สร้างวินัย ให้มีเงินเหลือเก็บได้ง่าย ๆ ด้วย กฎ 1% กับ 1 วัน

สร้างวินัย ให้มีเงินเหลือเก็บได้ง่าย ๆ ด้วย กฎ 1% กับ 1 วัน

3 ก.พ. 2025
1% เป็นตัวเลขเล็กน้อยที่หลายคนมองข้าม แต่เคยได้ยินไหมว่าการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ถ้าหากเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ได้ 
เช่นเดียวกันกับ “กฎ 1% กับ 1 วัน” ที่สามารถเป็นหลักยึดในใจ มาช่วยเราบริหารจัดการเงินให้ดี และมีเงินเก็บมากขึ้นได้ หากใช้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ท่ามกลางการโฆษณาต่าง ๆ ในปัจจุบันที่มีพัฒนาการล้ำหน้าขึ้น จนทำให้เส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่จำเป็น และสิ่งที่อยากได้ ค่อย ๆ พร่าเลือนลง
จนหลายครั้งกว่าจะรู้ตัว เราก็เหลือเงินเก็บน้อยนิด หลังเสียเงินไปมากมายกับคำว่า “ของมันต้องมี”
แล้วเราจะเอา กฎ 1% กับ 1 วัน ไปใช้กับการจัดการเงินของตัวเองได้อย่างไร ? 
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
หลักของ กฎ 1% กับ 1 วัน นั้นก็คือ การที่เราจะไม่ซื้อของซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 1% ของรายได้ทั้งปีในทันที แต่จะต้องกลับมานอนคิดให้ครบ 1 วันก่อน ว่าเรายังอยากได้ของชิ้นนั้นหรือไม่ และซื้อมาแล้วจะได้ใช้ประโยชน์หรือเปล่า 
ยกตัวอย่างเช่น 
ถ้าหากเรามีเงินเดือน 20,000 บาท หรือก็คือทั้งปีมีรายได้เท่ากับ 240,000 บาทต่อปี 
ก็แปลว่าถ้าเราจะซื้อสิ่งของที่ราคาเกิน 2,400 บาท เราจะต้องมานั่งคิดอย่างน้อย 1 วัน ว่าเรายังอยากได้ของสิ่งนั้นอยู่หรือไม่ 
กฎ 1% กับ 1 วันนั้น แม้จะมีวิธีใช้ที่เรียบง่าย แต่ก็ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ในการจัดการกับสิ่งที่เรียกว่า “Impulse Buying” ซึ่งเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของคำว่า ของมันต้องมี 
โดยหลายคนน่าจะเคยมีสิ่งของในห้อง ที่นับตั้งแต่ซื้อมาก็ไม่เคยได้ไปแตะต้องมันอีกเลย หรือบางทีก็เก็บไว้นานเสียจนลืมว่าเราเคยมีสิ่งของชิ้นนี้ด้วย
แต่ถ้าหากถามว่าตอนนั้นเราไปซื้อมาทำไม คำตอบที่ได้ก็คงคล้าย ๆ กัน นั่นก็คือ ซื้อเพราะตอนนั้นมีโปรโมชัน ที่คอยกระตุ้นให้เรารีบตัดสินใจซื้อ
จนสุดท้ายสิ่งของเหล่านั้นก็กลายเป็นการเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ เพราะซื้อสิ่งของมาแล้วก็ไม่ได้ใช้
ซึ่งการที่เรามีหลักยึดเป็นตัวเลขชัดเจนว่า ที่ราคานี้เราจะต้องกลับมานั่งคิดนอนคิดก่อนจะตัดสินใจซื้อสิ่งของชิ้นนั้นไป 
ก็จะทำให้เราชะลอการตัดสินใจของตัวเองให้ช้าลง เพื่อให้เราได้คิดกับตัวเองว่า สิ่งของชิ้นนั้นคือสิ่งที่เราจำเป็นต้องมีจริง ๆ หรือเราแค่อยากได้ เพราะมันราคาถูกเท่านั้น 
นอกจากนี้ แม้สิ่งของชิ้นนั้นสุดท้ายแล้วจะเป็นสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ ถึงอย่างนั้นการได้กลับมานั่งคิดทบทวนก่อน เราก็อาจจะเจอกับของที่ถูกกว่า แต่ใช้แทนกันได้ จนทำให้เราประหยัดเงินได้เหมือนกัน 
อย่างไรก็ตาม 1% ของแต่ละระดับรายได้นั้น ย่อมไม่เท่ากันอยู่ เพราะสำหรับคนรายได้สูงแล้ว เลข 1% ของเราจะทำให้ราคาสำหรับของที่ต้องระวังก่อนซื้อค่อนข้างสูง 
เช่น คนที่มีเงินเดือน 50,000 บาท หรือก็คือทั้งปีมีรายได้เท่ากับ 600,000 บาทต่อปี ก็แปลว่า ระดับราคาของสิ่งของที่จะต้องรอ 1 วันก่อนจะตัดสินใจซื้อ ก็คือตั้งแต่ 6,000 บาทขึ้นไป 
ด้วยระดับราคาที่สูงขนาดนี้ ก็อาจจะทำให้การใช้กฎ 1% กับ 1 วัน อาจไม่ได้ประสิทธิภาพมากนัก เพราะคงจะไม่ได้ซื้อของราคาแพงขนาดนั้นบ่อยนัก จนทำให้ไม่ค่อยได้ใช้กฎ 1% กับ 1 วัน ในการควบคุมการใช้จ่าย
ตรงนี้เราก็อาจจะปรับลดตัวเลขของกฎ 1% ลง เพื่อให้ระดับราคาที่ต้องระวังก่อนซื้อของต่ำลง ก็ได้เช่นเดียวกัน
โดยถ้าหากลดตัวเลขจาก 1% เป็น 0.5% สำหรับคนที่มีเงินเดือน 50,000 บาท ก็แปลว่าระดับราคาที่ต้องระวังก่อนซื้อ จะลดลงจาก 6,000 บาท มาเป็น 3,000 บาท
จากตรงนี้เองจะเห็นได้ว่า กฎ 1% กับ 1 วัน ก็เป็นหลักการเรียบง่าย ที่สามารถช่วยสร้างนิสัยทางการเงินที่ดีให้กับเราอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยการมีตัวเลขในใจเป็นหลักยึด ไม่ให้เราหลงไปตามกระแส และโปรโมชันของห้างร้านต่าง ๆ จนเราไม่เหลือเงินเก็บเลย 
ถึงอย่างนั้น การมีหลักยึดในใจก็ต้องมาคู่กับความจริงจัง ในการทำตามกฎให้ได้อย่างต่อเนื่องของตัวเราเองด้วยเช่นกัน 
เพราะทุก ๆ วันที่เราสามารถข่มใจตัวเอง ไม่ให้ใช้เงินไปกับสิ่งของฟุ่มเฟือยได้ ก็เหมือนกับเราเข้าใกล้อิสรภาพทางการเงินไปอีก 1 ก้าว เช่นเดียวกัน
#วางแผนการเงิน
#หลักวางแผนการเงิน
#เก็บเงิน 
References 
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.