Yield to Maturity กับ Coupon Rate คืออะไร อันไหนคือ ผลตอบแทนของหุ้นกู้ ที่แท้จริง

Yield to Maturity กับ Coupon Rate คืออะไร อันไหนคือ ผลตอบแทนของหุ้นกู้ ที่แท้จริง

28 ส.ค. 2024
#ลงทุน #หุ้นกู้ #YTM
เมื่อเริ่มศึกษาการลงทุนหุ้นกู้ หลาย ๆ คนน่าจะพบกับความสับสนเมื่อเจอกับ 2 คำนี้ “Yield to Maturity” กับ “Coupon Rate”
เพราะทั้ง 2 คำนี้ต่างก็สามารถหมายถึงผลตอบแทน ที่จะได้รับจากหุ้นกู้ได้เหมือนกัน 
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเราไปดูรายละเอียดจริง ๆ แล้ว จะพบว่าทั้ง 2 คำนี้ มีความต่างกันค่อนข้างมากเลยทีเดียว 
และถ้าหากสงสัยว่า Yield to Maturity กับ Coupon Rate ต่างกันอย่างไร และอะไรคือตัววัดผลตอบแทนที่แท้จริงของหุ้นกู้กันแน่ ? 
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
เมื่อพูดถึงหุ้นกู้ สิ่งแรกที่หลาย ๆ คนดูกันก็คือ อัตราดอกเบี้ย ที่ผู้ออกหุ้นกู้ได้กำหนดไว้นั้น สูงมากแค่ไหน เพราะดอกเบี้ยที่สูง ก็แปลว่าหุ้นกู้นั้น จะจ่ายดอกเบี้ยให้กับเราได้มาก
ซึ่งอัตราดอกเบี้ย ที่ผู้ออกหุ้นกู้ได้กำหนดไว้ คือสิ่งที่เรียกว่าอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว หรือ “Coupon Rate” นั่นเอง 
โดย Coupon Rate นั้น สามารถเป็นได้ทั้งอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ หรืออัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว 
ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนี้เมื่อได้กำหนดไว้แล้ว ผู้ออกหุ้นกู้ก็มีหน้าที่ต้องจ่ายให้กับเจ้าหนี้อย่างเราตามนั้น ไปจนครบกำหนด
สำหรับดอกเบี้ยที่ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับนั้น จะคำนวณจากมูลค่าหน้าตั๋ว หรือที่รู้จักกันในชื่อ ราคาพาร์ ซึ่งปกติแล้วตราสารหนี้ในไทยมักจะตั้งไว้ที่ 1,000 บาท 
ยกตัวอย่างเช่น หุ้นกู้บริษัท XYZ มีราคาพาร์ 1,000 บาท อายุ 5 ปี มีอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี 
ก็จะได้ว่า ถ้าเราซื้อหุ้นกู้บริษัท XYZ 1 หน่วย จำนวน 1,000 บาท ในแต่ละปีเราจะได้ดอกเบี้ยเท่ากับ 4% x 1,000 = 40 บาท
แต่อย่างไรก็ตาม Coupon Rate นั้น ไม่ได้สะท้อนผลตอบแทนที่แท้จริงเสมอไป เพราะในความเป็นจริง ราคาหุ้นกู้ก็มีความผันผวน ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่ที่ราคาพาร์ 
โดยเฉพาะนักลงทุนในตลาดรอง ที่จะได้ซื้อหุ้นกู้ทั้งในราคาถูกและแพงกว่าราคาพาร์ แตกต่างกันไปตามความผันผวนของราคาในตลาด
เพราะถ้านักลงทุนในตลาดรอง ซื้อหุ้นกู้ถูกกว่าราคาพาร์ หรือที่เรียกว่า Discount ก็จะได้ผลตอบแทนมากกว่า Coupon Rate เพราะซื้อหุ้นกู้ในราคาถูกลง แต่ได้รับดอกเบี้ยในจำนวนเท่าเดิม 
เช่น เราเข้าซื้อหุ้นกู้บริษัท XYZ ที่ราคาลดลงเหลือ 900 บาท แต่เราก็ยังได้ดอกเบี้ย 40 บาทในทุก ๆ ปี 
ก็จะทำให้จริง ๆ แล้วเราได้ผลตอบแทน = (40 / 900) x 100 = 4.44% ต่อปี มากกว่า Coupon Rate ที่ 4% ต่อปี
ในทางกลับกัน ถ้าหากซื้อหุ้นกู้ในราคาแพงกว่าราคาพาร์ หรือที่เรียกว่า Premium ก็มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนน้อยกว่า Coupon Rate เพราะซื้อหุ้นกู้ในราคาแพงขึ้น แต่ได้รับดอกเบี้ย และเงินต้นคืนในจำนวนเท่าเดิม 
เช่น เราเข้าซื้อหุ้นกู้บริษัท XYZ ที่ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 1,100 บาท แต่เราก็ยังได้ดอกเบี้ย 40 บาทในทุก ๆ ปี 
ก็จะทำให้จริง ๆ แล้วเราได้ผลตอบแทน = (40 / 1,100) x 100 = 3.64% ต่อปี น้อยกว่า Coupon Rate ที่ 4% ต่อปี
จึงทำให้ถ้าเราดูแค่ Coupon Rate เราก็อาจจะประเมินผลตอบแทนของหุ้นกู้ออกมาคลาดเคลื่อนได้ เพราะไม่ได้มองผลตอบแทนจากราคาหุ้นกู้ในปัจจุบันนั่นเอง  
แล้วอะไรคือตัววัดผลตอบแทนที่แท้จริงของหุ้นกู้ ?
