สรุปวิธีคำนวณ Free Cash Flow Yield ใช้หาหุ้นคุณภาพได้ แบบที่นักลงทุนระดับโลกใช้กัน
9 ก.ค. 2024
“ความสำเร็จของนักลงทุน คือการค้นหาธุรกิจคุณภาพสูงให้เจอ”
ซึ่งการวิเคราะห์คุณภาพบริษัท ส่วนใหญ่ก็จะเป็นวิธีการยอดฮิตอย่างเช่น SWOT Analysis หรือ 5 Forces Model
การวิเคราะห์แบบนี้ มักจะต้องใช้ระยะเวลาในการค้นคว้าหาข้อมูลอย่างมาก และต้องอาศัยความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างสูง
ทำให้นักลงทุนมือใหม่อาจถอดใจ และยอมแพ้กับการลงทุนไปได้ง่าย ๆ
แต่รู้หรือไม่ว่า มีเครื่องมือวิเคราะห์เชิงปริมาณแบบง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ที่สามารถบ่งบอกถึงคุณภาพกิจการได้เป็นอย่างดี
เครื่องมือนี้มีชื่อว่า “Free Cash Flow Yield”
ซึ่งเป็นวิธีที่นักลงทุนระดับโลกบางคนก็ใช้กันอยู่
หากสงสัยว่า Free Cash Flow Yield คืออะไร และมีประโยชน์ต่อนักลงทุนอย่างไร
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
การจะคำนวณหา Free Cash Flow Yield ซึ่งเป็นลายแทงสู่การเจอธุรกิจคุณภาพสูงนั้น มีตัวเลขอยู่ 2 ตัวที่เราจะต้องไปตามหา
1. หากระแสเงินสดอิสระ
ก่อนจะรู้ว่ากระแสเงินสดอิสระคืออะไร ก่อนอื่นเราต้องรู้จักกับ “เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน” และ “รายจ่ายเพื่อการลงทุน” ก่อน
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน หรือ Operating Cash Flow คือเงินสดสุทธิที่บริษัทได้รับจริง ๆ จากการประกอบธุรกิจ
รายจ่ายเพื่อการลงทุน หรือ Capital Expenditure คือค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนในธุรกิจ เช่น ซื้ออุปกรณ์ หรือสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อสร้างการเติบโตให้บริษัท
เมื่อเรารู้จักตัวแปรทั้ง 2 ตัวนี้แล้ว เราก็สามารถคำนวณหากระแสเงินสดอิสระต่อได้
โดย Free Cash Flow หรือกระแสเงินสดอิสระ เปรียบเสมือนเงินสดที่ไหลเข้ามาในบริษัทแบบฟรี ๆ เพราะเป็นเงินสดที่เหลืออยู่หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนไปหมดแล้ว
บริษัทสามารถนำกระแสเงินสดนี้ ไปจ่ายเป็นเงินปันผลให้กับนักลงทุน, ซื้อหุ้นคืน หรือจ่ายหนี้เงินกู้ก็ได้
ถ้าบริษัทสร้างกระแสเงินสดอิสระได้สูงอย่างสม่ำเสมอ หมายความว่า ธุรกิจของบริษัทแข็งแกร่งมาก และมีโอกาสน้อยที่จะเจ๊ง
ซึ่งกระแสเงินสดอิสระ สามารถหาได้จาก
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน - รายจ่ายเพื่อการลงทุน
ตัวอย่างเช่น บริษัท A มี
- เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน 800 ล้านบาท
- รายจ่ายเพื่อการลงทุน 100 ล้านบาท
ดังนั้นบริษัท A จะมีกระแสเงินสดอิสระ 700 ล้านบาท
2. หามูลค่าบริษัท หรือ Market Cap
อีกหนึ่งตัวแปร ที่เราต้องรู้ก่อนจะไปหา Free Cash Flow Yield คือ มูลค่าบริษัทในปัจจุบัน หรือ Market Capitalization ว่าอยู่ที่เท่าไร
เช่น บริษัท A มีหุ้นราคา 7 บาทต่อหุ้น และบริษัทมีจำนวนหุ้นในตลาดอยู่ 1,000 ล้านหุ้น ก็จะทำให้มูลค่าปัจจุบันของบริษัท A เท่ากับ 7,000 ล้านบาท
ตัวเลขนี้หาง่ายกว่า Free Cash Flow มาก เพราะเราสามารถเปิดดูได้ในเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ หรือเว็บไซต์ทางการเงินอื่น ๆ เช่น Yahoo Finance หรือ Morningstar ไม่ต้องคำนวณเอง
ทีนี้เราก็สามารถหา Free Cash Flow Yield ได้แล้ว
โดยนำ กระแสเงินสดอิสระ / มูลค่าบริษัทปัจจุบัน
อย่างบริษัท A ก็จะมี Free Cash Flow Yield เท่ากับ 10%
แล้วตัวเลข 10% นี้หมายความว่าอะไร ?
