เรียนรู้ วิธีหลีกเลี่ยง บริษัทมีปัญหา กับ 5 เคสหุ้นดังของไทย

เรียนรู้ วิธีหลีกเลี่ยง บริษัทมีปัญหา กับ 5 เคสหุ้นดังของไทย

28 พ.ค. 2024
ไม่ว่านักลงทุนคนไหน ก็ล้วนหวังว่าเงินของตัวเองที่ลงทุนไป จะอยู่ในมือของเจ้าของ หรือผู้บริหาร ที่ตั้งใจทำให้ธุรกิจเติบโต ไปพร้อมกับสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้น
อย่างไรก็ตาม โลกความจริงนั้นช่างโหดร้าย เพราะไม่ใช่เจ้าของบริษัททุกคน ที่ต้องการจะรวยด้วยการทำธุรกิจ 
แต่เป็นการหลอกเอาเงินจากนักลงทุน ด้วยการใช้วิธีต่าง ๆ นานา เพื่อฉาบหน้าว่า ธุรกิจของตัวเองกำลังไปได้สวย ก่อนจะเปลี่ยนเป็นความซวย ให้กับผู้ถือหุ้นในตอนท้าย 
เพราะฉะนั้น การเรียนรู้วิธีการที่บริษัทเหล่านี้ทำ เพื่อหลอกล่อนักลงทุนอย่างเรา ๆ ไว้ ก็เป็นเรื่องที่ดีไม่ใช่น้อย เพื่อป้องกันไม่ให้ความมั่งคั่งของเรา ไปอยู่ในมือคนไม่ดี 
และถ้าหากสงสัย ว่าเราจะต้องทำอย่างไร ถึงจะหลีกเลี่ยง เหล่าผู้บริหารที่คิดไม่ซื่อเหล่านี้ ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
วิธีการที่บริษัทล่อลวงเม็ดเงินจากนักลงทุนนั้น มีอยู่มากมายหลายวิธี แต่ในวันนี้เราจะยกตัวอย่างมาด้วยกันอยู่ 5 รูปแบบ 
1. สร้างยอดขายปลอม 
กิจการจะน่าสนใจได้อย่างไร ถ้าหากรายได้ และกำไรไม่เติบโต ซึ่งวิธีการที่ทำให้ผลประกอบการโตได้อย่างรวดเร็วก็คือ “การสร้างยอดขายปลอม” อันทำได้หลากหลายวิธี 
ไม่ว่าจะเป็น การขายให้กับคู่ค้าที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง หรือการขายให้กับบริษัทในกลุ่มตัวเอง แต่ไม่ได้มีการส่งสินค้าไปจริง 
ซึ่งบริษัทที่มีชื่อว่า STARK นั้นใช้ทั้ง 2 วิธีที่กล่าวมาข้างต้น จนทำให้รายได้ของบริษัทในช่วงปี 2561 ถึง 2565 โตเฉลี่ยถึงปีละเกือบ 140% 
แต่ก็อย่างที่เราทราบกันดีว่า สุดท้ายแล้ว ตัวเลขสวยหรูทั้งหมดก็เป็นเรื่องหลอกลวง และมูลค่าของการตกแต่งบัญชีทั้งหมดนี้ก็มากถึง 25,000 ล้านบาท  
เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราควรจะเช็ก สำหรับบริษัทที่รายได้เติบโตดีเกินเหตุแบบนี้ก็คือ ตัวเลขรายได้ และกำไร สัมพันธ์กันกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหรือไม่ ? 
เพราะถ้าบริษัทขายสินค้าได้มากมายขนาดนั้นจริง ๆ ก็ควรจะมีเงินสดจากลูกค้าเข้ามาบ้าง เห็นได้จากในปี 2564 แม้รายได้ และกำไรสุทธิของ STARK จะเติบโตสูงมาก แต่เงินสดจากการดำเนินงาน กลับติดลบหลักพันล้านบาท
2. ใช้ช่องโหว่การบันทึกบัญชี
การบันทึกบัญชี เป็นเรื่องชวนปวดหัวที่เข้าใจยากสำหรับคนธรรมดาทั่วไปแบบเรา ซึ่งเหล่าผู้บริหารที่ไม่ซื่อสัตย์เอง ก็ทราบตรงจุดนี้ดี พวกเขาจึงใช้วิธีการนี้ ในการหลอกลวงนักลงทุนเช่นกัน 
เหมือนอย่างเช่น บริษัท ROYNET อดีตผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในไทย ซึ่งบันทึกบัญชีว่า เหล่าบัตรเติมเงินอินเทอร์เน็ต ที่ถูกส่งไปฝากขายยังร้านค้าต่าง ๆ ในไทย ถือว่าเป็นรายได้ของบริษัทเรียบร้อยแล้ว
ทั้งที่ถ้าร้านค้าเหล่านั้นขายไม่ได้ ทาง ROYNET ก็จะยังเรียกเก็บเงินจากร้านค้าเหล่านั้นไม่ได้
วิธีการบันทึกบัญชีแบบนี้ ส่งผลให้บริษัทมีผลประกอบการดีเกินจริง  
โดยวิธีการที่เราจะตรวจสอบ บริษัทที่ใช้วิธีการอันน่าสงสัยแบบนี้ก็คือ การเช็กตัวเลขวงจรเงินสด ว่ามีระยะเวลายาวขึ้นไหม ? 
