อธิบาย วิธีคำนวณ 3 อัตราส่วน Free Cash Flow ไว้ช่วยหาหุ้นดี แบบนักลงทุนเก่ง ๆ

อธิบาย วิธีคำนวณ 3 อัตราส่วน Free Cash Flow ไว้ช่วยหาหุ้นดี แบบนักลงทุนเก่ง ๆ

22 ต.ค. 2024
อย่างที่เราคงพอทราบกันมาบ้างว่า กระแสเงินสดอิสระ หรือ Free Cash Flow คือหนึ่งในเครื่องมือ ที่นักลงทุนระดับโลกหลายคนใช้กัน อย่างเช่น คุณปู่ Warren Buffett เป็นต้น
เพราะเป็นสิ่งที่จะบอกเราว่า บริษัทที่เราสนใจจะลงทุนนั้น สร้างกระแสเงินสดได้ดีมากแค่ไหน ซึ่งกระแสเงินสดอิสระ สามารถคำนวณหาได้โดย
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน - รายจ่ายเพื่อการลงทุน
หากกระแสเงินสดอิสระ เป็นบวกอย่างสม่ำเสมอ ก็หมายความว่า บริษัทนั้นเป็นเครื่องจักรผลิตเงินสด
เงินสดเหลือ ๆ เหล่านี้ สามารถนำไปจ่ายคืนหนี้ ซื้อหุ้นคืน และจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้
แต่รู้หรือไม่ว่า กระแสเงินสดอิสระ ยังสามารถนำไปใช้ต่อยอด ในการวิเคราะห์การลงทุนของเรา ให้เฉียบคมมากขึ้นได้อีกด้วย 
ถ้าหากสงสัยว่า นักลงทุนเก่ง ๆ เอากระแสเงินสดอิสระ ไปต่อยอดในการวิเคราะห์การลงทุน ได้อย่างไรอีกบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ 
สำหรับตัวอย่างที่จะใช้ในเนื้อหาบทความต่อไปนี้ จะขอยกตัวอย่างผ่านบริษัท A เพื่อให้เราเข้าใจกันง่ายขึ้น
ในปี 2566 บริษัท A มี
- เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน 1,600 ล้านบาท
- รายจ่ายเพื่อการลงทุน 600 ล้านบาท
ทำให้บริษัท A จะมี กระแสเงินสดอิสระในปี 2566 เท่ากับ 1,000 ล้านบาท
และสำหรับอัตราส่วนจาก Free Cash Flow ที่เราจะไว้ใช้วิเคราะห์ต่อยอดต่อไป จะประกอบด้วย
1. Free Cash Flow Margin
หรือแปลเป็นไทยว่า “กระแสเงินสดอิสระต่อรายได้รวม” เรียกย่อ ๆ ว่า FCF Margin
ไว้ใช้ดูว่า จากรายได้รวมในแต่ละปีที่บริษัททำได้นั้น สุดท้ายแล้ว เหลือเป็นกระแสเงินสดจริง ๆ กลับเข้ามาเท่าไรกันแน่
คำนวณหาโดย
(กระแสเงินสดอิสระ / รายได้รวม) x 100
ถ้าค่า FCF Margin ยิ่งสูง ก็แปลว่า บริษัทมีประสิทธิภาพในการผลิตเงินสดสูง เพราะสามารถเปลี่ยนยอดขาย ให้กลายเป็นเงินสด สำหรับทำกิจกรรมทางการเงินต่าง ๆ เข้ามาในกิจการได้จำนวนมาก 
ตัวอย่างเช่น ในปี 2566 บริษัท A มีรายได้รวม 6,000 ล้านบาท และมีกระแสเงินสดอิสระ 1,000 ล้านบาท
ทำให้บริษัท A จะมี FCF Margin เท่ากับ 16.67%
หมายความว่า จากรายได้ในปี 2566 ที่บริษัท A ทำได้ 6,000 ล้านบาทนั้น สุดท้ายหลังจากหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดไปแล้ว
จะสามารถสร้างกระแสเงินสดอิสระกลับคืนมาได้เป็นเงิน 1,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16.67% นั่นเอง
2. Free Cash Flow Yield
เรียกย่อ ๆ ว่า FCF Yield ไว้ใช้วิเคราะห์ว่า ถ้าเราลงทุนในบริษัทนี้นั้น เราจะได้ผลตอบแทนที่กลับมาเป็นกระแสเงินสดจริง ๆ คิดเป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์เท่าไร
หาก FCF Yield สูง หมายความว่า ลงทุนในบริษัทนี้ไปแล้ว ได้รับผลตอบแทนกลับมาคุ้มค่ามาก และมีโอกาสที่จะคืนทุน ในรูปแบบของเงินสดจากการลงทุนได้เร็ว
คำนวณหาโดย
(กระแสเงินสดอิสระ / มูลค่าบริษัททั้งหมด) x 100
ตัวอย่างจากบริษัท A เช่นเดิม โดย
- ปัจจุบัน บริษัท A มีมูลค่าทั้งหมด 20,000 ล้านบาท
- และบริษัท A สามารถสร้างกระแสเงินสดอิสระได้ในปีล่าสุด คือปี 2566 ประมาณ 1,000 ล้านบาท
ทำให้ถ้าหากเราลงทุนในบริษัท A เราก็จะได้รับผลตอบแทนในรูปของ FCF Yield เท่ากับ 5% ต่อปี
หรือถ้ามองในมุมกลับกัน ก็จะหมายความว่า ถ้าหากเราลงทุนในบริษัท A เราก็จะใช้เวลาประมาณ 20 ปี จึงจะคืนทุน
