวจสอบย้อนหลังได้นานถึง 10 ปี ซึ่งถือว่านานกว่าเดิมถึงเท่าตัว
และที่สำคัญการไม่ยื่นภาษีอาจนำมาซึ่งโทษหนัก ทั้งการจ่ายภาษีย้อนหลังเต็มจำนวน พร้อมเบี้ยปรับสูงสุด 2 เท่าของภาษีที่ค้างชำระ รวมถึงดอกเบี้ยเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน หรือเท่ากับ 18% ต่อปีด้วย
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะทำอย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรรู้รายได้ของเราอยู่แล้ว การยื่นภาษีให้ถูกต้องตั้งแต่แรก จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดนั่นเอง..
#วางแผนการเงิน
#หลักวางแผนการเงิน
#ภาษี
References
-หนังสือ รู้แค่นี้ประหยัดภาษีหลักล้าน (2565) โดย นวลวรรณ ถนอมดิษฐ์สกุล
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.