เพราะถ้าหากวงจรเงินสดยาวขึ้น ทั้งที่รายได้เติบโต ก็แปลว่า ธุรกิจขายของได้ดีมาก แต่กลับใช้เวลานานขึ้นเรื่อย ๆ กว่าจะได้เงินกลับมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกัน 
เห็นได้จากงบการเงินของบริษัท ROYNET ที่มีวงจรเงินสดยาวขึ้นจากแค่ประมาณ 4 วันในปี 2543 เป็น 11 วันในปี 2544 
3. ซุกซ่อนหนี้ 
บริษัทที่มีหนี้เยอะมาก ๆ ย่อมจะทำให้บริษัทมีความเสี่ยงที่จะล้มละลายมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้นักลงทุนไม่ค่อยกล้าจะมาลงทุนด้วย 
เมื่อเป็นแบบนี้เหล่าผู้บริหารที่ไม่ซื่อสัตย์ จึงต้องหาทางซุกซ่อนหนี้ ด้วยการโยกหนี้สิน ออกไปบันทึกเป็นรายการอื่น ๆ เพื่อลดจำนวนหนี้ที่ต้องโชว์ในงบดุล  
ซึ่งทางบริษัท EARTH เอง ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีการซุกซ่อนหนี้เช่นเดียวกัน โดยในไตรมาส 1 ปี 2560 ทาง EARTH ได้รายงานว่า ตัวเองมีหนี้สินอยู่ประมาณ 25,000 ล้านบาท 
แต่จู่ ๆ ในขณะที่เข้าสู่ชั้นศาล หลังจากประสบปัญหาด้านการชำระหนี้ ทางบริษัทกลับแจ้งว่า มีหนี้สินเพิ่มขึ้นอีกกว่า 26,000 ล้านบาท ซึ่งอ้างว่าเกิดจากคู่ค้ายื่นฟ้อง 
แม้เราจะไม่รู้รายละเอียด ว่าทาง EARTH ซุกซ่อนหนี้อย่างไร หรือหนี้ก้อนนี้มีจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่จะทำให้เราหลีกเลี่ยงสถานการณ์แบบนี้ได้ คือการเช็กอัตราส่วนสภาพคล่องของบริษัท หรือ Current Ratio
ซึ่งก็คือการนำสินทรัพย์หมุนเวียน มาหารด้วยหนี้สินหมุนเวียน ถ้าหากมีค่าน้อยกว่า 1 เท่า แปลว่าบริษัทนั้น น่าจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องอยู่แล้ว เหมือนเช่นบริษัท EARTH ที่ก่อนหน้าจะล้มละลาย ก็มี Current Ratio สลับกันอยู่ที่ต่ำกว่า 1 และปริ่ม ๆ 1 อยู่ตลอด    
4. ยักยอกเงินด้วยธุรกรรมต่าง ๆ 
การทำธุรกรรมที่ดูปกติของบริษัท หลาย ๆ ครั้งไม่มีใครรู้ว่า ธุรกรรมนี้เป็นเพียงการฉาบหน้า การยักยอกเงินของผู้บริหารเท่านั้น
อย่างเช่น การจ่ายเงินซื้อสินทรัพย์ แต่แพงเกินเหตุ, จ่ายเงินซื้อสินค้าที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง หรือปล่อยกู้ให้บริษัท และบุคคลที่เกี่ยวข้อง แล้วสุดท้ายก็ตัดเป็นหนี้สูญ      
ซึ่งวิธีการข้างต้นที่ว่ามา ก็คือวิธีการที่บริษัท SECC ธุรกิจโชว์รูมรถหรู ใช้เพื่อบังหน้าการยักยอกเงินออกจากบริษัท จนสร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท 
ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เราดูได้ว่า ผู้บริหารตั้งใจใช้บริษัทเป็นตู้ ATM สำหรับกดเงินออกมาใช้หรือไม่นั้นก็คือ ตัวเลขอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ หรือ ROA ที่นำกำไรสุทธิ มาหารด้วยสินทรัพย์รวมของบริษัท 
อันจะบอกว่า สินทรัพย์ที่บริษัทมีอยู่ทั้งหมดนั้น สามารถนำไปใช้สร้างกำไรให้กับบริษัทได้มากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าหากผู้บริหารตั้งใจทำธุรกิจจริง ก็จะสามารถใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