สิ่งนั้นก็คือ ผลตอบแทนถึงวันครบกำหนดอายุ หรือ “Yield to Maturity” 
โดย Yield to Maturity เป็นอัตราผลตอบแทนที่แสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนทั้งหมดที่นักลงทุนจะได้รับ ถ้าหากถือหุ้นกู้ไปจนหมดอายุ 
การคำนวณ Yield to Maturity นั้น จะใช้ ราคาหุ้นกู้ในปัจจุบัน, อายุของหุ้นกู้ที่เหลืออยู่ และกระแสเงินสดที่หุ้นกู้นั้นจะได้รับ อย่างเช่น ดอกเบี้ยที่จะได้รับ รวมไปถึงเงินต้นที่จะได้คืน ในตอนที่หุ้นกู้หมดอายุ 
ในเรื่องของสูตรคำนวณที่ค่อนข้างซับซ้อนนั้น ทางเราก็จะขอข้ามไปก่อน แต่ถ้าหากอยากรู้ว่าหุ้นกู้ตัวที่สนใจมี Yield to Maturity เท่าไร 
ก็สามารถคำนวณได้ผ่านเว็บไซต์ของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA ได้เลย 
ถึงตรงนี้เราจะเห็นได้ว่าดอกเบี้ยของหุ้นกู้ หรือ Coupon Rate นั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ในการคำนวณ Yield to Maturity 
นั่นจึงทำให้ Yield to Maturity นั้น เป็นการวัดผลตอบแทนที่ครอบคลุม และแม่นยำกว่า เพราะคำนึงถึงทั้งราคาหุ้นกู้ในปัจจุบัน, อายุของหุ้นกู้ และกระแสเงินสดทั้งหมด
นอกจากจะบอกผลตอบแทนที่แท้จริงให้เราได้รู้แล้ว Yield to Maturity ยังช่วยให้เราเปรียบเทียบผลตอบแทน ระหว่างการลงทุนในหุ้นกู้ที่แตกต่างกัน รวมไปถึงการลงทุนในสินทรัพย์อื่นด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ Yield to Maturity คืออัตราผลตอบแทนที่คำนวณโดยสมมติว่าเราจะถือหุ้นกู้ไปจนครบกำหนด 
ทำให้ถ้าเราขายหุ้นกู้ออกมาก่อนครบกำหนด ผลตอบแทนที่ได้รับก็จะไม่เท่ากับตัวเลข Yield to Maturity
จากทั้งหมดนี้เองจะเห็นได้ว่า แม้ทั้ง 2 คำนี้จะดูใกล้เคียงกันมาก ๆ ในตอนแรก แต่เมื่อเรามาลองดูจริง ๆ ก็จะพบว่า Coupon Rate และ Yield to Maturity นั้น แตกต่างกันค่อนข้างมาก
เพราะฉะนั้น เวลาจะศึกษาเรื่องการลงทุนนั้น เราจะต้องศึกษาให้ชัดเจน ว่าแต่ละคำนั้นมีความหมายที่แท้จริงเป็นอย่างไร 
เพื่อที่เราจะได้เข้าใจ และไม่สับสนกับเรื่องเหล่านี้ที่ดูเหมือนจะเล็กน้อย แต่กลับส่งผลต่อการลงทุนของเรามากแบบนี้ นั่นเอง..   
References 
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.