สรุปธุรกิจ Tesla ผู้ปฏิวัติการเดินทางของคนทั้งโลก ด้วยซอฟต์แวร์
20 ธ.ค. 2024
“Tesla ไม่ใช่บริษัทรถยนต์”
นี่คือคำพูดของคุณ Elon Musk ในงานแถลงผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2024 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
หลายคนอาจจะสงสัยว่าหาก Tesla ไม่ใช่บริษัทรถยนต์ อย่างที่เราทุกคนเห็น แล้ว Tesla กำลังทำธุรกิจอะไรอยู่กันแน่ ?
เรื่องนี้คุณ Elon Musk ได้ขยายความต่อมาว่า “ทุกคนควรมอง Tesla เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้าน Artificial Intelligence หรือ AI”
ซึ่งสอดคล้องกับแผนธุรกิจใหม่ของคุณ Elon Musk ที่วางแผนทดลองให้บริการ Robotaxi หรือแท็กซี่ไร้คนขับ ภายในปลายปี 2025
แท็กซี่ไร้คนขับ หลายคนคิดว่าคงมีแต่ในหนังไซไฟ แต่ในวันนี้ Tesla กำลังทำให้เกิดขึ้นจริงแล้ว ด้วยการต่อยอดซอฟต์แวร์ขับเคลื่อนอัตโนมัติของ Tesla เอง
และถ้าเราอยากเป็นเจ้าของบริษัทแห่งอนาคตอย่าง Tesla ก็สามารถลงทุนผ่าน DRx ชื่อ TSLA80X ในตลาดหุ้นไทยได้เลย
และหากสงสัยว่า ทำไม Tesla ถึงไม่ใช่ผู้ผลิตรถยนต์ธรรมดา ๆ ทั่วไป แต่เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี AI ?
แล้วเรื่องนี้สร้างความได้เปรียบให้กับ Tesla เหนือคู่แข่งรายอื่น ๆ มากแค่ไหน ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เทคโนโลยีการขับเคลื่อนอัตโนมัติของรถยนต์แบ่งออกได้เป็น 6 ระดับ
เริ่มตั้งแต่ระดับ 0 ซึ่งหมายถึง การขับขี่ที่มนุษย์ต้องควบคุมเองทั้งหมด
ไปจนถึงระดับ 5 ที่รถยนต์สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ตลอดเส้นทาง โดยที่มนุษย์ไม่ต้องขับเองเลย
ซึ่งการขับเคลื่อนอัตโนมัติของรถยนต์ ก็มีเทคโนโลยี AI คอยช่วยประมวลผลอยู่เบื้องหลังอีกทีหนึ่ง นั่นเอง
โดยซอฟต์แวร์ช่วยขับอัตโนมัติของ Tesla ที่เรียกว่า Full Self-Driving หรือ FSD จริง ๆ แล้วยังถูกจัดว่าเป็นเพียงเทคโนโลยีระดับ 2 เท่านั้น
หมายความว่า ซอฟต์แวร์นี้ จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ขับขี่ในบางเรื่องเท่านั้น เช่น
- การขับรถทางตรงอัตโนมัติบนทางหลวง
- การจอดรถอัตโนมัติ
- การจอดรถอัตโนมัติ
- การเรียกรถให้ขับออกมาหาเราเอง
- การเบรกรถในกรณีฉุกเฉิน
ทำให้ในบางสถานการณ์ ผู้ขับขี่ยังคงต้องคอยจับพวงมาลัย เพื่อบังคับรถยนต์อยู่
อย่างไรก็ตาม Tesla ก็ยังคงพัฒนาซอฟต์แวร์ FSD อย่างต่อเนื่อง และยังคอยอัปเดตซอฟต์แวร์ตัวนี้ ให้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
และล่าสุด ทาง Tesla ก็เริ่มมั่นใจในความสามารถของซอฟต์แวร์ที่ตัวเองพัฒนามาอย่างดีแล้ว เลยประกาศความพร้อมในการเข้าสู่ธุรกิจใหม่
นั่นคือธุรกิจ Robotaxi หรือแท็กซี่ไร้คนขับ ที่เราพูดถึงในช่วงต้นของบทความ
แน่นอนว่า การทำแท็กซี่ไร้คนขับ Tesla จะต้องเร่งพัฒนาซอฟต์แวร์ FSD จากเทคโนโลยีระดับ 2 ให้กลายเป็นเทคโนโลยีระดับ 5 ให้สำเร็จ
โดย Tesla มีความได้เปรียบเรื่องนี้ตรงที่ รถยนต์ของ Tesla เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก
ทำให้ Tesla มีข้อมูลจากผู้ใช้งานรถยนต์เยอะมาก ตั้งแต่การขับขี่, สภาพการจราจร และรวมไปถึงพื้นผิวถนนที่มีความแตกต่างกันไปในหลายพื้นที่
ข้อมูลตรงนี้เอง เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ที่ Tesla ครอบครองอยู่ เพราะ Tesla สามารถใช้ข้อมูลตรงนี้มาพัฒนาซอฟต์แวร์ FSD ของตัวเอง ให้ขับเคลื่อนรถยนต์ได้ดียิ่งขึ้น
แล้ว Robotaxi จะสร้างความได้เปรียบให้ Tesla เหนือคู่แข่งรายอื่นได้มากขนาดไหน ?
จุดเริ่มต้นของธุรกิจ Robotaxi มาจากคำถามที่ว่า
“รถยนต์จอดทิ้งไว้ ก็มีค่าเสื่อม จะดีกว่าไหมถ้าเราหารายได้จากรถยนต์ได้ ?”
ถ้า Tesla สามารถสร้างรถยนต์ที่มีเทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยตัวเองระดับ 5 ได้สำเร็จ ก็จะทำให้เจ้าของรถยนต์ สามารถสั่งให้รถยนต์ของตัวเองออกไปทำงานแทน
เช่น รับจ้างขับ Grab หรือ Uber ได้เลย โดยที่เจ้าของยังนอนอยู่บ้านเฉย ๆ
ล่าสุดคุณ Elon Musk ได้วางเป้าหมายไว้ว่าจะผลิตรถยนต์ Robotaxi ออกมาให้คนทั่วไปซื้อได้ภายในปี 2027 นี้ และกำหนดราคาไว้ไม่เกิน 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1 ล้านบาทต่อคัน เท่านั้น
หากคุณ Elon Musk ทำได้จริง ก็น่าจะมีผู้สนใจเข้ามาซื้อ และจับจองไม่น้อย เพราะนี่จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่รถยนต์จะกลายเป็นสินทรัพย์ ที่สร้างรายได้ให้กับเจ้าของแบบ Passive Income ได้
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจ Robotaxi ของ Tesla ก็ยังมีความเสี่ยง ในเรื่องของกฎระเบียบด้านการคมนาคมของแต่ละประเทศ เพราะเทคโนโลยีการขับเคลื่อนอัตโนมัติ ยังเป็นเรื่องใหม่มาก
แม้แต่ประเทศที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างจีน และสหรัฐอเมริกา ก็ยังคงกำหนดพื้นที่สำหรับ Robotaxi แค่เพียงบางส่วนเท่านั้น
ดังนั้นแล้ว แม้การใช้งานในช่วงแรกอาจจะยังอยู่ในวงจำกัด แต่สุดท้ายอนาคตก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้
และเมื่อถึงวันนั้น Tesla ก็น่าจะกลายเป็นผู้ปฏิวัติการเดินทางของคนทั้งโลก อย่างที่ใครหลายคนนึกไม่ถึงเลย..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ลงทุน
#DRx
#DRวันละตัว
References