คำตอบคือ ถ้าเราซื้อหุ้นของบริษัท A ที่ตอนนี้มูลค่าบริษัทเท่ากับ 7,000 ล้านบาท เราจะได้รับกระแสเงินสดอิสระเข้ามา คิดเป็นผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น 10%
หรือคิดตามง่าย ๆ คือ ถ้าเราได้ Free Cash Flow Yield ปีละ 10% เราลงทุนแค่ 10 ปี ก็เปรียบเสมือนเราได้เงินลงทุนกลับคืนมาแล้ว
แต่ถ้าเกิดว่า ในแต่ละปีที่ผ่านไป บริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดอิสระได้มากขึ้น เราจะใช้เวลาไม่ถึง 10 ปี ก็จะได้เงินลงทุนตั้งต้นกลับคืนมา
แล้ว Free Cash Flow Yield ควรจะอยู่ที่ประมาณเท่าไร ?
นักลงทุนอย่างคุณ Terry Smith ผู้ที่ได้รับฉายาว่า Warren Buffett แห่งสหราชอาณาจักร จะมองหาบริษัทที่แข็งแกร่ง มี Free Cash Flow Yield อย่างน้อย 4% ขึ้นไป
โดยคุณ Smith มักจะเปรียบเทียบการลงทุนในหุ้นของบริษัท กับการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่ให้อัตราผลตอบแทนคงที่
เช่น ถ้าเราลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยปีละ 4% เราก็จะได้ผลตอบแทนปีละ 4% แบบนี้ไปตลอด ไม่มีเพิ่มขึ้น
ในขณะเดียวกัน ถ้าเราลงทุนในบริษัท ที่ปัจจุบันมี Free Cash Flow Yield เท่ากันที่ 4%
แต่ถ้าบริษัททำธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถสร้างกระแสเงินสดอิสระให้เพิ่มขึ้นได้เรื่อย ๆ
และทำให้ในอนาคต Free Cash Flow Yield ที่เราจะได้ ก็จะเพิ่มมากขึ้นกว่า 4% ไปเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับมูลค่าบริษัทตอนเราลงทุนนั่นเอง
อ่านมาถึงตรงนี้ก็เชื่อว่า เราน่าจะเข้าใจกันดีขึ้นแล้วใช่ไหมว่า Free Cash Flow Yield มีประโยชน์ต่อนักลงทุนอย่างไร
เพราะกระแสเงินสดอิสระคือกระแสเงินสดที่จ่ายเข้ามาในบริษัทจริง ๆ ซึ่งไม่เหมือนกับกำไรทางบัญชี ที่สามารถตกแต่งได้
ดังนั้น Free Cash Flow Yield จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนอัตราการทำกำไรของบริษัท เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าในปัจจุบัน ได้ชัดเจนมากกว่า นั่นเอง..
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#FreeCashFlowYield
References
-Tim Bennett Explains: What is free cash flow yield?
-Terry Smith and Free Cash Flow Yield: A MUST Know Concept for Every Investor