เว้นเสียแต่ว่าผู้บริหารจะไม่ได้ตั้งใจทำธุรกิจจริง หรือที่แย่กว่าก็คือ สินทรัพย์เหล่านั้น ไม่ได้มีตัวตนจริงอยู่แต่แรก เหมือนกับ SECC ที่ในช่วง 4 ปีก่อนความจะแตก บริษัทก็มีตัวเลข ROA ลดลงเรื่อย ๆ มาโดยตลอด 
5. ตีราคาสินทรัพย์สูงเกินจริง 
ผู้บริหารบางคนก็ตั้งใจที่จะปั่นราคาสินทรัพย์ให้สูง ๆ เพื่อให้ฐานะทางการเงินของบริษัท ดีกว่าความเป็นจริง
โดยเป้าหมายของสินทรัพย์ ที่จะปั่นมูลค่าให้สูงขึ้นได้แบบเนียน ๆ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็น เหล่าสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน อย่างเช่น ลิขสิทธิ์, เครื่องหมายการค้า หรือซอฟต์แวร์ เป็นต้น 
นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ หรือแม้แต่การเข้าซื้อบริษัทอื่น ที่ต้องอาศัยการประเมินราคาอีกด้วย 
เหมือนอย่างเช่น บริษัท POLAR ที่มีการซื้อสินทรัพย์เข้ามาในบริษัทจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นที่ดินผืนใหญ่ในจังหวัดพังงา ที่รวมกันแล้วมีมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท หรือการเข้าซื้อบริษัทอื่นด้วยราคาสูงถึง 308 ล้านบาท
แต่ในภายหลังก็พบว่า ที่ดินผืนใหญ่เหล่านั้น ก็ไม่ได้เอามาใช้ประโยชน์อะไร ส่วนราคาของบริษัทที่ซื้อเข้ามานั้น ก็สูงจากมูลค่าซึ่งที่ปรึกษาทางการเงินได้ประเมินไว้เกือบ 7 เท่า
ทำให้เมื่อความแตก บริษัทก็รับผลขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์เหล่านี้ ไปถึง 1,044 ล้านบาท โดยการขาดทุนกว่า 70% มาจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ อย่างที่ดินรอการพัฒนา  
สิ่งที่เราควรจะสังเกต ว่าบริษัทน่าจะกำลังเล่นกับตัวเลขสินทรัพย์ก็คือ อัตราส่วนการหมุนเวียนสินทรัพย์ หรือ Total Asset Turnover ซึ่งเป็นตัวเลขที่บอกว่า สินทรัพย์ของบริษัท สร้างรายได้กลับเข้ามาให้บริษัทได้กี่เท่า  
ซึ่งบริษัท POLAR เอง ก็มีตัวเลขนี้อยู่ใกล้ 0 แทบจะตลอดเวลา นั่นแปลว่า ที่ดินและบริษัทราคาแพงหูฉี่ ที่ทางบริษัทซื้อเข้ามา ไม่ได้ช่วยสร้างรายได้ให้บริษัทเลยแม้แต่น้อย 
สรุปแล้ว วิธีที่เราจะดูว่า บริษัทของเรานั้น เสี่ยงที่จะล้มละลายหรือไม่ ในเบื้องต้นนั้น ก็ไม่ได้ถึงขนาดต้องไปอ่านหมายเหตุประกอบงบการเงิน หรือเข้าใจภาษาบัญชียาก ๆ 
เพราะเพียงแค่เราดูตัวเลขเหล่านี้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ ในเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งได้แก่ 
- กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน 
- วงจรเงินสด 
- อัตราส่วนสภาพคล่อง หรือ Current Ratio 
- อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ หรือ ROA 
- อัตราส่วนการหมุนเวียนสินทรัพย์
เราก็จะพอมองเห็นแล้วว่า บริษัทไหนดูไม่น่าไว้ใจที่จะเข้าไปลงทุนด้วย 
เพื่อรักษาเงินต้นของเราให้อยู่รอดปลอดภัย และนำเงินของเรา ไปอยู่ในมือของบริษัทที่ถูกต้อง และบริหารด้วยคนที่มีธรรมาภิบาล.. 
References 
-​เว็บไซต์ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.