แต่ถ้าเมื่อเวลาผ่านไป บริษัท A สามารถสร้างกระแสเงินสดอิสระได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกปี เวลาที่จะคืนทุนจากการลงทุนของเรา ก็จะยิ่งสั้นลงไปอีก
3. Enterprise Value to Free Cash Flow Ratio
เรียกย่อ ๆ ว่า EV/FCF ไว้ใช้วิเคราะห์ความถูกความแพงของบริษัท คล้ายกันกับ FCF Yield เลย
แต่ต่างกันตรงที่ EV/FCF จะเป็นการคำนวณโดยใช้มูลค่าสุทธิของกิจการทั้งหมด มาเทียบกับกระแสเงินสดอิสระแทน
หลักคิดนี้จะมองเสมือนว่า เรากำลังจะซื้อทั้งบริษัท ซึ่งเมื่อซื้อบริษัทมาแล้ว แน่นอนว่าก็ย่อมจะมีหนี้สินของบริษัทติดมาด้วย
เราจึงควรคำนวณรวมหนี้สินทั้งหมด และเงินสดที่เหลืออยู่ที่สามารถนำไปชำระหนี้สินได้ เพื่อให้ได้มูลค่าสุทธิของกิจการทั้งหมด
ซึ่งมูลค่าสุทธิของกิจการทั้งหมด หรือ Enterprise Value จะเรียกสั้น ๆ ว่า EV สามารถคำนวณหาได้โดย
มูลค่าบริษัท + หนี้สินรวม - เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
โดยบริษัท A มี
- มูลค่าบริษัทปัจจุบัน 20,000 ล้านบาท
- หนี้สินรวม 1,800 ล้านบาท
- เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 2,500 ล้านบาท
ทำให้บริษัท A จะมี Enterprise Value หรือ EV เท่ากับ 19,300 ล้านบาท..
ทีนี้พอเรารู้ EV ของบริษัทเรียบร้อยแล้ว เราก็จะสามารถคำนวณหา EV/FCF ได้แล้ว โดยนำ Enterprise Value มาหารด้วย กระแสเงินสดอิสระ
หากค่า EV/FCF ที่ได้ ไม่สูงมากนัก แสดงว่า บริษัทนี้ราคาไม่แพง เมื่อเราลงทุนในบริษัทนี้ไป ก็จะใช้เวลาในการคืนทุนไม่นาน
แต่หากว่า EV/FCF เกิดสูงมาก ก็อาจจะหมายความว่า การลงทุนในบริษัทนี้ อาจจะไม่คุ้มค่าก็ได้ เพราะใช้เวลาในการคืนทุนนานเกินไป
สำหรับตัวอย่างจากบริษัท A นั้น มีกระแสเงินสดอิสระเท่ากับ 1,000 ล้านบาท ทำให้เมื่อคำนวณออกมาแล้ว ก็จะมี EV/FCF ที่ 19.3 เท่า 
ซึ่งถ้าหากถามว่าค่าที่ได้นี้ หมายความว่าบริษัทถูกหรือแพงมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องนำอัตราส่วน EV/FCF ไปเทียบกับค่าในอดีตของบริษัท และกับคู่แข่ง หรือค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ควรดูแค่ว่า EV/FCF ที่คำนวณออกมาได้นั้น สูงหรือต่ำเท่านั้น แต่เราต้องมองคุณภาพในการเติบโตของบริษัทควบคู่ไปด้วย
เพราะถ้าเกิดบริษัทมีศักยภาพการเติบโตในอนาคตสูง สามารถสร้างกระแสเงินสดอิสระในอนาคตได้มากขึ้นแบบก้าวกระโดด
เวลาที่ใช้ในการคืนทุน ก็จะสั้นลงกว่าที่เราคำนวณหามาในตอนแรกมากนัก ทำให้ราคาที่เราซื้อทั้งบริษัท ที่ดูเหมือนจะแพงมากในวันนี้ แท้จริงแล้วก็กลับถูกมาก นั่นเอง
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่า เราน่าจะเข้าใจกันดีขึ้นบ้างแล้วว่า กระแสเงินสดอิสระ เครื่องมือที่ไว้ตรวจสอบ การเป็นเครื่องจักรผลิตเงินสดของบริษัท สามารถนำไปต่อยอด วิเคราะห์อะไรได้อีกบ้าง
ซึ่งขอนำมาสรุปอีกครั้งว่า มี 3 อัตราส่วนที่เราควรรู้ คือ
- FCF Margin ไว้ใช้ดูว่า สุดท้ายแล้ว จากรายได้ที่บริษัททำได้ เหลือเป็นกระแสเงินสดเข้ามาจริง ๆ เท่าไร
- FCF Yield ไว้ใช้ดูความถูกความแพงว่า ถ้าเราลงทุนในบริษัทนี้แล้ว เราจะได้ผลตอบแทนคิดเป็นกระแสเงินสดอิสระ ประมาณปีละกี่เปอร์เซ็นต์
- และสุดท้าย EV/FCF ไว้ใช้ดูว่า ถ้าเราลงทุนในบริษัทนี้ คือคิดแบบจะซื้อทั้งกิจการ จากกระแสเงินสดที่บริษัททำได้ เราจะใช้เวลาคืนทุนจริง ๆ กี่ปีกันแน่
ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้ คงจะเป็นประโยชน์ให้เราสามารถนำไปต่อยอด วิเคราะห์การลงทุนได้ดีขึ้น ไม่มากก็น้อย..
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#FreeCashFlow
References:
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.