ธุรกิจมีมูลค่าแค่ไหน รู้ได้ด้วยการทำ Discounted Cash Flow

ธุรกิจมีมูลค่าแค่ไหน รู้ได้ด้วยการทำ Discounted Cash Flow

23 พ.ค. 2024
“บริษัท A ทุ่มเงินลงทุนหมื่นล้านบาท เข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 30% จากบริษัท B”
ใครที่อยู่ในแวดวงธุรกิจ และการลงทุน น่าจะเคยเห็นข่าวพาดหัวแบบนี้ แต่เราเคยสงสัยกันไหมว่า นักธุรกิจ รวมถึงนักลงทุนหลายคน รู้ได้อย่างไรว่าธุรกิจที่พวกเขาต้องการซื้อ มีมูลค่าเท่าไร
การประเมินมูลค่าธุรกิจทำได้หลายวิธี แต่หนึ่งในวิธีที่เป็นที่นิยมสำหรับการวัดมูลค่าธุรกิจ คือการคิดลดกระแสเงินสด หรือ Discounted Cash Flow (DCF)
แล้วการทำ DCF คืออะไร ? ทำไมถึงเป็นวิธีประเมินมูลค่าธุรกิจยอดนิยม
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
การจะตอบคำถามให้ได้ว่าของสิ่งนี้มีมูลค่าเท่าไร เราก็คงต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับในอนาคต ว่าเราจะได้รับประโยชน์จากของสิ่งนี้มากน้อยแค่ไหน
การประเมินมูลค่าธุรกิจด้วยวิธี DCF ก็เช่นเดียวกัน เพราะแนวคิดหลักของการทำ DCF คือ การคาดการณ์กระแสเงินสดอิสระที่บริษัทคาดว่าจะทำได้ในอนาคต
พอเราได้กระแสเงินสดอิสระในอนาคตแล้ว เราก็นำกระแสเงินสดเหล่านั้นคิดลดกลับมาเป็นมูลค่าบริษัทในปัจจุบัน
ดังนั้นการทำ DCF ก็จะมี 2 ตัวแปรหลัก นั่นก็คือ กระแสเงินสดอิสระ และอัตราการคิดลด
เริ่มกันที่กระแสเงินสดอิสระกันก่อน
กระแสเงินสดอิสระสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ 
1. กระแสเงินสดอิสระที่เป็นของกิจการ
คือเงินสดที่เหลือจากการลงทุน โดยบริษัทสามารถตัดสินใจได้ว่าจะนำเงินส่วนนี้ไปจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ หรือจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้เป็นจำนวนเท่าไร
สามารถคำนวณได้จาก กระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน + (ดอกเบี้ยจ่าย * (1 - อัตราภาษีนิติบุคคล)) - รายจ่ายลงทุน
2. กระแสเงินสดอิสระที่เป็นของผู้ถือหุ้น
เป็นกระแสเงินสดที่บริษัทเหลือจากการลงทุน และการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ กระแสเงินสดประเภทนี้ บริษัทสามารถจ่ายให้ผู้ถือหุ้นได้อย่างอิสระ
สามารถคำนวณได้จาก กระแสเงินสดอิสระที่เป็นของกิจการ - (ดอกเบี้ยจ่าย * (1 - อัตราภาษีนิติบุคคล)) + เงินกู้ยืมสุทธิ
เราจะใช้กระแสเงินสดอิสระที่เป็นของผู้ถือหุ้นในการทำ DCF เมื่อเราต้องการหามูลค่าของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทเท่านั้น
แต่ถ้าเราอยากหามูลค่าของบริษัททั้งบริษัท เราก็ควรใช้กระแสเงินสดอิสระที่เป็นของกิจการในการทำ DCF
เมื่อเรารู้จักกระแสเงินสดอิสระกันแล้ว ตัวแปรที่สำคัญตัวต่อไปก็คือ อัตราการคิดลด ซึ่งทำหน้าที่ปรับกระแสเงินสดในอนาคต ให้มีมูลค่าเป็นปัจจุบันนั่นเอง
ส่วนใหญ่แล้วอัตราการคิดลด หรือ Discount Rate ที่ใช้คิดลดกระแสเงินสดของธุรกิจในอนาคต มักจะมาจากต้นทุนเงินทุนของแต่ละบริษัท
เราลองมาดูตัวอย่างการหามูลค่าบริษัทด้วยวิธีการทำ DCF กันดีกว่า
สมมติให้บริษัท ไก่ฟ้า จำกัด ต้องการซื้อกิจการบริษัท ไก่ดำ จำกัด ซึ่งเป็นคู่แข่งกัน ผู้บริหารของไก่ฟ้า จึงว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน ให้มาช่วยประเมินมูลค่าบริษัท ไก่ดำ จำกัด
โดยบริษัท ไก่ดำ จำกัด มีข้อมูลดังนี้
ปีที่ 1 มีกระแสเงินสดอิสระ 30 ล้านบาท
ปีที่ 2 มีกระแสเงินสดอิสระ 40 ล้านบาท
ปีที่ 3 มีกระแสเงินสดอิสระ 50 ล้านบาท
และปีที่ 4 เป็นต้นไป กระแสเงินสดจะเติบโตได้เฉลี่ยปีละ 3%
บริษัท ไก่ดำ จำกัด มีต้นทุนเงินทุนอยู่ที่ 8% 
ที่ปรึกษาทางการเงินสามารถคำนวณมูลค่าปัจจุบันของบริษัท ไก่ดำ จำกัด ได้ดังนี้
30 / (1 + 8%) ^ 1 = 27.8 ล้านบาท
40 / (1 + 8%) ^ 2 = 34.3 ล้านบาท 
50 / (1 + 8%) ^ 3 = 39.7 ล้านบาท
50 * (1 + 3%) / ((8% - 3%)(1 + 8%) ^ 4) = 757 ล้านบาท
เมื่อนำตัวเลขข้างต้นมารวมกัน จะได้มูลค่าบริษัท ไก่ดำ จำกัด ประมาณ 858.8 ล้านบาท
ทั้งนี้ก็ต้องบอกว่า ธุรกิจที่เราจะประเมินมูลค่าแบบ DCF ต้องเป็นธุรกิจที่สามารถคาดการณ์กระแสเงินสดอิสระได้ง่าย
เพราะจะช่วยให้นักลงทุน สามารถประเมินกระแสเงินสดอิสระได้แม่นยำมากขึ้น
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็คงจะเห็นได้ว่าการประเมินมูลค่าธุรกิจด้วย DCF มีความสำคัญต่อการตัดสินใจทางธุรกิจ และการลงทุนอย่างไร
นอกจากนี้ความรู้ด้านการทำ DCF ยังเป็นองค์ความรู้สำคัญที่หลายอาชีพในอุตสาหกรรมการเงิน ใช้ในการทำงานเป็นประจำ
ดังนั้นถ้าใครอยากทำงานสายการเงิน การศึกษาวิธีการประเมินมูลค่าแบบ DCF ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานอย่างแน่นอน..
References
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.